กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--สสส.
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ เผยตลาดนัดศิลปวัฒนธรรมและเวทีสาธารณะชุมชน ครั้งที่ 4 ตอน “อัตลักษณ์ของชาวไทยเบิ้ง” หนุนการละเล่นพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน ความเชื่อ ภูมิปัญญาพื้นบ้านสานสัมพันธ์ชุมชน สร้างเอกลักษณ์ให้คนไทยเบิ้ง เกิดพื้นที่สร้างสรรค์นำไปสู่การมีสุขภาวะของชุมชนให้ยั่งยืนผ่านการภาคภูมิใจในสิ่งที่มี วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง
โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การจัดตลาดนัดศิลปวัฒนธรรมและเวทีสาธารณะชุมชน ครั้งที่ 4 ตอน “อัตลักษณ์ของชาวไทยเบิ้ง” เป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการได้เอาสิ่งที่เรียนรู้มาแลกเปลี่ยนกันเอาของดีของชุมชนทั้งการละเล่นพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน ความเชื่อ ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้ฝึกมาอวด มาแสดงผลงานในรูปแบบนิทรรศการ การสาธิตและการแสดง และจะมีการเสวนาพูดจาภาษาไทยเบิ้ง “เรื่องอัตลักษณ์ของชาวไทยเบิ้ง” เป็นที่มาของการ เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ที่คนในชุมชน (คน 3 วัย วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และผ้สูงอายุ) มาทำกิจกรรมร่วมกันโดยใช้เรื่องราวของภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณีเรื่องราวการละเล่นพื้นบ้านของชุมชนเป็นเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะของชุมชนอย่างยั่งยืน
“ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนทั้ง 3 วัยที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้นจะเกิดขึ้นครอบคลุมทั้งทางกาย คือ ทำให้ร่างกายเข็งแรง (แค่ขยับเท่ากับออกกำลังกาย), ด้านจิต ทำให้จิตใจเบิกบาน แจ่มใส งดงาม, ด้านปัญญา ทำให้เห็นคุณค่าของภูมิปัญญา และนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างความสุขให้คนในชุมชน และด้านสังคม ที่ทำให้คนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกันทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความร่วมไม้ร่วมมือ” ผู้จัดการแผนงานฯ กล่าว
ด้านนายประทีป อ่อนสลุง ผู้รับผิดชอบโครงการการจัดการเรียนรู้บนฐานชุมชน ตำบลโคกสลุง จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า การจัดตลาดนัดศิลปวัฒนธรรมและเวทีสาธารณะชุมชน ครั้งที่ 4 ตอน “อัตลักษณ์ของชาวไทยเบิ้ง” นี้เป็นการจัดกิจกรรมครั้งสุดท้ายที่มีการรวมกิจกรรมทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาเข้าด้วยกัน มีการฉายหนังสั้นไทยเบิ้ง —ละมูล พูนหลำ ตำนานเพลงพื้นบ้าน —เคว้งคว้างกลางสายน้ำ และ —บ้านฉัน จากกลุ่มปลาว่ายทวนน้ำ ที่ลงไปคลุกคลีอยู่ในพื้นที่เพื่อนำเริ่งตริง ชีวิต จริงที่เกิดขึ้นทำเป็นหนังให้คนในพื้นร่วมเล่นร่วมแสดงเพื่อสื่อสารและสะท้อนภาพความเป็นอยู่มาเป็นหนังสั้นและฉายกลับคืนให้ชุมชน, นอกจากนี้ยังมีฐานเรียนรู้ภูมิปัญญา ทำตุ๊กกะโต่ง, ทำพวงมะโหด, ทำจิ้งหันลูกยาง, ทำลูกยอด, ทำว่าว, พริกตะเกลือ, ทำดอกไม้, ทำขนมเบื้อง, ทำดอกกุหลาบจากใบเตย มีการสาธิตการบูนไข่, สาธิตการบูนตะไกร, เรื่องความเชื่อเหนือธรรมชาติและประเพณีการเกิดมีการสาธิตการอยู่ไฟ, สาธิตการบูนไข่, สาธิตการบูนตะไกร, สาธิตการอยู่ไฟ, สาธิตการต่อเรือจำลอง, สำหรับเปิดสำรับอาหารการกินถิ่นไทยเบิ้งมีการทำแกงบอน, แกงขี้เหล็ก, คั่วหมูหน่อไม้ส้ม, ต้มไก่เครื่องดำ, ลาบปลา/ผักพื้นบ้าน, ข้าวโปงย่าง, โขลกกระดักงา ทั้งยังมีตลาดขายผักขายหมี่ ที่จะมีตลาดนัดขายของพื้นบ้าน เช่น ขนมพื้นบ้าน ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้านขายในราคาพิเศษเพื่อให้ผู้ที่ได้มาร่วมงานชิมและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านไปในตัวด้วย
“สำหรับในเรื่องการพูดจาภาษาไทยเบิ้ง นั้นในงานมีการพูดคุยเรื่อง วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทยเบิ้ง (อัตลักษณ์) ทั้งยังมีการขับขานบทกวี มองชีวิตสองด้าน “จะดีได้ต้องใฝ่ฝึก” โดยกวีศรีชาวไร่ อาจารย์มงคล บุญเจริญ เพื่อขับขานสร้างสุขให้กับผู้ที่มีร่วมงาน จากนั้นจะมีการแสดงรำโทนพื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง, การแสดงกลองยาวประยุกต์, การแสดงพื้นบ้าน “เพลงระบำบ้านไร่”, การขับร้องเพลงลูกทุ่ง โดยคุณน้ำตาล น้ำเพ็ชร รางวัลพระราชทานพิฆเนศทองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปี 2553
การขับร้องเพลงไทยสากล โดยคุณแนน มาริษา รางวัลพระราชทานขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารปี 2553 การแสดงของชาวไทยยวนบ้านสวนดอกไม้ อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ชุดฟ้อนปีใหม่เมือ และฟ้อนสาวไหม, การแสดงของชาวกะเหรี่ยงอ.สังขละ จ.กาญจนบุรี อย่างการรำตงไฟ, รำตงอะเย้ย, การแสดงของแสดงของชาวอาใย ต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เป็นการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านอาใยศิลป์, รำประกอบเพลงพื้นบ้าน,เพลงอาใยร้องโต้ตอบ ชาย — หญิง, เพลงแคนน้ำเต้า (โพลย), รำเคาะกะลา และจะปิดท้ายด้วยการแสดงของชาวไทยเบิ้งโคกสลุง ซึ่งเป็นการแสดงละครวิถีชีวิตไทยเบิ้งโคกสลุงด้วย” นายประทีป อ่อนสลุง กล่าว
กิจกรรมทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ซึ่งงานนี้มีนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ปีพุทธศักราช 2536 เป็นประธานในการเปิดงาน ผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมสามารถ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 080-006-6787 หรือที่ www.artculture4health1.com