โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

ข่าวทั่วไป Tuesday February 12, 2013 10:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--โรงพยาบาลรามคำแหง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทย โดยเฉพาะในขณะนี้พบว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นสาเหตุ ที่ทำให้ มีจำนวนคนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองจากการประสบอุบัติเหตุ หัวใจคนเราเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานหนักที่สุดอวัยวะหนึ่ง หัวใจมีการเต้น การบีบตัวตั้งแต่แรกเกิดจนวินาทีสุดท้ายที่เราหมดลมหายใจ ดังนั้นหัวใจจึง ต้องมีหลอดเลือดซึ่งทำหน้าที่นำเลือดจากหลอดเลือดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย สารอาหาร พลังงาน และ ออกซิเจนไปเลี้ยง กล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อให้ กล้าม เนื้อหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ ส่วนต่างๆของร่างกายได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้ามี ปัญหาเกิดขึ้นกับหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจ ไม่ว่า จะเป็นการตีบหรือการอุดตันของหลอดเลือด ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกหล่อเลี้ยง โดยหลอดเลือดนั้นขาดเลือดหรือตายไป ทำให้กล้ามเนื้อ หัวใจบีบ ตัวได้ไม่ดี ผลที่ตามมาคือหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยง อวัยวะต่างๆได้เพียงพอ และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ สาเหตุ เกิดจากผนังหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว (atherosclerosis)* เนื่องจากมีไขมันเกาะอยู่ภายในผนังหลอดเลือด เรียกว่า "ตะกรันท่อหลอดเลือด (artherosclerotic plaque)" ซึ่งค่อยๆ พอกหนาตัวขึ้นทีละน้อย ทำให้ช่องทางเดินของเลือดตีบแคบลง เลือดไปเลี้ยงหัวใจ (อันประกอบด้วยกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออื่นๆ) ได้น้อยลง อาการ ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการผิดปกติ จนกระทั่งเส้นเลือดแดงตีบมากขึ้น จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงจะเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก เรียกว่า Angina Pectoris โดยจะมีอาการรู้สึกเหมือนถูกบีบรัดแน่นอึดอัดที่บริเวณหน้าอกตรงกลาง อาจร้าวไปไหล่ซ้ายและแขนซ้าย บางรายอาจร้าวขึ้นไปที่คอ อาการจะมีมากขึ้นเวลาออกแรงหรือทำงานหนักและนั่งพักก็จะดีขึ้น โดยอาการดั่งกล่าวอาจเป็นๆ หายๆ และความรุนแรงจะมากขึ้น หากมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบมากขึ้น และบางกรณีที่เกิดมีการอุดตันของเส้นเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน จะแสดงอาการเจ็บหน้าอกฉับพลันทันที มีอาการกระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น บางรายอาจมีการเหนื่อยหอบจากภาวะหัวใจวายร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน ปัจจัยเสี่ยง 1. เพศ - อัตราการเกิดโรค พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า - อัตราการเสียชีวิต พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 5 เท่า 2. ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบก่อนวัยอันควร (ผู้ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี) จะมีความเสี่ยงการเกิดโรคสูง 3. ความดันโลหิตสูง พบว่า - ผู้ที่อายุน้อยกว่า 50 ปี ความดันโลหิตตัวล่างที่สูงจะมีผลต่ออัตรา เสี่ยงมากที่สุด - ผู้ที่อายุ 50 — 59 ปี ความดันโลหิตทั้งตัวบนตัวล่าง และ Pulse Pressure (ค่าความแตกต่างระหว่างความดันตัวบนและตัวล่าง) ที่ สูงขึ้น มีผลต่ออัตราเสี่ยงของการเกิดโรค - ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ค่า Pulse Pressure มีผลต่ออัตราเสี่ยงมากที่ สุด 4. การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยสำคัญ พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง จะเพิ่มอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย 3 เท่าในผู้ชาย และ 6 เท่าในผู้หญิง เทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 5. ภาวะไขมันในเลือดสูง พบว่าค่าไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูง รวมถึงค่า HLD ต่ำ มีผลต่ออัตราเสี่ยงการเกิดโรคสูง 6. เบาหวาน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบตัน โดยเฉพาะผู้หญิง 7. ภาวะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน พบการเกิดโรคนี้สูงขึ้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน 8. โรคอ้วน พบว่าคนอ้วนที่ค่า Body Mass Index 40 จะมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ 2 -7 เท่าในผู้ชาย และ 1.9 เท่าในผู้หญิง การรักษา ทั้งนี้และทั้งนั้นการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจะเหมาะสมกับผู้ป่วยรายใดก็คงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาและความต้องการของผู้ป่วยด้วย การรักษาอาจแบ่งง่ายๆเป็นการใช้ยา การผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (เรียกว่าผ่าตัด "บายพาส") และใช้ลูกโป่งเพื่อขยายหลอดเลือดที่ตีบ สุดท้ายนี้คงต้องควบคุมปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้หลอดเลือดตีบได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น การงดสูบบุหรี่ การลดน้ำหนัก และการควบคุมอาหาร การลดไขมันในเลือด และการควบคุมเบาหวานให้ดีด้วย ข้อมูลสุขภาพโดย รพ.รามคำแหง 0-2743-9999 www.ram-hosp.co.th www.facebook / ramhospital

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ