กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--เอแบคโพลล์
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง นโยบายรถเมล์และทางเดินรถเข็นขึ้นลงข้างถนนสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความตั้งใจจะไปเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. โค้ง 3
กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร
ดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง นโยบายรถเมล์และทางเดินรถเข็นขึ้นลงข้างถนนสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความตั้งใจจะไปเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. โค้ง 3 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 3,631 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการและวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 8 - 12 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นเลือกเขต แขวง ชุมชน และลงสัมภาษณ์แบบเคาะประตูบ้านในระดับครัวเรือน ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างถึงความเห็นต่อแนวคิดจัดทำรถเมล์มีบันไดขึ้นลงพิเศษสำหรับผู้ใช้รถเข็น ผู้พิการ และผู้สูงอายุ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.4 เห็นด้วย ถึง เห็นด้วยอย่างยิ่ง และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.2 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อแนวคิดทำทางขึ้นลงข้างถนนสำหรับผู้ใช้รถเข็น ผู้พิการ และผู้สูงอายุ เป็นต้น
เมื่อสอบถามถึงผู้สมัครที่ตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 43.9 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พรรคเพื่อไทย รองลงมาคือ ร้อยละ 37.6 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 10.4 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส ผู้สมัครอิสระ และที่เหลือร้อยละ 8.1 ระบุอื่นๆ เช่น นายสุหฤท สยามวาลา นายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อพิจารณาผลสำรวจที่ได้เป็น “จุดตัวเลขที่ค้นพบ” (Estimated Points) จำแนกตามช่วงเวลาของการสำรวจตั้งแต่โค้งที่ 1 ถึงโค้งที่ 3 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 41.8 ในโค้งที่หนึ่ง ร้อยละ 43.1 ในโค้งที่สอง และร้อยละ 43.9 ในโค้งที่สาม ในขณะที่ สัดส่วนของผู้ที่ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กำลังกลับมาเพิ่มขึ้นเช่นกัน คือจากร้อยละ 37.6 ในโค้งที่หนึ่ง และลดลงเหลือร้อยละ 33.1 ในโค้งที่สอง และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 37.6 ในโค้งที่สามซึ่งกลับมาเท่ากับค่าร้อยละที่เคยค้นพบในโค้งที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของผู้ที่ระบุผู้สมัครในนามอิสระและคนอื่นๆ มีลักษณะสวิงเปลี่ยนแปลงไปมาในลักษณะลดลงแต่ไปเพิ่มขึ้นในส่วนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ส่งผลให้ช่วงห่างระหว่าง พล.ต.อ.พงศพัศ กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์แคบลงในโค้งที่สามจากเดิมเคยห่างกัน 4 จุดในโค้งที่หนึ่ง และทิ้งห่างเป็น 10 จุดในโค้งที่สอง และล่าสุดห่างกัน 6.3 จุด แต่โดยสรุปจากผลสำรวจครั้งนี้ พล.ต.อ.พงศพัศ ยังคงนำในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าคำนึงถึงช่วงความคลาดเคลื่อนที่บวกลบร้อยละ 7 อาจกล่าวได้ว่า ความห่างในการแข่งขันของตัวเลขในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้อยู่ในช่วงความคลาดเคลื่อนที่อาจมีโอกาสพลิกผันได้เช่นกัน
และเมื่อพิจารณาผลสำรวจที่ได้เป็น “จุดตัวเลขที่ค้นพบ” จำแนกตามสภาพที่พักอาศัย จะเห็นได้ว่า พล.ต.อ.พงศพัศ มีสัดส่วนของผู้ที่ตั้งใจจะเลือกสูงกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ทุกกลุ่มโดยเฉพาะ กลุ่มบ้านเดี่ยว ชุมชนแออัด คอนโดมิเนี่ยม แต่ที่อาจมีโอกาสพลิกได้อยู่ในกลุ่มแมนชั่น แฟลต อพาร์ทเมนต์ ตึกแถว และห้องแถว เป็นต้น โดยพบว่า ในกลุ่มตัวอย่างบ้านเดี่ยวร้อยละ 43.4 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 36.2 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และร้อยละ 13.4 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ ร้อยละ 7.0 ระบุอื่นๆ เช่น นายสุหฤท สยามวาลา นายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นต้น
ในกลุ่มตัวอย่างชุมชนแออัด ร้อยละ 48.9 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 33.3 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และร้อยละ 9.0 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ ร้อยละ 8.1 ระบุอื่นๆ เช่น นายสุหฤท สยามวาลา นายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นต้น
ในกลุ่มตัวอย่างคอนโดมิเนี่ยม ร้อยละ 39.3 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 28.6 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และร้อยละ 21.4 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ ร้อยละ 10.7 ระบุอื่นๆ เช่น นายสุหฤท สยามวาลา นายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นต้น
ในกลุ่มตัวอย่างทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด ทาวน์โฮม ร้อยละ 44.3 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 40.1 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และร้อยละ 7.9 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ ร้อยละ 7.7 ระบุอื่นๆ เช่น นายสุหฤท สยามวาลา นายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นต้น
ในกลุ่มตัวอย่างแมนชั่น แฟลต อพาร์ทเมนต์ ร้อยละ 39.1 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 35.3 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และ ร้อยละ 9.3 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ ร้อยละ 16.3 ระบุอื่นๆ เช่น นายสุหฤท สยามวาลา นายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นต้น
ในกลุ่มตัวอย่างตึกแถว ห้องแถว ร้อยละ 44.7 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 40.6 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และร้อยละ 8.7 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ ร้อยละ 6.0 ระบุอื่นๆ เช่น นายสุหฤท สยามวาลา นายโฆสิต สุวินิจจิต เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเป็นจุดตัวเลขที่ค้นพบโดยจำแนกตามพื้นที่ที่พักอาศัย พบว่า พล.ต.อ.พงศพัศ ยังคงมีค่าคะแนนนำในทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตามการสำรวจในโค้งที่สามนี้กลับพบความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชั้นกลางและพื้นที่ชั้นนอก โดยพบว่า
ในกลุ่มตัวอย่างพื้นที่ชั้นนอกกลับมีสัดส่วนใกล้เคียงกันโดย ร้อยละ 41.6 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 40.9 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มตัวอย่างพื้นที่ชั้นกลางกลับมีความห่างของตัวเลขที่ค้นพบอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง พล.ต.อ.พงศพัศ กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ คือ ร้อยละ 45.8 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 33.2 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ นอกจากนี้ ในกลุ่มตัวอย่างพื้นที่ชั้นในพบว่า ร้อยละ 43.7 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 39.9 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ค้นพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในการทำสำรวจแต่ละครั้งอยู่เสมอจึงเป็นโอกาสให้ผู้สมัครแต่ละท่านได้นำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจปรับปรุงกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในแต่ละช่วงเวลาก่อนวันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามหลักการทางสถิติจะพบว่า ในการสำรวจโค้งที่สามนี้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ยังคงรักษาระดับของการได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ถูกศึกษาและมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยมากกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่กำลังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ถูกศึกษาเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ตัวเลขที่ค้นพบก็ “ยังไม่นิ่ง” ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้หรืออาจไม่เปลี่ยนแปลงก็เป็นไปได้ ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ของผู้สมัครทุกคนสำคัญที่จะครองใจประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในเวลานี้
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผู้สมัครที่คิดว่ากำลังได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนอย่างดีคงต้อง “รักษาระดับยกการ์ดให้สูง” เน้นย้ำถึงนโยบายที่จะสำเร็จลงได้เพื่อลดปัญหาเดือดร้อนของคนกรุงเทพมหานครอย่างแท้จริง นอกจากนี้แกนนำผู้สนับสนุนทุกคนต้องเป็นหนึ่งเดียวกันลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และจากการทบทวนข้อมูลการศึกษาวิจัยในอดีตและปัจจุบัน พบว่า ผู้สมัครที่สามารถเข้าใจถึง “วัฒนธรรมหลัก (Main Culture)” และ “วัฒนธรรมย่อย (Sub-Culture) น่าจะทำให้มีโอกาสจะได้รับฐานสนับสนุนเพิ่มขึ้นไปอีกได้
“นโยบายของผู้สมัครน่าจะมีนโยบายหลักที่ดูแลคนกรุงเทพมหานครในภาพกว้างเพื่อเข้าถึงวัฒนธรรมหลักของคนกรุงเทพฯ เช่น การทำให้กรุงเทพมหานครปลอดภัย การทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งอาเซียน การทำให้กรุงเทพมหานครต้องเรียบร้อยภายในสี่ปี การดูแลกรุงเทพมหานครตลอด 24 ชั่วโมง และอื่นๆ ในขณะที่ วัฒนธรรมย่อยของคนกรุงเทพฯ ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกันเพราะในกรุงเทพมหานครมีความหลากหลายสูงในกลุ่มย่อยต่างๆ เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนสูงอายุ กลุ่มคนต่างเชื้อชาติ กลุ่มคนย้ายถิ่นจากต่างจังหวัด และกลุ่มคนที่เกิดกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ดังนั้น การเสนอนโยบายที่จับต้องได้โดนใจประชาชนแล้วต้องไม่ลืม “มิติด้านวัฒนธรรมของคนกรุงเทพฯ” ด้วยเช่นกัน” ดร.นพดล กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 53.4 เป็นหญิง ร้อยละ 46.6 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 3.6 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 18.0 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.9 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 65.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 34.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 34.9 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 7.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 4.4 เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.3 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 10.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 1.9 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ