กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--เอแบคโพลล์
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจการรับรู้ของสาธารณชนคนกรุงเทพฯ ต่อรายชื่อผู้สมัครทั้ง 25 คน และเจาะใจคนจะไปเลือกตั้งแน่ๆ กับคนไม่แน่ใจว่าตั้งใจจะเลือกใครพร้อมเหตุผล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร
ดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจการรับรู้ของสาธารณชนคนกรุงเทพมหานครต่อรายชื่อผู้สมัครทั้ง 25 คน และเจาะใจคนจะไปเลือกตั้งแน่ๆ กับคนไม่แน่ใจว่าตั้งใจจะเลือกใครพร้อมเหตุผลกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 3,631 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการและวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นเลือกเขต แขวง ชุมชน และลงสัมภาษณ์แบบเคาะประตูบ้านในระดับครัวเรือน ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
เมื่อถามถึงการรับรู้ของสาธารณชนคนกรุงเทพมหานครต่อรายชื่อผู้สมัครทั้ง 25 คน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.2 รู้จัก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รองลงมาคือร้อยละ 91.9 รู้จัก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในขณะที่ ร้อยละ 74.4 รู้จัก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้อยละ 40.1 รู้จัก นายโฆสิต สุวินิจจิต และร้อยละ 16.0 รู้จักนายสุหฤท สยามวาลา ส่วนที่เหลือโปรดพิจารณาตัวเลขที่สำรวจพบในตารางที่แนบมา
ดร.นพดล กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า ยังคงมีผู้สมัครจำนวนมากไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนที่ระบุว่ามีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนั้นจึงน่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ผู้สมัครท่านใดที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนคนกรุงเทพมหานครต้องเร่งประชาสัมพันธ์เข้าใกล้ชิดประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น
นอกจากนี้ที่น่าพิจารณาคือ ในการสำรวจเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้เคยพบว่ามีผู้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. สูงถึงร้อยละ 63 แต่ผลสำรวจล่าสุดกลับพบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาระบุจะไปเลือกตั้งแน่ๆ มีเพียงร้อยละ 50.6 เท่านั้น ในขณะที่ร้อยละ 49.4 ระบุไม่แน่ใจถึงไม่ไปแน่ๆ โดยประชาชนระบุเหตุผลสำคัญคือ ความเบื่อหน่ายต่อบรรยากาศทางการเมืองและการเห็นความสำคัญต่อเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของตนเองมากกว่าการเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ที่น่าสนใจคือ คำถามที่ว่าตั้งใจจะเลือกผู้สมัครท่านใด ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง จำแนกตามความแน่ใจและไม่แน่ใจว่าจะไปเลือกตั้งหรือไม่ พบว่า ในกลุ่มคนที่ตั้งใจจะไปเลือกตั้งแน่ๆ ร้อยละ 47.1 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในขณะที่ร้อยละ 38.5 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และร้อยละ 8.0 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
ที่สำคัญคือ ในกลุ่มคนที่ไม่แน่ใจว่าจะไปเลือกตั้งหรือไม่ พบว่า ความตั้งใจของกลุ่มคนไม่แน่ใจจะไปเลือกตั้งหรือไม่กระจายไปอยู่ในกลุ่มผู้สมัครทั้งสองในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ ร้อยละ 39.7 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในขณะที่ร้อยละ 36.5 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และร้อยละ 13.5 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส สำหรับผู้สมัครท่านอื่นๆ โปรดพิจารณาในตารางแนบ
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกออกตามคำถามวิจัยว่า กลุ่มคนที่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในครั้งที่แล้ว (ปี พ.ศ. 2552) และการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในครั้งนี้จะเลือกใคร พบว่า ในกลุ่มคนที่เคยเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ในการเลือกตั้งผู้ว่าปี 2552 นั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.4 จะยังคงเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร อย่างไรก็ตามเกินกว่า 1 ใน 5 ของตัวอย่างครั้งนี้หรือร้อยละ 22.0 หันไปเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในขณะที่ กลุ่มตัวอย่างที่เคยเลือก นาย ยุรนันท์ ภมรมนตรี(แซม) ในปี พ.ศ. 2552 ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.7 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.4 ของกลุ่มตัวอย่างที่เคยเลือกคนอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2552 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ เช่นกัน ที่เหลือกระจายตัวออกไปเลือกคนอื่นๆ ในการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ที่จะมาถึงนี้ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจที่ค้นพบนี้เป็นผลสำรวจที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งประมาณสองสัปดาห์ แต่ในวันเลือกตั้งจริงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้หรืออาจจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการสำรวจที่ค้นพบครั้งนี้ก็ได้
นอกจากนี้ ตัวเลขที่น่าพิจารณาอีกรูปแบบหนึ่งคือ ความตั้งใจจะเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. จำแนกตาม โอกาสของการเปลี่ยนใจจะเลือกคนอื่นจากที่ตั้งใจไว้ พบว่า ในกลุ่มคนที่ไม่เปลี่ยนใจอีกแล้วร้อยละ 45.3 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในขณะที่ร้อยละ 38.2 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และร้อยละ 9.4 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
ในกลุ่มคนที่อาจจะเปลี่ยนใจได้ร้อยละ 34.8 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในสัดส่วนพอๆ กันคือ ร้อยละ 34.3 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และร้อยละ 16.9 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ส่วนผู้สมัครท่านอื่นๆ พิจารณาได้ในตารางแนบ
ที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 12.2 ระบุเริ่มมีการซื้อสิทธิขายเสียงเกิดขึ้นแล้วในชุมชนของตนเอง
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวด้วยว่า เหตุผลของประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ คือ มั่นใจว่าจะทำงานตามนโยบายได้ อยากเปลี่ยนคนใหม่เข้ามาทำงาน เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงาน เป็นกันเองกับชาวบ้าน ชอบเป็นการส่วนตัว ชอบพรรคเพื่อไทย เป็นต้น
เหตุผลของประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร คือ เข้าถึงประชาชนได้ดีเป็นกันเองกับชาวบ้าน เป็นคนจริงใจ ทำงานอย่างจริงจัง ซื่อสัตย์ในการทำงานตรงไปตรงมา ชอบพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น
เหตุผลของประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส คือ เป็นคนเอาจริงเอาจัง มั่นใจในฝีมือการทำงาน อยากเปลี่ยนให้คนใหม่ทำงานดูบ้าง คิดต่าง ชื่นชอบนโยบาย เป็นต้น
“จากผลสำรวจครั้งนี้พบความน่าเป็นห่วงอยู่สองประการคือ ความไม่แน่ใจของประชาชนว่าจะไปเลือกตั้งหรือไม่ และปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญในการลดบรรยากาศอันดีของประชาธิปไตย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะทำงานเชิงรุกให้มากขึ้นทั้งในการรณรงค์ให้เกิดความตระหนักเห็นความสำคัญของการไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าเหตุการณ์ส่วนตัวของประชาชน และทำให้ขบวนการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ไม่สามารถทำงานได้ดีจนส่งผลเสียต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้” ดร.นพดล กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 53.4 เป็นหญิง ร้อยละ 46.6 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 3.6 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 18.0 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.9 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 65.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 34.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 34.9 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 7.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 4.4 เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.3 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 10.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 1.9 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ