กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 900 ล้านบาทของ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว และความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจยางธรรมชาติ ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางแปรรูปไว้ได้ งบดุลและโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งจะทำให้บริษัทสามารถรับมือกับความผันผวนในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกได้
บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีเป็นหนึ่งในผู้นำในการแปรรูปและจำหน่ายยางธรรมชาติในตลาดโลก โดย ณ เดือนธันวาคม 2555 บริษัทมีโรงงานแปรรูป 20 แห่งในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและอีก 2 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย บริษัทมีกำลังการผลิตยางแปรรูปทั้งสิ้น 1.1 ล้านตันต่อปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดยางธรรมชาติทั่วโลกอยู่ที่ 8.9% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนาน ทำให้ผู้บริหารสามารถบริหารกิจการของบริษัทผ่านวงจรธุรกิจทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลงโดยยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมียอดจำหน่ายยางแปรรูปทั้งสิ้น 721,730 ตัน ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 82% ให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ผลิตยางล้อเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่ายอดขายของบริษัทจะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมยางล้อ แต่บริษัทก็มีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลายและกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่และลูกค้าเดิม บริษัทยังขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มผู้ผลิตยางล้อขนาดกลางและขนาดเล็กด้วย บริษัทมียอดส่งออกคิดเป็น 83% ของปริมาณขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 โดยมีลูกค้าหลักคือประเทศจีนซึ่งคิดเป็น 48% ของปริมาณยอดส่งออกทั้งหมด
ปัจจุบันผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลกประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผลผลิตโดยรวมจากทั้ง 3 ประเทศคิดเป็น 67.9% ของผลผลิตทั่วโลกที่มีปริมาณ 8.38 ล้านตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ด้วยผลผลิตรวมทั้งสิ้น 2.65 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (2.35 ล้านตัน) และประเทศมาเลเซีย (0.69 ล้านตัน) ในแง่ของการบริโภค ความต้องการยางธรรมชาติทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจาก 8.54 ล้านตันในปี 2545 มาอยู่ที่ 10.94 ล้านตันในปี 2554 โดยประเทศจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่สุดคิดเป็นหนึ่งในสามของการบริโภคทั้งหมด ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 การบริโภคยางธรรมชาติทั่วโลกอยู่ที่ 8.1 ล้านตัน ลดลง 1.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของยอดผลิตรถยนต์และการลดลงของความต้องการยางล้อใหม่เพื่อมาทดแทนยางล้อเก่า อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลางการบริโภคยางธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยการเติบโตจะมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นำโดย จีนและอินเดีย ซึ่งความต้องการยางธรรมชาติจะเติบโตไปพร้อมกับความต้องการยางล้อ การฟื้นตัวของการผลิตรถยนต์ทั่วโลกและปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้ความต้องการยางล้อและยางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น
อุตสาหกรรมยางแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนวัตถุดิบสูงถึง 95%-98% ของต้นทุนรวม ผู้ประกอบการจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติเป็นอย่างมากซึ่งส่งผลทำให้กำไรและกระแสเงินสดมีแนวโน้มแปรปรวน เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว บริษัทจึงใช้กลยุทธ์การซื้อขายแบบ Back-to-Back และเน้นการเพิ่มปริมาณขายเพื่อชดเชยกับอัตรากำไรที่ลดลงในช่วงที่สภาพตลาดยากลำบาก บริษัทจะติดต่อผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกรโดยตรง เพื่อจะได้มีข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับภาวะอุปสงค์และอุปทานของตลาดยางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านราคาในช่วงที่ราคายางมีความผันผวนในระดับสูงไปได้ดังที่ปรากฏในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 จนถึง 9 เดือนแรกของปี 2555
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 อ่อนแอเนื่องจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติดังกล่าว แม้ว่าปริมาณขายของบริษัททรงตัวที่ระดับ 721,730 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 แต่กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ปรับลดลง 62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเหลือเพียง 743 ล้านบาท ราคายางธรรมชาติในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ปรับตัวลดลง 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปพร้อม ๆ กับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน การแทรกแซงราคายางโดยรัฐบาลไทย ส่งผลให้ต้นทุนยางพาราลดลงน้อยกว่าการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา (ไม่รวมการกลับรายการของการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ) ลดลงมาอยู่ที่ 0.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เปรียบเทียบกับ 2.16% ในปี 2554 ทั้งนี้ บริษัทมีความพร้อมในการรับมือกับวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรม เนื่องจากบริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแรงซึ่งเกิดจากความสำเร็จในการเพิ่มทุนจำนวนมากในปี 2554 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนก็ปรับตัวดีขึ้นจาก 69.2% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 50.0% ในปี 2554 และมาอยู่ที่ 42.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ณ เดือนกันยายน 2555 ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ 13,399 ล้านบาท ลดลงจาก 18,034 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานลดลงหลังจากที่ราคายางปรับลดลง
บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (STA)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
STA14DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
STA16DA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2561 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable