กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
คำกล่าว
การแถลงข่าวพิธีลงนามความร่วมมือ “การใช้คลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ในการวิจัย”
ระหว่าง
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
กับ
บริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 เวลา 14.00-16.00 น.
ณ ห้องปทุมมา ชั้น 3 อาคารเนคเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
เรียน ท่านผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนทุกท่าน
วันนี้ผมมีความยินดีที่บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ได้ให้ความสำคัญและแสดงจุดยืนที่จะสนับสนุนงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการใช้คลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ในงานวิจัย
คลัสเตอร์คอมพิวติ้งเป็นเทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้นมากในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีคลัสเตอร์คอมพิวติ้ง ด้วยเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีนี้มีความเหมาะสมสำหรับการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย โดยจะทำให้เราสามารถสร้างทรัพยากรการคำนวณ หรือ Computing resource ได้ในต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป และสามารถขยายเพิ่มได้ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ทรัพยากรการคำนวณเป็นคำที่อาจจะยังไม่คุ้นหูนัก ความหมายก็คือ ระบบคอมพิวเตอร์ และ โปรแกรมต่างๆ ที่มีไว้เพื่อรองรับการคำนวณ ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทางเทคโนโลยี หรือทางธุรกิจ ในสังคมอุดมปัญญา หรือ Knowledge based society นั้น ทรัพยากรการคำนวณนับได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่ง อันจะเห็นได้จากประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ และ เทคโนโลยีของโลกล้วนมีระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถสูง เป็นจำนวนมาก รัฐบาลของประเทศต่างๆ เหล่านี้เห็นความสำคัญของทรัพยากรการคำนวณ จึงใช้งบประมาณจำนวนมากลงทุนสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถสูงเหล่านั้นขึ้น
วิทยาการและวิศวกรรมเชิงคอมพิวเตอร์ หรือ Computational Science and Engineering หรือ CSE คือ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมที่ใช้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เป็นหลักในการศึกษา การใช้การวิจัยสาขา CSE ร่วมกับการวิจัยทางการทดลองอย่างเหมาะสม มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีชีวภาพ เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ ต้องอาศัยการผสมผสานความรู้จากหลายสาขา ทำให้มีความซับซ้อน และไม่อาจศึกษาได้กระจ่างโดยใช้วิธีการทดลองเพียงอย่างเดียว สังคมอุดมปัญญาจึงไม่มองข้ามโอกาสในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้การวิจัยสาขา CSE
ทรัพยากรการคำนวณเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการสร้างองค์ความรู้จากการวิจัยสาขา CSE เนคเทคเห็นความสำคัญนี้ จึงได้ตั้งห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 และได้จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง คือ เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครย์ วายเอ็มพี และ เพาว์เวอร์ชาเลนจ์ เพื่อใช้ในการดำเนินงานวิจัยภายใน และ ให้บริการแก่นักวิจัยภายนอก ซึ่งได้แก่ อาจารย์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครย์ดังกล่าว นับได้ว่าเป็นเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของประเทศไทย เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสองได้ให้การบริการแก่นักวิจัยให้สามารถดำเนินการวิจัยทางด้านฟิสิกส์เชิงคำนวณ และ เคมีเชิงคำนวณ และมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก หลายคน จนกระทั่งต้องปลดระวางไปในปี พ.ศ. 2540 และ 2543 ตามลำดับ
เครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่ได้กล่าวไปนั้นใช้เทคโนโลยีเฉพาะที่มิได้มีใช้แพร่หลาย จึงทำให้มีราคาสูงมาก เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซี ที่จำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดมีราคาถูกลง และ มีความสามารถสูงขึ้น จึงเกิดแนวความคิดที่จะนำเครื่องพีซีเหล่านั้นมาต่อกันด้วยระบบเน็ทเวิร์ค ให้ทำงานร่วมกันได้เพื่อใช้ทดแทนเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง แนวความคิดนี้เรียกว่า คลัสเตอร์คอมพิวติ้ง และ ระบบที่เกิดจากการนำเครื่องคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องมาต่อกันนั้น เรียกว่า คลัสเตอร์คอมพิวเตอร์
เนื่องจากเครื่องพีซึที่นำมาต่อกันนั้นใช้เทคโนโลยีที่ใช้กันแพร่หลายจึงมีราคาถูก ทำให้คลัสเตอร์คอมพิวเตอร์มีราคาที่ไม่สูงเท่ากับเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่ใช้เทคโนโลยีเฉพาะ นอกจากนี้ข้อดีอีกประการหนึ่งของคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์คือ สามารถเพิ่มเติมจำนวนเครื่องพีซีที่นำมาต่อได้ เพื่อรองรับความต้องการการคำนวณที่เพิ่มขึ้น ผมจึงเห็นว่าเทคโนโลยีคลัสเตอร์ คอมพิวติ้งเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย
ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ซึ่งขณะนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ฝ่ายวิจัยและพ้ฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณ จึงได้ดำเนินการพัฒนาและทดลองสร้างระบบคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 โดยมีเป้าหมายเพื่อทดแทนเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงซึ่งมีราคาแพง ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนคเทคได้พิจารณาเห็นว่าระบบคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้งานในการวิจัยทั้งภายในและภายนอกศูนย์ฯ จึงได้ตัดสินใจจะสร้างระบบคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ขึ้นใหม่อีกหนึ่งระบบ
คลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นนี้ ประกอบด้วยเครื่องเซิร์ฟเวอร์จำนวน 32 เครื่องทำหน้าที่คำนวณ และเครื่องเซิร์ฟเวอร์อีกหนึ่งเครื่องทำหน้าที่เป็น Front-end เพื่อติดต่อกับผู้ใช้ เครื่องทั้งหมดนี้ใช้โพรเซสเซอร์ Itanium2 ของบริษัทอินเทล ซึ่งนับได้ว่าเป็นโพรเซสเซอร์แบบที่มีสมรรถนะสูงที่สุดแบบหนึ่ง เครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์นี้จึงเป็นเครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้โพรเซสเซอร์ Itanium2 เครื่องแรกในประเทศไทย โดยส่วนที่ทำหน้าที่คำนวณประกอบด้วยโพรเซสเซอร์ Itanium2 ภึง 64 ตัว และมีหน่วยความจำถึง 128 GB และจากการวัดประสิทธิภาพเบื้องต้นพบว่ามีความเร็วการคำนวณประมาณ 200 GFlops ซึ่งนับได้ว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการวิจัยที่เร็วที่สุดในประเทศไทย นอกจากส่วนการคำนวณแล้ว เครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์นี้ยังมีส่วนจัดเก็บข้อมูลด้วยเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้โพรเซสเซอร์ Xeon จำนวน 5 เครื่อง เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน มีความจุรวมทั้งสิ้น 3.2 TB
เครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์นี้จะใช้ในโครงการวิจัย ทั้งที่ดำเนินการโดยเนคเทค และที่ดำเนินการโดยนักวิจัยภายนอก โดยในระยะแรกจะจำกัดโครงการที่จะใช้งานเพียงสองโครงการคือ โครงการวิจัย Bio-informatics ซึ่งดำเนินการโดยนักวิจัยของเนคเทค ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษา สนิปส์ (SNPs = Single Nucleotide Polymorphisms) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในศาสตร์สาขาใหม่ที่เรียกว่า “pharmacogenomics” ศาสตร์นี้ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรมเพื่อการวินิจฉัยโรค ช่วยในการทำนายความเสี่ยงการเกิดโรคในแต่ละบุคคล และทำให้แพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม เช่น การกำหนดชนิด และปริมาณยา ตามลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วย การรักษาโรคในลักษณะนี้ ช่วยลดความเสี่ยงจากการรักษา เช่น การแพ้ยา การให้ยามากหรือน้อยเกินไป นอกจากนี้ยังสนิปส์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์หาหลักฐานในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์
อีกโครงการหนึ่งคือโครงการวิจัยการคัดกรองยาด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งดำเนินการโดยอาจารย์จากภาควิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันอื่นๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น โดยโครงการนี้จะใช้การจำลองปฏิกริยาเคมีระหว่างสารออกฤทธิในยา กับสารที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเชื่อโรคต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ส รวมทั้งโรคไข้หวัดนก เพื่อทดสอบการออกฤทธิ์ของยา การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการคัดกรองยา ทำให้สามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการค้นหายาโดยการทดลองลงได้ โดยการลดจำนวนยาที่ต้องทำการทดลองลง
โครงการต่างๆ ที่กล่าวไปแล้วเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของงานวิจัยที่ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ ยังมีโครงการที่ดำเนินการโดยเนคเทคอีกหลายโครงการ เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์จำลองแบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค หรือ MEMS ซึ่งนักวิจัยใช้เทคนิคไฟไนต์ เอลิเม้นต์ในการสร้างแบบจำลอง เพื่อทดสอบและปรับปรุงการออกแบบ MEMS เนคเทคยังได้เริ่มดำเนินการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี โดยใช้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ทำการศึกษาสมบัติทาง ไฟฟ้าของนาโนทิวบ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างขีดความสามารถในการศึกษา และออกแบบ Nano-device ซึ่งเป็นการนำอะตอม และโมเลกุลมาสร้างเป็น electronic device ต่างๆ เช่น ทรานซิสเตอร์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาด้านนาโนเทคโนโลยีนี้ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกพอสมควร
เมื่อ บริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ได้ทราบว่า เนคเทค ได้พัฒนาเครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในงานวิจัย บริษัทได้แสดงความสนใจที่จะให้ความร่วมมือ สนับสนุนการดำเนินงานของเนคเทค จนเป็นที่มาของการทำบันทึกความเข้าใจนี้ ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างบริษัท กับเนคเทค และกลุ่มนักวิจัยด้าน CSE ในประเทศไทย โดย เนคเทค จะรับหน้าที่เป็นสื่อกลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือ Tuning โปรแกรมให้เข้ากับสถาปัตยกรรมของโพรเซสเซอร์ และคอมพิวเตอร์ เพื่อให้โปรแกรมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เนคเทค ยังจะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อมูลระหว่างนักวิจัย อันจะนำไปสู่โครงการวิจัยที่มีประโยชน์ ที่สามารถใช้งานเครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ได้ต่อไป
ตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือกับบริษัท ที่ได้จัดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 15-16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คือ การอบรมการปรับปรุงประสิทธิภาพของโปรแกรมสำหรับสถาปัตยกรรม IA64 ซึ่งทางบริษัทได้ส่งวิศวกร 2 คน (จากบริษัทอินเทล ประเทศจีน) มาให้การอบรมเชิงปฏิบัติการ แบบเข้มข้น เป็นเวลา 2 วันเต็ม และได้มีนักวิจัยจาก เนคเทค โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เข้าร่วมการอบรม
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณผู้มีเกียรติทุกท่านที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรอบความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้ จะนำไปสู่กิจกรรมและโครงการวิจัยด้าน CSE ที่เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อไป--จบ--