กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เสียงระเบิดที่ดังสนั่นหวั่นไหวที่เขตย่านธุรกิจเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสเมื่อคืนวันที่ 16 กันยายนเมื่อสองปีที่ผ่านมา ปลุกให้ “ศักดิ์ชัย แซ่เฮง” อาสาสมัครกู้ชีพของมูลนิธิธารน้ำใจอ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสและเป็นหนึ่งในชุดปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รีบนำทีมกู้ชีพเข้าไปยังที่เกิดเหตุเพื่อให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยการระเบิดครั้งนั้นเกิดหลายจุดในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งผู้ก่อเหตุใช้การจุดระเบิดด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์
ศักดิ์ชัย นำทีมเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทันที ที่สิ้นเสียงระเบิดลูกแรกที่ถนนเจริญเขต ในซอยภูธร ซึ่งมีการซุกซ่อนระเบิดไว้ในรถจักรยานยนต์บริเวณสมาคมแต้จิ๋ว ซึ่งในเบื้องต้นศักดิ์ชัยและทีมได้มีการประเมินแล้วว่าจะต้องมีระเบิดลูกที่สองตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งก็ไม่ผิดจากการคาดเดาเสียงระเบิดจากลูกที่สองหน้าโรงแรมปาร์คสันที่ที่ตั้งอยู่บริเวณติดกันก็ทำงานทันที เวลากับความตายไล่ล่ากันอย่างกระชั้นชิด ศักดิ์ชัยไม่รอช้ารับนำทีมเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุยังจุดที่สองทันทีโดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีระเบิดลูกที่สามที่รอการทำงานอยู่ไวกว่าความคิดระเบิดลูกที่สามทำงานพร้อมกับการเข้าให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บของศักดิ์ชัย ซึ่งจากแรงระเบิดทำให้เขาได้รับบาดเจ็บจากสาหัส โดยไฟจากแรงระเบิดเผาไหม้ที่บริเวณแขน ขา หน้า และโดนสะเก็ดระเบิดจนเป็นบาดแผลลึกตามร่างกายอีกหลากหลายแห่ง ส่วน เสกสรร โรจนพนาศิริ เพื่อนร่วมปฏิบัติหน้าที่เสียชีวิตจากแรงระเบิด ซึ่งศักดิ์ชัยต้องนอนพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานานถึงสองเดือน
ปัจจุบันนี้บาดแผลตามร่างกายของ ศักดิ์ชัย หายเกือบหมดแล้ว แต่ความทรงจำในจิตใจยังตราตรึงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมิรู้ลืม “เมื่อผมได้ยินเสียงระเบิดก็ออกไปช่วยเหลือในที่เกิดเหตุทันที โดยระเบิดลูกแรกนั้นมีผู้บาดเจ็บไม่มาก ผมและทีมก็ได้เข้าไปช่วยเหลือและพยายามกันคนออกเพราะเกรงว่าจะมีลูกที่สองตามมา ซึ่งผมพูดยังไม่ทันขาดคำลูกที่สองก็ตามมาทันที แต่ผมไม่คิดเลยว่าจะมีระเบิดลูกที่สามที่ทำให้ผมบาดเจ็บ ซึ่งตอนที่เจ็บผมก็พยายามนะว่ามีใครบาดเจ็บอีกหรือเปล่า เพราะตอนนั้นผมยังรู้สึกตัวอยู่ เพราะถ้าผมช่วยไหวผมก็จะไปช่วย แต่ตอนนั้นผมไม่ไหวแล้วจริง”อดีตช่างทำทอง ที่ผันตัวเองมาเป็นอาสาสมัครกู้ชีพของมูลนิธิธารน้ำใจ อ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสบอกเล่าความรู้สึกในวันเกิดเหตุ
ทั้งนี้ความกลัวเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และเมื่อความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วหลายคนอาจหาทางป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับตนเองอีก หากแต่ศักดิ์ชัย ไม่ได้ปล่อยให้ความกลัวเข้ามาเกาะกุมจิตใจ และหลีกหนีจากงานกู้ชีพที่เขารัก เขาเอาชนะความกลัว ด้วยการทำหน้าที่กู้ชีพเหมือนเดิมในทุกๆ วัน ในทุกๆ ครั้ง และสัญญากับตนเองว่าจะต้องทำหน้าที่นี้ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
“หลายครั้งมีคนถามว่าผมกลัวไหม และจะเลิกทำงานกู้ชีพหรือเปล่า ผมตอบเขาว่า ผมคงไม่เลิกเพราะถ้าเลิกแล้วคนบาดเจ็บจะทำอย่างไรและใครจะเข้าไปช่วย ฟังดูเหมือนผมแกล้งพูด แต่ความจริงถ้าคนได้ช่วยใครแล้ว และทำมันด้วยความรัก มันจะเป็นความรู้สึกที่คุณอธิบายให้ใครฟังไม่ได้ มันเป็นความสุขใจ และภาคภูมิใจกับการที่ได้ช่วย คุณต้องทำแล้วคุณจะรู้ว่าความรู้สึกนั้นมันเป็นอย่างไร” ศักดิ์ชัยบอกเล่าความรู้สึกพร้อมทั้งทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า การทำงานกู้ชีพในภาคใต้หรือภาคไหน ก็ตามมีความเสี่ยงเกิดขึ้นในทุกวันสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะต้องดูแลตนเองให้ปลอดภัยทั้งก่อน หลัง และระหว่างเข้าให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วย
ทั้งนี้จากสถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่าในจังหวัดนราธิวาสมีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ 1,691 คน และในปีพ.ศ.2555 มีการออกปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน 8,040 ครั้ง ส่วนจังหวัดยะลา มีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน 1,249 คน มีการออกปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน 9,639 ครั้ง และ จังหวัดปัตตานี มีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินกว่า 1,755 คน มีการออกปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน 4,097 ครั้ง
ด้านนพ.ประจักษวิช เล็บนาค รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่า “มูลนิธิธารน้ำใจ สุไหง โก-ลก เป็นหนึ่งในหน่วยปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของ สพฉ. ซึ่งปัจจุบัน สพฉ. มีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศกว่า 150,911 คน โดยทุกคนที่ปฏิบัติงานในแต่ละหน่วยนั้นก็ทำงานด้วยความรักและความเสียสละอย่างเต็มที่ ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่อยากให้มีใครต้องสูญเสียจากการเข้าไปช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น ซึ่งเราก็ได้จัดทำโครงการเพื่อดูแลเจ้าหน้าที่เหล่านี้อย่างเต็มที่โดยการทำประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ที่เป็นภาคีเครือข่ายของเรา และครอบครัวโดยผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยสามารถสมัครเข้ามาได้ที่ www.niems.go.th ได้ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้” รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว
ถ้าแก่นของวันวาเลนไทน์แท้จริงแล้วคือความรักและความเสียสละ ที่ไม่ใช่การแสดงออกเฉพาะความรักของของหนุ่มสาว เจ้าหน้ากู้ชีพกภู้ภัยทุกคนก็สมควรที่จะได้รับการกล่าวถึงในฐานะผู้ที่มีความรักและความเสียสละอย่างเต็มที่ในวันวาเลนไทน์เช่นเดียวกัน !!!!!!!!!!!