กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาค ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนต่อไป ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจน้ำตาลและกระแสเงินสดที่มาจากธุรกิจที่หลากหลายขึ้นทั้งจากธุรกิจเอทานอลและธุรกิจไฟฟ้าน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ
บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของไทยซึ่งมีตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นเต็ม 100% โดยถือหุ้นผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย โดยในปีการผลิต 2554/2555 กลุ่มมิตรผลมีผลผลิตน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 3.5 ล้านตัน
บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยปริมาณการผลิตน้ำตาลที่ 1.96 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.1% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศในฤดูการผลิต 2554/2555 รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง (18.3%) กลุ่มไทยเอกลักษณ์ (11.2%) กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (7.3%) และกลุ่มวังขนาย (6.4%) ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของบริษัทอยู่ที่ระดับ 108.46 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 104.63 กก. ต่อตันอ้อย
บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.04 ล้านตันในปีการผลิต 2554/2555 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 9.0% ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลที่ระดับ 124.5 กก. ต่อตันอ้อยในฤดูการผลิต 2554/2555 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายธุรกิจน้ำตาลไปยังประเทศอื่น โดยในปี 2551 บริษัทจัดตั้งโรงงานน้ำตาลที่ประเทศลาว และต่อมาในเดือนเมษายน 2555 บริษัทประสบความสำเร็จในการซื้อหุ้น 100% ใน MSF Sugar Ltd. (MSF) ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศออสเตรเลีย โดยบริษัทใช้เงินลงทุนรวม 302 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 9,700 ล้านบาท MSF มีโรงงานน้ำตาล 4 แห่งซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดและตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนแลนด์ด้วยกำลังการหีบอ้อย 35,000 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2554/2555 MSF มีผลผลิตน้ำตาลรวม 0.5 ล้านตัน หรือคิดเป็น 13% ของการผลิตน้ำตาลรวมของกลุ่มมิตรผล
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้รวม 72,131 ล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวม (EBITDA) 17,205 ล้านบาท กำไรจากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วนสูงที่สุดคิดเป็น 70% ของ EBITDA โดยกำไรของธุรกิจน้ำตาลในจีนมีสัดส่วน 36% ของ EBITDA รวม ในขณะที่กำไรของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 32% ของ EBITDA รวม ธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียยังให้ผลกำไรไม่มาก โดย MSF มี EBITDA เพียง 48 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เนื่องจากบริษัทมีอัตรากำไรที่ต่ำกว่าและเป็นการรวมงบการเงินเพียง 6 เดือนเท่านั้น ส่วนบริษัทมิตรลาวมี EBITDA เพียง 266 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555
นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ธุรกิจผลิตกระดาษ และธุรกิจโลจิสติกส์ ณ เดือนธันวาคม 2555 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 690,000 ลิตรต่อวัน บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 322 เมกะวัตต์ด้วย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 4,313 ล้านบาทในปีการผลิต 2554 จาก 3,792 ล้านบาทในปีการผลิต 2553 และ 2,268 ล้านบาทในปีการผลิต 2552 โดย EBITDA จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 22% ของ EBITDA รวมของบริษัทในปี 2554
รายได้รวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 โดยบริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 72,131 ล้านบาทในช่วงดังกล่าว เพิ่มขึ้น 12.4% จาก 64,158 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2554 การเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาขายน้ำตาลของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทย การรวมงบการเงิน MSF และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศจีนราคาขายน้ำตาลในประเทศปรับลดลงเนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับลดลงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ราคาน้ำตาลที่ลดลงส่งผลทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทลดลงเป็น 22.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 จาก 26.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรลดลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับอัตรากำไรในช่วงปี 2550-2553 ที่อยู่ระดับ 15.6%-21.0% กระแสเงินสดของบริษัทในช่วงปีการผลิต 2553 ถึง 2554 แข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายงานและการซื้อหุ้น MSF อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 32.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 เทียบกับ 48.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อ
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับปานกลาง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 47.7% ณ เดือนกันยายน 2555 จาก 39.4% ในปลายปี 2554 บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจโดยใช้เงินลงทุนจำนวนรวม 13,500 ล้านบาทในปี 2556-2557 จากประมาณการ EBITDA ที่ระดับ 17,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังอยู่ในระดับปานกลางในระยะ 2 ปีข้างหน้า
ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2555/2556 ประมาณการปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยอยู่ที่ระดับ 90-95 ล้านตันอ้อย ซึ่งลดลงจาก 98 ล้านตันในปีการผลิต 2554/2555 ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยคาดว่าจะลดลงเช่นกันเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ทำสถิติสูงสุดที่ 36.11 เซนต์/ปอนด์ในเดือนมกราคม 2554 ราคาน้ำตาลทรายดิบเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 18 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนมกราคม 2556 เนื่องจากผลผลิตของผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เพิ่มขึ้น ส่วนในประเทศจีนนั้น ราคาน้ำตาลมักเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศและอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ราคาน้ำตาลในประเทศจีนปรับตัวลงมาที่ระดับ 5,500 หยวนต่อตันในปัจจุบัน จากที่เคยขึ้นไปสูงถึง 7,400 หยวนต่อตันในเดือนกันยายน 2554
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MPSC135B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A+
MPSC136A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A+
MPSC136B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A+
MPSC13DB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A+
MPSC145A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC146A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC155B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC156A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC15OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC16OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC175A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable