ซีพีเอฟย้ำความสำคัญสิ่งแวดล้อม เดินหน้าตรวจสอบซัพพลายเชน ดึงผู้ผลิตวัตถุดิบร่วมเส้นทางสีเขียว

ข่าวทั่วไป Tuesday February 12, 2013 16:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ซีพีเอฟ นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ให้ความสำคัญกับ Green Supply Chain หรือ ห่วงโซ่การผลิตสีเขียวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่สร้างผลกระทบต่อสังคม ชุมชน โดยตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่คัดสรรวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งเป็นต้นน้ำของกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย นอกจากจะต้องได้วัตถุดิบคุณภาพสูงมีความสะอาดปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้แล้ว ยังต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หรืออย่างน้อยคู่ค้าหรือผู้ผลิตวัตถุดิบต้องได้รับการรับรองหรือกำกับดูแลจากภาครัฐในการยืนยันแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูปในมือผู้บริโภค ครอบคลุมธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือ Feed Farm และ Food “ที่ผ่านมาบริษัทจะมีการตรวจสอบซัพพลายเออร์ที่ได้มาตรฐาน เช่น ผู้ผลิตซอสปรุงรส หรือ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ซึ่งก้าวหน้าไปถึงการมอบรางวัล Supplier CEO Awards กันแล้ว” นายวุฒิชัยกล่าวและว่า ตัวอย่างการดำเนินงานภายใต้แนวคิดธุรกิจสีเขียวในส่วนของ Feed นั้น บริษัทได้ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการพัฒนาร่วมกันระหว่างผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบกับบริษัท อาทิ การรับซื้อวัตถุดิบปลาป่นจากโรงงานผู้ผลิตปลาป่น ต้องเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ดีอันจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีคุณภาพสูงส่งมอบสู่เกษตรกรและผู้บริโภคต่อไป การตรวจสอบลงไปถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตเช่นนี้ นอกจากจะเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้าง Green Supply Chain ตามแนวทางธุรกิจสีเขียวแล้ว ยังจะพัฒนาไปสู่ Code of Conduct ของกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปตามแผนที่วางไว้ โดยบริษัทกำลังพยายามอย่างเต็มที่ที่จะวางระบบความยั่งยืนนี้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะไม่เพียงเป็นกรอบปฏิบัติของบริษัทเท่านั้น แต่จะผลักดันให้ซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดมุ่งเน้นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อป้องกันผลกระทบต่างๆ และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ขณะที่ในด้านฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซีพีเอฟได้ดำเนินโครงการ Green Farm จากนวัตกรรมสู่ฟาร์มสุกรรักษ์โลก ช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โครงการเลี้ยงกุ้งระบบปิดแบบน้ำหมุนเวียน ประหยัดการใช้พื้นที่ แต่ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น และ การเลี้ยงกุ้งด้วยระบบโปรไบโอติกส์ที่ปลอดภัย ไม่พึ่งพิงสารเคมี ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้งและยังได้ถ่ายทอดนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้สู่เกษตรกรและสังคมด้วย “กลยุทธ์ทั้งหมดนี้ไม่เพียงตอบโจทย์การก้าวไปสู่ครัวของโลกในอนาคต หากยังต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (สเตกโฮลเดอร์) ทั้งหมด เพราะสิ่งที่ต้องการไม่ใช่การทำซีเอสอาร์เพียงลำพัง แต่ต้องการการมีส่วนร่วมของสเตกโฮลเดอร์ทุกฝ่าย รวมถึงเกษตรกร, เอ็นจีโอ และภาครัฐด้วย” นายวุฒิชัยกล่าวทิ้งท้าย ทั้งนี้ ซีพีเอฟ วางกรอบสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะเวลา 5 ปี คือ ระหว่างปี 2556-2560 ด้วยแนวทาง 3 ด้านคือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่ ซึ่งจะเริ่มต้นจากภายในองค์กรสู่การขยายผลไปยังสังคมและสาธารณะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ