อินเทลลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับเนคเทค เพื่อให้นักวิจัยในประเทศได้ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday November 24, 2004 08:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
คาดว่าเทคโนโลยีนี้จะส่งผลดีต่อการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์และเภสัช
บริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด แถลงข่าวการลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง “การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีคลัสเตอร์คอมพิวติ้งในการวิจัยสาขาวิทยาการและวิศวกรรมเชิงคอมพิวเตอร์ (CSE) ในประเทศไทย” ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่วิจัยและพัฒนาในสาขาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ เนคเทคจะแสดงให้เห็นประโยชน์ของการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง และ ส่งเสริมให้เกิดการใช้งานเครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ของศูนย์ฯ ในกลุ่มนักวิจัยสาขา CSE ในประเทศไทย โดยจัดให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูลระหว่างนักวิจัย ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีทางการคำนวณ ซึ่งบริษัทอินเทล จะหาแนวทางสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของเนคเทคด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การถ่าย ทอดความรู้และเทคโนโลยี และการให้สิทธิในการใช้งานซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยบริษัทอินเทล
จากการดำเนินโครงการวิจัยต่างๆ เนคเทคตระหนักว่าการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาวิจัยต่างๆ เช่น การวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และ ทางวิศวกรรม การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ส่งผลให้มีความต้องการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ซึ่งมีราคาสูงมาก ทำให้การใช้งานจำกัดอยู่เฉพาะในหน่วยวิจัยชั้นสูงในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ นวัตกรรมที่ล้ำหน้าของอินเทลได้ช่วยนำเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงมาสู่การใช้งานที่กว้างขวางขึ้น
คุณเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “อินเทลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับเนคเทค และหวังว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทย ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของภูมิภาค การวิจัยชั้นสูงในด้านต่างๆ เช่น การจำลองสภาวะอากาศ การจำลองการชนกันของรถยนต์ แผนที่จีโนมของมนุษย์ และ การจำลองระเบิดนิวเคลียร์ ล้วนแต่จำเป็นต้องใช้เครื่อง
คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง เป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาปัญหาที่ท้าทายเหล่านี้ คลัสเตอร์คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงระบบแรกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของสถาปัตยกรรมของอินเทล และในวันนี้ กว่าสิบปีให้หลัง บริษัทอินเทล ยังเป็นผู้นำในการสร้างองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง บริษัทอินเทล ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้พัฒนาระบบ และผู้ให้บริการ เพื่อสร้างโซลูชั่นที่ดีที่สุด”
เทคโนโลยีหลักสำหรับการคำนวณสมรรถนะสูงคือ คลัสเตอร์คอมพิวติ้ง และกริดคอมพิวติ้ง คลัสเตอร์คอมพิวติ้งนำเทคโนโลยีที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมาใช้ในการคำนวณสรรถนะสูง ทำให้มีต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ยังสามารถขยายระบบเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต กริดคอมพิวติ้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ โดยทำให้หลายองค์กรซึ่งแม้จะมีที่ตั้งห่างกัน สามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกันได้ ทำให้เกิดโครงข่ายแบบบูรณาการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ แหล่งข้อมูล และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน
เนคเทคตระหนักถึงประโยชน์ดังกล่าว จึงได้ตัดสินใจสร้างเครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ ที่ประกอบด้วยเครื่องเซิร์ฟเวอร์สำหรับการคำนวณจำนวน 32 เครื่อง ใช้โพรเซสเซอร์ไอเทเนียม ทู จำนวน 64 ตัว และมีหน่วยความจำรวม 128 GB จากการทดสอบเบื้องต้นสามารถประมาณการว่าเครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์นี้มีความเร็วในการประมวลผล 200 GFlops นั่นคือ เครื่องสามารถทำการคำนวณได้ถึง 2 แสนล้านคำสั่งต่อวินาที
เครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์นี้นับเป็นเครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้โพรเซสเซอร์ ไอเทเนียม ทู เครื่องแรกในประเทศไทย และจะนำไปใช้ในโครงการวิจัยสาขา CSE ซึ่งดำเนินการโดยเนคเทค และ โดยนักวิจัยภายนอก
ในระยะแรกเครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์นี้จะใช้งานเฉพาะ 2 โครงการคือ โครงการคัดกรองยาด้วยคอมพิวเตอร์ และโครงการไบโออินฟอร์มาติกส์ โครงการคัดกรองยามีจุดประสงค์เพื่อหาสารออกฤทธิ์จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และจากยาที่อยู่ในทะเบียนยา ที่น่าจะมีผลในการรักษาโรคที่เป็นภัยคุกคามของโลก เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ส และโรคไข้หวัดนก เป็นต้น ส่วนโครงการไบโออินฟอร์มาติกส์จะศึกษาข้อมูลด้านพันธุกรรม เพื่อหา Single Nucleotide Polymorphisms หรือ สนิปส์ (SNPs) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า “phamacogenomics” เป้าหมายของศาสตร์นี้คือ การใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรมเพื่อการวินิจฉัยโรค ช่วยในการทำนายความเสี่ยงการเกิดโรคในแต่ละบุคคล และ ทำให้แพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม เช่น การกำหนดชนิด และปริมาณยา ตามลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วย การรักษาโรคในลักษณะนี้ ช่วยลดความเสี่ยงจากการรักษา เช่น การแพ้ยา การให้ยามากหรือน้อยเกินไป นอกจากนี้ยังสนิปส์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์หาหลักฐานในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เนคเทคคาดว่าโครงการทั้งสองจะมีผลการวิจัยที่เป็นประโยชน์ได้ภายในเวลาประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นเครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์จะถูกใช้งานในโครงการอื่นๆ ด้วยต่อไป
ภายใต้กรอบความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้ อินเทล จะแสวงหาแนวทางเพื่อให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของเนคเทค เช่น การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี และการให้สิทธิในการใช้งานซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยอินเทล
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า “เนคเทคมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาวิทยาการและวิศวกรรมเชิงคอมพิวเตอร์ (CSE) ทั้งด้วยการดำเนินโครงการวิจัยภายใน ด้วยการสนับสนุนและทำงานร่วมกับนักวิจัยสาขา CSE จากสถาบันต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการคำนวณสมรรถนะสูง เทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้ง และ เทคโนโลยีที่มีความสำคัญสูงอื่นๆ เนคเทคยินดีที่ภาคเอกชนอย่างอินเทลสนใจจะให้ความร่วมมือและสนับสนุนการวิจัยสาขา CSE เราวางแผนที่จะพัฒนาโปรแกรมใหม่ๆ สำหรับเครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ที่สร้างจากโปรเซสเซอร์ ไอเทเนียม ทู ของ อินเทล ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าบันทึกความเข้าใจนี้ จะเป็นก้าวที่สำคัญ และ ก่อให้เกิดความร่วมมือที่นำไปสู่การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการคำนวณของประเทศไทย”
Intel และ Itanium เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของอินเทล คอร์ปอเรชั่น หรือสำนักงานสาขาในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ขอสงวนสิทธิ์
ติดต่อ:
คุณเพชราภรณ์ เจริญนิพนธ์วานิช คุณกรรภิรมย์ อึ้งภากรณ์
บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
โทรศัพท์: (66 2) 654-0654 โทรศัพท์: (66 2) 627-3501
M-mail: petch.charoennibhonvanich@intel.com E-mail: kanpirom.ungpakorn@carlbyoir.com.hk
คุณลัญจนา นิตยพัฒน์, คุณสายพิณ ธนะศิริวัฒนา
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
โทรศัพท์ 02-564-6900 ต่อ 2346
E-mail: lanjana@nectec.or.th saiphin@nectec.or.th--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ