ตั้งสถาบันพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกลำไย แก้ปัญหาลำไยครบวงจร

ข่าวทั่วไป Wednesday November 24, 2004 11:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--วช.
จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ปลูกลำไยมากที่สุดในประเทศไทย นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ แต่กระนั้นก็ตามในการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลของเกษตรกรมักจะเกิดปัญหาคล้ายคลึงกันทุก ๆ ปี คือ ปัญหาด้านการผลิต ปัญหาด้านคุณภาพ เงินลงทุน ด้านการตลาด และการบริหารจัดการของกลุ่มผู้ผลิตลำไย ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ นางสาวสุทธินี สุริยกุล ณ อยุธยา นักวิจัยอิสระ และคณะ ทำการวิจัยเรื่อง “การพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเพื่อการส่งออกในเขตจังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่” เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยให้สามารถผลิต เก็บเกี่ยว รวบรวม แปรรูปและจัดการด้านการตลาดเพื่อการส่งออกอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ โดยศึกษาถึงแนวคิด ทัศนคติ ความเห็นของผู้บริหารกลุ่มเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกลุ่ม กิจกรรมทางด้านการสร้างรายได้ การส่งเสริมสมาชิกและการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพของกลุ่ม เป็นต้น
ผลการวิจัยพบว่า ในช่วง 2 — 3 ปีที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการตลาด การจำหน่าย ผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย อีกทั้งการถูกแทรกแซงจากกลไกการตลาดก็จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการกำหนดทิศทางการตลาด ซึ่งเกษตรกรคาดหวังจากโครงการรับจำนำลำไยจากรัฐจนทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ขาดการวิเคราะห์ความเสี่ยงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ประกอบกับการมุ่งหวังแต่ตลาดลำไยอบแห้งเพียงด้านเดียว ทำให้วงจรตลาดลำไยสดลดลงและการที่ผลผลิตลำไยอบแห้งมีปริมาณมากกว่า 50,000 ตัน ที่สะสมจากโครงการรับจำนำลำไยเมื่อปี 2544/45 — 2545/46 ได้ส่งผลกระทบต่อระดับราคาของผลิตผลที่จะออกใหม่ในปีต่อไปด้วย ดังนั้นการที่โครงการวิจัยนี้ได้มีการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะด้านการผลิต ทักษะด้านการเก็บรักษา ทักษะการแปรรูป ทักษะด้านการตลาด การสร้างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรซึ่งผลดังกล่าวทำให้มีพัฒนาการในทุก ๆ ด้านระดับดีมาก
ผู้วิจัยได้สรุปและแนะนำว่า ควรมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการปลูกลำไยเพื่อการส่งออกและแปรรูปอย่างชัดเจน ควบคู่กับการพัฒนาด้านการตลาด อีกทั้งพัฒนาการแปรรูปผลผลิต เพื่อลดอัตราเสี่ยงที่หวังพึ่งตลาดเพียงอย่างเดียว รวมทั้งควรจัดตั้งสถาบันการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกลำไยโดยตรงเพื่อเป็นสถาบันที่รวบรวมองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาลำไย และภาครัฐควรจัดหาตลาดกลางเพื่อรับซื้อผลผลิตเองโดยรัฐดำเนินการหรือให้องค์กรภาคเอกชนทำโดยรัฐเป็นผู้กำกับดูแลและในระยะต่อไปอาจจะพัฒนาถ่ายโอนให้กับเกษตรกรเข้ามาบริหารจัดการเอง--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ