กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--ทีวีบูรพา
ตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ลูกหลานแดนมังกรที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาในเมืองไทย จนเกิดการตั้งรกรากสืบสานเผ่าพันธุ์ที่ยั่งยืนถาวร เป็นชุมชนที่หนาแน่น เกิดอาชีพ เกิดการดำรงชีวิตในรูปแบบต่างๆ บนถนนสายมังกรใจกลางกรุงเทพมหานคร จนได้ชื่อว่า ไชน์น่าทาวน์เมืองไทย หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ “ถนนเยาวราช” จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ลูกหลานคนจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ยังคงยึดถือธรรมเนียมจีน และสืบสานการปฏิบัติสืบทอดกันมา จนกลายเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นบนถนนสายนี้ นั่นก็คือ เทศกาลตรุษจีน
แต่ในขณะที่ “ ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” คำทักทายสวัสดีในวันปีใหม่ของคนไทยเชื้อสายจีน กลายเป็นคำในภาษาไทยที่คนไทยทั้งประเทศ พูดได้ตาม ๆ กัน โดยน้อยคนนักที่จะรู้และเข้าใจความหมายที่แท้จริงได้อย่างลึกซึ้ง รวมไปถึงธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ที่ลูกหลานคนจีนยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นภาพชินตาของคนไทย เช่น การไหว้ขอพรจากเทพเจ้าทุกช่วงเทศกาลตรุษจีน ก็มีคนไทยอีกไม่น้อยที่ไม่รู้ว่า การไหว้นั้น ไหว้เทพเจ้าองค์ใด หรือไหว้ใคร เพราะอาจรู้แต่เพียงว่า การไหว้เจ้า คือการขอพรเทพเจ้า จะทำให้ชีวิตราบรื่น มั่งมีศรีสุข ตลอดปีตลอดไป แล้วรู้หรือไม่ว่า ทำไมในเทศกาลตรุษจีน ต้องมีวันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว วันจ่ายมีความสำคัญอย่างไร และทำไมจะต้องชื่อว่า “วันจ่าย” จ่ายมาก หรือจ่ายน้อย จ่ายเพื่อใครและจ่ายกันสักเท่าไร วันไหว้ ไหว้อะไรกันบ้าง ของไหว้แต่ละอย่างมีความหมายอย่างไร และในวันไหว้นี้ ทำไมต้องมีการแจกอั่งเปา ส่วนวันเที่ยว ไปเที่ยวไหน เที่ยวทำไม เที่ยวกันจริง ๆ ตามชื่อเรียกหรือไม่ แล้วสิงโตมาเกี่ยวอะไรด้วย
ติดตามรายการกบนอกกะลา วันอาทิตย์ที่ 17 ก.พ.56 เวลา 14.00 น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี