กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--วินด์ เอนเนอร์ยี โฮลดิ้ง
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม “เวสต์ ห้วยบง 2” และ “เวสต์ ห้วยบง 3” ซึ่งเป็นวินด์ฟาร์ม แห่งแรกในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำไทยสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนของภูมิภาคด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 207 เมกะวัตต์
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกอบพิธีเปิดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม “เวสต์ ห้วยบง 2” และ “เวสต์ ห้วยบง 3” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอด่านขุนทด และอำเภอเทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา โดยเริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว โครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศมั่นคงให้ดียิ่งขึ้น ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า และกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 90 ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้ 9,201เมกะวัตต์ ในปี 2564 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพลังงานลม 1,200 เมกะวัตต์ และความสำเร็จของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม “เวสต์ ห้วยบง 2” และ “เวสต์ ห้วยบง 3”ได้สะท้อนถึงผลสัมฤทธิของนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี
โครงการ “เวสต์ ห้วยบง 2” และ“เวสต์ ห้วยบง 3” เป็นการนำพลังงานจากลม ซึ่งไม่มีวันหมดและเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่นับวันจะหมดไปทั้งสองโครงการจะผลิตพลังงานไฟฟ้าป้อนระบบสายส่งของ กฟผ. ปีละ 350 ล้านหน่วย ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพราะสามารถลดการนำเข้าน้ำมันเตาเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ 96.4 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นเงินประมาณ2,040 ล้านบาทต่อปี และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อนเพราะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ถึง 270,176 ตันต่อปี
โครงการ “เวสต์ ห้วยบง 2” ดำเนินการโดยบริษัท เค.อาร์.ทู จำกัด ส่วนโครงการ “เวสต์ ห้วยบง 3” ดำเนินการโดย บริษัท เฟิร์ส โคราช วินด์ จำกัดซึ่งทั้งสองโครงการประกอบด้วยผู้ถือหุ้นคือ
บริษัทอีโอลัส พาวเวอร์ จำกัดร้อยละ 60 ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท จูบุ อิเล็คทริค พาวเวอร์ โคราช บีวี ร่วมลงทุนในอัตราส่วนร้อยละ 20 มูลค่าการลงทุนสองโครงการรวมกันทั้งสิ้น 13,053 ล้านบาท
แต่ละโครงการประกอบด้วยกังหันลมผลิตไฟฟ้าจำนวน 45 ต้น กำลังการผลิตต้นละ 2.3 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตติดตั้งโครงการละ 103.5 เมกะวัตต์ ทั้งสองโครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท Non-firm สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กับกฟผ. ระยะเวลา 25 ปี และยังได้รับเงินสนับสนุนค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม(Adder) จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) จำนวน 3.50 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 10 ปี
นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการฯ ยังนำความเจริญเข้าสู่พื้นที่ ทั้งในด้านการก่อสร้างสาธารณูปโภคเช่น ถนน ซึ่งทำให้การสัญจรคมนาคมในพื้นที่ดีขึ้น อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ทำการเกษตร ช่วยให้สามารถขนส่งพืชผลทางการเกษตรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนเจริญเติบโตขึ้นและสร้างรายได้เพิ่มอันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชนอีกด้วย