กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--แฟรนคอม เอเชีย
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลขาดทุนสุทธิจำนวน 138 ล้านบาท และผลขาดทุนต่อหุ้น 0.19 บาท สำหรับผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/2556 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นผลงานที่ปรับดีขึ้น มีการขาดทุนลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลขาดทุนสุทธิ 560 ล้านบาท และผลขาดทุนต่อหุ้น 0.79 บาทเมื่อไตรมาส 1/2555 โดยในไตรมาสแรกนี้ TTA มีผลกำไรจากการดำเนินงานปกติก่อนหักดอกเบี้ย และภาษี (EBIT) เพิ่มขึ้น 187% เป็น 20 ล้านบาท จากผลขาดทุน 23 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผลงานที่ปรับตัวดีขึ้นส่วนใหญ่มาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ 3 หน่วยธุรกิจหลักที่มีผลกำไรสูงขึ้น ซึ่งได้แก่ ธุรกิจปุ๋ยของบาคองโคที่เวียดนาม ธุรกิจการให้บริการนอกชายฝั่งแก่ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบมจ. เมอร์เมด มาริไทม์ หรือเมอร์เมด และธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับถ่านหินของบมจ. ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส หรือ UMS ส่วนธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองยังคงเผชิญวัฎจักรขาลงของอุตสาหกรรมส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
รายได้รวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ 4,138 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23% ซึ่งหลักๆ เป็นผลมาจากจำนวนวันปฏิบัติการของเรือที่เพิ่มขึ้นของโทรีเซนชิปปิ้ง และอัตราการใช้ประโยชน์และค่าจ้างรายวันที่ดีขึ้นของเมอร์เมด โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ 701 ล้านบาท
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ รองประธานกรรมการบริหาร ของ TTA กล่าว “เราได้เห็นสัญญาณของการพลิกฟื้นธุรกิจอย่างต่อเนื่องในไตรมาส ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองจะยังอยู่ในสภาพที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจนัก แต่ธุรกิจหลักของเราอีกสามกลุ่มก็สามารถก้าวขึ้นมาสร้างรายได้ชดเชยและลดผลกระทบในจุดนี้ไปได้ไม่น้อย จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการตัดสินใจกระจายการลงทุนในหลายๆ ด้านควบคู่กันไปนั้น ถือเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง ในขณะที่เรารอให้ตลาดเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง”
กลุ่มธุรกิจขนส่ง
กลุ่มธุรกิจขนส่งมีผลขาดทุนก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ที่ 67 ล้านบาท เนื่องจากอุตสาหกรรมเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองยังคงอยู่ในช่วงภาวะตกต่ำจนเกือบขีดสุด ซึ่งส่งผลให้ดัชนีของค่าระวางเรือทั่วโลก (BDI) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 51%
โทรีเซนชิปปิ้ง มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,211 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 47% และสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา19% โดยรายได้เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเช่าเรือมาให้บริการเสริมเพิ่มเติม เนื่องจากฐานลูกค้าและโบรคเกอร์ของโทรีเซนชิปปิ้งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ในไตรมาสนี้ กองเรือของโทรีเซนชิปปิ้งมีจำนวนเรือเฉลี่ยทั้งสิ้นที่ 28.5 ลำ โดยแบ่งเป็นเรือที่เราเป็นเจ้าของเอง 16 ลำ
อัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยทั่วโลกลดลงอย่างหนัก จึงส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือเฉลี่ย(TCE) ของโทรีเซนชิปปิ้งลดระดับลงมาเหลือ 7,540 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 32% แต่ก็ยังเป็นอัตราที่สูงกว่าดัชนีค่าระวางเฉลี่ยของตลาดถึง 12% ทั้งนี้ เรือที่เราเช่ามาเสริมจะถูกนำไปให้บริการในน่านน้ำที่มีอัตราค่าระวางสูงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งน่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของโทรีเซนชิปปิ้งปรับตัวดีขึ้นได้
เนื่องจากกองเรือของโทรีเซนชิปปิ้งเป็นกองเรือที่ทันสมัยและค่อนข้างใหม่ ประกอบกับได้ผ่านการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานมาแล้ว จึงมีผลทำให้โทรีเซนชิปปิ้ง สามารถควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานต่อวันจากที่เคยสูงถึง 14,000 เหรียญสหรัฐต่อวันให้ลดเหลือเพียงแค่ 10,000 เหรียญสหรัฐต่อวันได้ในไตรมาสแรก 2556 นี้ ยิ่งไปกว่านั้น ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าของเรือของโทรีเซนชิปปิ้งที่ระดับ 4,257 เหรียญสหรัฐต่อวัน ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานของตลาดที่ระดับ 4,500- 4,600 เหรียญสหรัฐต่อวันอีกด้วย จึงส่งผลให้โทรีเซนชิปปิ้งสามารถมีผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกแม้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะค่าระวางเรือทั่วโลกตกต่ำ
ส่วนปิโตรลิฟท์ ก็สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ดีในช่วงปลายปี 2555 อันเป็นผลมาจากการที่เรือจำนวนหนึ่งสามารถออกจากอู่กลับมาทำงานต่อได้อีกครั้ง โดยในไตรมาสแรกนี้ รายได้ของปิโตรลิฟท์ได้เพิ่มสูงขึ้นราว 2% ในขณะที่ EBITDA นั้น พุ่งสูงขึ้นกว่า 20% เมื่อคำนวณโดยใช้เงินสกุลเปโซของฟิลิปปินส์ และผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว ส่วนแบ่งของปิโตรลิฟท์ในรายได้รวมทั้งหมดของ TTA จึงขยายตัวขึ้นถึง 26% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
กลุ่มธุรกิจพลังงาน
กลุ่มธุรกิจพลังงานมีส่วนแบ่งกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ให้กับ TTA 68 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลขาดทุนก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) 37 ล้านบาทเมื่อไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการฟื้นตัวของเมอร์เมด
เมอร์เมดมีรายรับรวมที่ 1,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีก่อน 41% โดยรายได้จากส่วนธุรกิจวิศวกรรมใต้น้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนถึง 53% ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราค่าจ้างรายวันที่สูงขึ้น ในขณะที่รายได้จากส่วนธุรกิจขุดเจาะลดลงจากปีก่อน 7% เนื่องจากเรือ MTR-2 ถึงกำหนดต้องไปเข้ารับการตรวจสภาพซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 4 เดือนหลังจากจบภารกิจจากงานในประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การเติบโตของเมอร์เมดเป็นผลมาจากนโยบายการจัดการกองเรือที่มุ่งเน้นสร้างรายได้เฉลี่ยต่อลำให้สูงขึ้น และเจาะตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่นในตะวันออกกลาง ซึ่งความสำเร็จของเมอร์เมดตลอดปี 2555 และไตรมาสแรกของปี 2556 ในตลาดตะวันออกกลาง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เมอร์เมดสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานปกติ (EBIT) ได้ 68 ล้านบาท โดยในปีที่แล้ว เมอร์เมดขาดทุนจากการดำเนินงานราว 37 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน
กลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐานมีส่วนแบ่งผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT)123 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2556 นี้ เมื่อเทียบกับผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) 62ล้านบาท ในปีก่อน บาคองโคยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดี ในขณะที่ แผนการเปิดโรงงานสมุทรสาครของ UMS ในไตรมาสที่ 2/2556 ก็เป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ หลังจากได้กำจัดสต็อคถ่านหินขนาด 0-5 มม ออกจากพื้นที่และดำเนินการเงื่อนไขอื่นๆ ที่ทางจังหวัดกำหนดไว้ตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมประท้วงผู้ประกอบการถ่านหินทุกรายในบริเวณนั้น
ในไตรมาสนี้ โรงงานอยุธยาของ UMS มียอดขายถ่านหินประมาณ 178,000 ตัน ลดลงจากปีก่อน 18% ซึ่งในปีก่อนยอดขายสูงเป็นมาจากการเร่งระบายสต็อคถ่านหินขนาด 0-5 มม. อย่างไรก็ดีรายได้จากการขายลดลงจากปีก่อนเพียงแค่ 8% เท่านั้น ในขณะที่กำไรขั้นต้นกลับเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 24% ในไตรมาสนี้ เนื่องจากไม่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าขนส่งถ่านหินข้ามจังหวัดอีก ดังนั้น UMS จึงมีผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ในไตรมาสนี้ที่ 22 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ EBIT ปีก่อนที่ 3 แสนบาทเท่านั้น
ยอดขายปุ๋ยของบาคองโคในไตรมาส 1/2556 ก็ลดลงเช่นเดียวกัน แต่ผลกำไรกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยกำไรเบื้องต้นเพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 15 % ในขณะที่กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีเพิ่มขึ้นจาก 47 ล้านบาทในปีก่อนเป็น 87 ล้านบาทในปีนี้ หลังจากที่บริษัทได้ประสบผลสำเร็จในการลดต้นทุนด้านวัตถุดิบ ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์และคลังเก็บสินค้าก็ยังคงเติบโตได้ดี โดยมีอัตราการเช่าใช้พื้นที่สูงกว่า 90% ในไตรมาสแรก
แนวโน้ม
ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวสรุปถึงแนวโน้มของธุรกิจว่า “ในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้านี้ เราคาดว่า อัตราค่าระวางเรือทั่วโลกของธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองจะยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นผลกำไรของบริษัทฯ น่าจะมาจากกลุ่มธุรกิจในด้านอื่นเสียเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะจากเมอร์เมด ซึ่งธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงของวัฎจักรขาขึ้นที่น่าจะกินเวลาไปอีกหลายปี และคาดว่าผลประกอบการในไตรมาสสองน่าจะใกล้เคียงกับไตรมาสแรก โดยผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ ปี 2556 จะเป็นปีสำคัญที่เราจะมีโอกาสลงทุนเพิ่มในสองธุรกิจหลักทั้งเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง และงานบริการนอกชายฝั่ง เพื่อให้ TTA มีอนาคตที่สดใสในระยะยาว”
เกี่ยวกับ TTA
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแผนการลงทุนของบริษัทฯ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจอย่างสมดุลและหลากหลาย ทั้งในกลุ่มธุรกิจขนส่ง กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ TTA ได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจจากเดิมที่เคยเป็นแต่เพียงผู้ให้บริการเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ด้วยการขยายการลงทุนไปยังบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการวิศวกรรมโยธาใต้น้ำ และนำบริษัท เมอร์เมดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ หลังจากนั้น บริษัทฯ จึงได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจโลจิสติกส์และปุ๋ยในเวียดนาม (Baconco) ธุรกิจเหมืองถ่านหินในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย และธุรกิจโลจิสติกส์ถ่านหิน (บมจ. ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส) ธุรกิจขนส่งน้ำมัน (Petrolift) และธุรกิจท่าเรือในตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (Baria)