กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--กสทช.
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ห้ามมิให้ผู้ประกอบการกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการในระยะเวลาที่กำหนด หรือห้ามไม่ให้มีบัตรเติมเงินพรีเพดหมดอายุ แต่นับตั้งแต่มีการใช้ประกาศดังกล่าวก็ยังไม่สามารถบังคับได้อย่างจริงจัง ส่งผลให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยขณะที่ประกาศนี้ต้องการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ฝั่งผู้ประกอบการก็โต้แย้งตลอดมาว่า การไม่ให้บัตรเติมเงินพรีเพดไม่มีวันหมดอายุเลย และไม่ระงับการให้บริการเลยนั้นจะส่งผลกระทบเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจะมีเลขหมายโทรศัพท์ตกค้างโดยที่ไม่มีการใช้งานอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก
ที่จริงแล้วตัวประกาศ กทช.ฯ ข้อ 11 ก็มีความยืดหยุ่นโดยมีข้อยกเว้นให้สิทธิผู้ประกอบการกำหนดวันหมดอายุพรีเพดได้ แต่ต้องขอความเห็นชอบจากกสทช.เป็นการล่วงหน้า และให้ กสทช.กำหนดเงื่อนไขการให้บริการประกอบด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
ปัญหาเรื่องบัตรเติมเงินพรีเพดคาราคาซังมาตั้งแต่ยุคของ กทช. มีการโจมตีว่าไม่มีการบังคับตามกฎหมาย จริงๆแล้วมีการดำเนินการในเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่อาจจะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด จากการตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่อดีตมาทำให้ทราบว่า หลังจากที่กทช.ออกประกาศนี้มาและเกิดปัญหาการบังคับใช้ กทช.และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เห็นตรงกันว่าบัตรเติมเงินพรีเพดสามารถมีวันหมดอายุได้ตามข้อยกเว้นของประกาศ กทช.ฯ ข้อ 11 เพียงแต่จะกำหนดเงื่อนไขกำกับไว้อย่างไรให้เกิดประโยชน์และไม่เป็นภาระต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากเกินไป ในยุคของ กทช. จึงมีความพยายามจะแก้ไขปัญหานี้ โดยรับฟังความคิดเห็นของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจนออกมาเป็นมติของ กทช. กำหนดเงื่อนไขมาตรฐานไว้ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2551 แต่เงื่อนไขดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยในส่วนของผู้บริโภคการกำหนดให้ต้องมีการชำระเงินล่วงหน้าเป็นจำนวนถึง 500 บาทเสียก่อน บัตรพรีเพดจึงจะไม่มีวันหมดอายุนั้น ทำให้เป็นภาระต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มรากหญ้า ฉะนั้นการแก้ปัญหาในขณะนั้นจึงไม่ได้ผล
ทั้งนี้กสทช. โดย กทค. ได้มีการดำเนินการเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเคยมีการประชุมร่วมกันระหว่าง กทค. กลุ่มผู้บริโภค และ กลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งก็เห็นค่อนข้างจะตรงกันในเรื่องการมีวันหมดอายุในบางกรณี เพียงแต่เงื่อนไขที่จะใช้ในการกำกับยังมีแนวคิดที่แตกต่างกันอยู่ จึงได้มีการประชุมหารือในกลุ่มย่อยหลายต่อหลายครั้ง จนเริ่มเห็นทางออกในการแก้ไขปัญหา จนกระทั่งในปี 2556 ที่ กสทช. ประกาศให้ปีนี้เป็นปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภค เราก็ต้องการกำหนดมาตรการและเยียวยาปัญหาต่างๆของผู้บริโภคให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในเรื่องบัตรเติมเงิน
ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 14 มกราคม 2556 สำนักงาน กสทช.จึงได้เชิญผู้ประกอบการมาหารือร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาบัตรเติมเงินให้ได้ข้อยุติแล้วหารือเรื่องเงื่อนไขมาตรฐานขั้นต่ำที่จะกำหนด โดยก่อนหน้านี้ได้มีการค้นคว้า และมีการประชุมกับหลายฝ่ายมาหลายครั้ง จนได้เงื่อนไขมาตรฐานที่ตกผลึกร่วมกัน ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ โดยในการหารือดังกล่าวได้แจ้งว่าหากผู้ประกอบการต้องการจะมีคำขอให้กำหนดวันหมดอายุตามข้อยกเว้นก็ให้ยื่นเข้ามา แต่กรอบจะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานที่กสทช.กำหนด หากไม่อยู่ในกรอบนี้ กสทช.ก็จะไม่อนุญาต
แม้แนวทางปฏิบัตินี้ ในฝั่งของผู้ประกอบการ จะไม่ชอบเท่าไรนัก แต่เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวมีความยืดหยุ่น จึงมีแนวโน้มให้ความร่วมมือมากกว่าเดิม ดังนั้นผู้ประกอบการจึงกลับไปเสนอคำขอตามข้อยกเว้นในข้อ 11 เพื่อยื่นเข้ามาให้ กสทช.พิจารณา แต่ในระหว่างที่ผู้ประกอบการยังไม่ได้ยื่นคำขอเข้ามา เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทันที และเป็นการกดดันผู้ประกอบการ สำนักงาน กสทช.จึงขอความร่วมมือให้บริษัทไม่กำหนดวันหมดอายุไปก่อน ซึ่งหากปฏิบัติตามก็จะส่งผลให้ค่าปรับจะหยุดลงนับแต่วันที่มีการปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นการกดดันผู้ประกอบการให้รับเสนอคำขอและเงื่อนไขเข้ามาโดยเร็ว ในขณะเดียวกัน กสทช. โดย กทค. ก็ออกสุ่มตรวจบัตรเติมเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อเป็นการกดดันผู้ประกอบการอีกทางหนึ่งด้วย
ต่อมาเมื่อผู้ประกอบการยื่นคำขอเข้ามาเพื่อขอกำหนดวันหมดอายุของบัตรเติมเงินพร้อมเงื่อนไข ที่ประชุมกทค.จึงพิจารณาคำขอและเงื่อนไขของผู้ประกอบการว่าสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำที่กทค.กำหนดไว้หรือไม่ โดยในการประชุมกทค.ครั้งที่ 5-6/ 2556 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ได้พิจารณาคำขอและเงื่อนไขที่บริษัททรู มูฟ จำกัด และบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เสนอเข้ามาแล้วเห็นว่าสอดคล้องกับแนวทางมาตรฐานขั้นต่ำของกทค. จึงมีมติให้กำหนดวันหมดอายุตามข้อยกเว้นของประกาศ กทช.ฯข้อ 11 และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้กำหนดเงื่อนไขกำกับไว้ ดังนี้ 1. การเติมเงินเข้าสู่ระบบของผู้ให้บริการในทุกมูลค่าที่เคยให้บริการอยู่ก่อนและ/หรือที่จะให้บริการ ผู้ใช้บริการจะต้องได้รับระยะเวลาใช้งานไม่น้อยกว่า 30 วัน 2. การเติมเงินเข้าสู่ระบบของผู้ให้บริการทุกครั้ง ให้นับรวมระยะเวลาการใช้งานที่ได้รับกับระยะเวลาที่ยังคงเหลืออยู่ โดยมีระยะเวลาการสะสมวันสูงสุดอย่างน้อย 365 วัน และ 3. กรณีที่ผู้ให้บริการมีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการเมื่อสัญญาเลิกกันผู้ให้บริการจะต้องคืนเงินค่าบริการที่คงเหลืออยู่ในระบบให้แก่ผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ผู้ให้บริการอาจกำหนดเงื่อนไขให้สามารถโอนเงินค่าบริการที่ชำระล่วงหน้าไว้ไปยังเลขหมายอื่นที่อยู่ในโครงข่ายเดียวกันด้วยก็ได้
“ขอทำความเข้าใจว่ามติของ กทค. นี้ไม่ได้เป็นการยกเลิกการห้ามกำหนดวันหมดอายุของบัตรเติมเงินแต่อย่างใด ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ยื่นคำขอเข้ามา หรือยื่นเข้ามาแล้วแต่ กทค.ไม่เห็นชอบ ก็ยังจะต้องผูกพันตามกฎหมายที่ห้ามกำหนดวันหมดอายุของบัตรเติมเงิน อย่างไรก็ตามมติของกทค. เป็นเพียงดำเนินการตามข้อยกเว้นของกฎหมายตามที่ผู้ประกอบการยื่นคำขอเข้ามา ซึ่งมีการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานกำกับไว้ ผลจากการกำหนดเงื่อนไขนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มรากหญ้า เพราะในการเติมเงินล่วงหน้าแต่ละครั้ง จากที่เคยต้องเติมเงินเป็นจำนวนมากเพื่อจะให้ได้วันสะสมเยอะๆ จากเงื่อนไขมาตรฐานที่กำหนดจะทำให้สามารถเติมเงินเป็นจำนวนเท่าไรก็ได้ ก็จะได้วันสะสมไม่ต่ำกว่า 30 วัน ในทุกโปรโมชั่น ส่วนที่เคยได้โปรโมชั่นเกินกว่า 30 วัน ก็ยังคงได้ประโยชน์ต่อไป เพราะสอดคล้องกับเงื่อนไขมาตรฐานขั้นต่ำนี้ และสามารถสะสมวันไปได้อย่างน้อย 365 วัน และถ้ายังเติมเงินไปเรื่อยๆ ระยะเวลาก็จะสะสมไปเรื่อยๆ โดยบัตรก็จะไม่หมดอายุการใช้งาน” ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย