บอร์ดกระจายเสียง/กสทช. แถลงผลการประชุมวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday February 12, 2013 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--สำนักงาน กสทช. พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) แถลงข่าว ผลการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ว่า วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2556) ที่ประชุม กสท. มีมติในเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1. ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบต่อรายงานผลการพิจารณาให้ความเห็นต่อกรณีแนวทางการใช้มาตรการทางกฎหมายกับบริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด ของคณะอนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ดังนี้ (1) มีหนังสือแจ้งให้กรมประชาสัมพันธ์แก้ไขการใช้งานคลื่นความถี่ฯ โดยให้ดำเนินการให้บริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด หรือเอกชนรายอื่นยุติการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวโดยทันที (2) ให้กรมประชาสัมพันธ์ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และระยะเวลาการแจ้งรายละเอียดการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ และเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยชี้แจงรายละเอียดการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ และเหตุแห่งความจำเป็นในการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุ 2504-2512, 2512-2520 และ 2520-2524 MHz ต่อ กสท. เพื่อพิจารณาต่อไป (3) ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งศาลเรื่องค่าตอบแทนการใช้ความถี่วิทยุ และค่าปรับที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเริ่มจาก สมัยกรมไปรษณีย์โทรเลขได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2504-2512, 2512-2520 และ 2520-2524 MHz ให้แก่กรมประชาสัมพันธ์เพื่อใช้ในการให้บริการวิทยุโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก โดยกรมประชาสัมพันธ์ได้อนุญาตให้บริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด เข้าร่วมและดำเนินโครงการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ประเภทบอกรับสมาชิก โดยบริษัทฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุให้แก่กรมไปรษณีย์โทรเลข ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทฯ ได้มีการชำระค่าตอบแทนให้กรมไปรษณีย์โทรเลขเพียงบางส่วน ซึ่งกรมกรมไปรษณีย์โทรเลขก็ได้มีหนังสือแจ้งให้ทางบริษัทฯ ชำระค่าตอบแทนที่ค้างชำระให้ครบถ้วน แต่บริษัทฯ ได้นำคดีฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งให้ชำระค่าตอบแทนดังกล่าว จนที่สุดศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.138/2555 ระหว่างบริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ฟ้องคดี สำนักงาน กสทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และเลขาธิการ กสทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 สรุปสาระสำคัญได้ว่า ผู้ฟ้องคดี (บริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์)) มีฐานะเป็นผู้ใช้คลื่นความถี่วิทยุ จึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุตามมาตรา 11 ทวิ แห่งพ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ลงวันที่ 29 มกราคม 2539 อีกทั้งการดำเนินการของผู้ฟ้องคดีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าตอบแทนการใช้คลื่นความถี่ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุตามกฎหมายและประกาศของกระทรวงคมนาคม ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจะต้องจ่ายค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 (สำนักงาน กสทช. ,เลขาธิการ กสทช.) และการที่เลขาธิการ กสทช. มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทก 0312/8504 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 และหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทก 0312/801 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 ในส่วนที่เรียกให้บริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุต่อวันตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุฯ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และบริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์)มีหน้าที่ที่ต้องชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มตามกฎหมาย 2. ที่ประชุม กสท. มีมติอนุมัติให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงเพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราวสำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติ เรื่อง NBTC/ITU Seminar and Workshop on Digital Radio Technologies ในวันที่ 2 มีนาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 9.00—17.00 น. ณ อาคารสำนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ถ. พระราม 9 โดยใช้ย่านความถี่ VHF Band III ช่องความถี่ 12 (223-230 MHz) ออกอากาศด้วยช่องความถี่ 12B (225.648 MHz) และ 12C (227.360 MHz) ทั้งนี้ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติ เรื่อง NBTC/ITU Seminar and Workshop on Digital Radio Technologies จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2556 โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. ITU และ CRA (Commercial Radio Australia) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดทำ Roadmap การดำเนินการกระบวนการเริ่มรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ให้แก่บุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง โดยจะมีผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิกอาเซียน พนักงานและลูกจ้างสำนักงาน กสทช. รวมถึงผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียง ผู้ผลิตรถยนต์ 3. ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติเพื่อกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์เกี่ยวกับการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา ดังนี้ 3.1 แนวปฏิบัติเพื่อการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโททัศน์เกี่ยวกับการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา ดังนี้ 3.1.1 กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้มีการลงโทษทางอาญาว่าผู้รับใบอนุญาตกระทำความผิดจากการแพร่ภาพกระจายเสียงรายการ หรือเนื้อหาที่ผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ย่อมเป็นผลให้ผู้รับใบอนุญาตรายดังกล่าวขาดคุณสมบัติเป็นผู้รับใบอนุญาต 3.1.2 การใช้มาตรการทางปกครองในการมีคำสั่งทางปกครอง หรือปรับ หรือพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต (1) กรณีที่หน่วยงานรัฐมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุมโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าได้การทำการเปรียบเทียบปรับ และผู้กระทำความผิดได้ยินยอมชำระค่าปรับตามที่หน่วยงานดังกล่าวเปรียบเทียบแล้ว หรือ (2) ได้มีการดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาเป็นที่ยุติว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหรืออาหารนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณาตามกฎมาย ทั้ง (1) และ (2) กสท. จะมีหนังสือแจ้ง หรือคำสั่งห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตออกอากาศหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้นๆ โดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนก็จะใช้มาตรการกำหนดค่าปรับทางปกครองให้ผู้รับใบอนุญาตชำระ และพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป หากยังมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อไป (3) กรณีที่หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้น ได้มีการเปรียบเทียบปรับแต่ยังไม่เป็นที่ยุติ หรือ (4) มีการฟ้องคดีต่อศาลและได้มีการประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว ทั้งกรณี (3) และ (4) ยังไม่ถือเป็นที่ยุติว่าการกระทำของเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้นผิดกฎหมาย ซึ่ง กสท. อาจมีมาตรการแจ้งเตือนให้ระงับการออกอากาศหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้นไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่ยุติ 3.2 กรณีที่คณะกรรมการอาหารและยา แจ้งผลการพิจารณาว่ามีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ที่แพร่ภาพกระจายเสียงรายการที่เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาหารและยา เห็นควรมอบหมายสำนักงาน กสทช. นำหลักการตามข้อ 3.1 มาปรับใช้ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 3.3 เห็นควรมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. แจ้งเวียนให้ผู้รับใบอนุญาตทราบถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแพร่ภาพกระจายเสียงผลิตภัณฑ์อาหารและยาตามกฎหมายอาหารและยา ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317 โทรสาร : 0-2290-5241

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ