กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--นิโอ ทาร์เก็ต
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หารือร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ถึงแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมดึงศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถก้าวไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ” ภายใต้ห่วงโซ่มูลค่า “การแปรรูปมันสำปะหลังด้วยนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพเพื่อทดแทนพลาสติกสังเคราะห์” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใน 3 ด้าน กล่าวคือ
1) เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน 2) พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศเพื่อการพัฒนาประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงสถานการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในขณะนี้ว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สนช. ได้ริเริ่มและผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้เป็น “อุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำ “แผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ” เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าการเกษตรอย่างเช่นมันสำปะหลังให้สูงถึง 6 เท่า ซึ่งในการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เสนอให้พิจารณามาตรการเร่งด่วนเพื่อ “ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน” โดยมีข้อเสนอคือ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในอัตราดอกเบี้ย 2% เป็นระยะเวลา 8 ปี ตลอดจนเร่งผลักดันและสนับสนุนโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและชีวเคมี และการพิจารณาทบทวนและปรับมาตรการส่งเสริมด้านต่างๆ ตามแผนที่นำทางแห่งชาติฯ
หากพิจารณาถึงกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพตลอดห่วงโซ่การผลิตนั้น ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพทั้งด้านอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีการผลิตวัตถุดิบแป้งและมันสำปะหลังจำนวนมากและเพียงพอ และด้านอุตสาหกรรมปลายน้ำที่มีโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกมากกว่า 3,000 โรงงาน แต่ยังขาดส่วนสำคัญคืออุตสาหกรรมกลางน้ำ คือการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ ซึ่งถ้าสามารถผลักดันให้เกิดการผลิตในประเทศไทย จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องและเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรของประเทศไทย ดังนั้น หากต้องการให้เกิดการพัฒนาอย่างครบวงจร ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยต้องสร้างรูปแบบใหม่ในการสนับสนุนที่สามารถตอบคำถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน โดยมอบหมายให้สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย จัดทำข้อเสนอให้มีความชัดเจนในรูปแบบใหม่ของการสนับสนุนที่มีความชัดเจนจากภาครัฐ และควรจะมีการเชื่อมโยงใน 5 ประเด็นหลักที่ชัดเจนได้แก่ 1) เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง 2) รูปแบบการลงทุนที่ต้องการ 3) การตลาดที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกชีวภาพ
4) อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และ 5) สิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรม โครงสร้างทางภาษี ราคาวัตถุดิบ ทั้งนี้ อาจจะนำเสนอรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะของอุทยานวิทยาศาสตร์ด้านพลาสติกชีวภาพที่มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะเกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างเทคโนโลยีของประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้รวดเร็วต่อไป