กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--มหาวิทยาลัยศิลปากร
1. ชื่อโครงการ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเพาะพันธุ์และแปลงเพศปลานิลเชิงการค้า
2. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี
3. หลักการและเหตุผล
หากเอ่ยถึงอาชีพทำการเกษตร แม้ว่าส่วนใหญ่เรามักจะพบเห็นเกษตรกรประสบกับปัญหาความไม่แน่นอนของราคาผลผลิตที่บางช่วงตกต่ำ หรือความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ทัศนคติของหลายคนที่มีต่ออาชีพเกษตรกรรม ต่างคิดว่าเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมั่นคงนัก ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนทั้งประเทศหรือทั่วโลกต่างมาจากการ เกษตรทั้งสิ้น คนไทยบริโภคเนื้อปลา 32 ก.ก./คน/ปี ในส่วนนี้เป็นปลาจากฟาร์มเลี้ยงประมาณ 10% ที่เหลือเป็นปลาที่จับจากทะเล แต่เนื่องจากปลาทะเลหายากและมีต้นทุนการจับปลาที่สูงขึ้น ขณะที่ปลาน้ำจืดจากฟาร์มเลี้ยงมีต้นทุนการผลิตคงที่ ทำให้ปลาน้ำจืดจากฟาร์มเลี้ยงมีโอกาสเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณการบริโภคปลาน้ำจืดที่มาจากฟาร์มเลี้ยงมีอัตราขยายตัวที่ดีขึ้น หรือสูงขึ้นถึงปีละ 20% อย่างไรก็ตามการเลี้ยงปลาส่วนใหญ่ยังเป็นการเลี้ยงเพื่อยังชีพ หรือจำหน่ายภายในประเทศ ดังนั้นถ้าต้องการส่งเสริมการผลิตสินค้าจำพวกปลาในเชิงพาณิชย์ จำเป็นต้องมีการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตโดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิชาการ ดังนั้น “ปลา” จึงจัดเป็นอาหารในชีวิตประจำวันของชาวไทย และเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และที่สำคัญการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ทุนมาก แรงงานก็สามารถใช้แรงงานยามว่างของชาวไรชาวนาเองได้ เช่น การเลี้ยงปลานิล
“ปลานิล” จึงจัดเป็นอาหารโปรตีนราคาถูกที่คนไทยทั่วประเทศรู้จักและมีโอกาสได้ลิ้มรสกันอย่าง สม่ำเสมอ รองจากปลาทูก็ว่าได้ ปลานิลเลี้ยงง่ายเพราะเป็นปลากินพืช แถมยังออกลูกดก อาหารโปรตีนย่อยง่ายตัวนี้จึงได้รับความนิยมสืบมาจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่ พระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดปลานิลมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 จำนวน 50 ตัว จวบจนวันนี้ปลานิลจำนวน 50 ตัวดังกล่าวออกลูกออกหลานกระจายอยู่ตามริมคลองหนองบึงทั่วประเทศไทย การเดินทางของ 50 ตัว จากญี่ปุ่นในครั้งนั้น ทำให้มีปลานิลนับแสนล้านตัวในเมืองไทยวันนี้
ถึงแม้ว่าปลานิลจะเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย โตเร็ว และขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่เกษตรก็ยังประสบปัญหาในเรื่องการเจริญเติบโต และขนาดที่แตกต่างกันของปลานิล ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ด้วยเหตุผลดังกล่าวนักวิชาการด้านการประมงจึงได้ทำการค้นคว้าเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกร จึงเริ่มทำโครงการวิจัยการเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศขึ้น โดยเปลี่ยนปลานิลเพศเมียให้เป็นเพศผู้ทั้งหมด เนื่องจากปลานิลเพศผู้นั้น สามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่าเพศเมีย และปลานิลเพศผู้ไม่ต้องใช้อาหารที่ให้ไปสร้างรังไข่เหมือนกับตัวเมีย จึงทำให้ได้รับอาหารอย่างเต็มที่ อีกทั้งการโตเร็วของปลานิลแปลงเพศ ยังสามารถช่วยให้เกษตรกรขายปลาได้ทันตามความต้องการของตลาด
ด้วยเหตุผลดังกล่าวการจัดโครงการอบรมเกษตรกรผู้ที่สนใจในการเพาะเลี้ยงปลานิลแปลงเพศจึงเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพและหรือเพิ่มศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนแก่เกษตรกรผู้ที่สนใจหรือมีพื้นฐานการเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ก่อนแล้วได้เพิ่มศักยภาพผลผลิตให้ได้สูงสุดโดยอาศัยความรู้ทางด้านวิชาการจากการอบรมดังกล่าว
4. วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีทางด้านการเพาะเลี้ยงปลานิล
2. เพื่อถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีทางด้านการแปลงเพศปลานิล
1. ระยะเวลาดำเนินการ
ฝึกอบรมทั้งภาคบรรยายและปฏิบัติ
ครั้งที่ 1 วันที่ 23-24 มีนาคม 2556 ครั้งที่ 2 วันที่ 30-31 มีนาคม 2556
6. สถานที่ดำเนินงาน
อาคารปฏิบัติการฟาร์มสัตว์น้ำ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี
7. จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ
7.1 เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้สนใจทั่วไป จำนวน 40 คน
7.2 นักศึกษาสาขาสัตว์น้ำ 8 คน
7.3 ศิษย์เก่า 4 คน
?
ฟรี เปิดรับผู้สนใจเข้าอบรมการใช้ฮอร์โมนในการแปลงเพศปลานิลเพื่อเพิ่มผลผลิต
ที่พักฟรี + อาหารกลางวัน+อาหารว่างทุกมื้อ +พร้อมประกาศนียบัตร
ครั้งที่ 1 วันที่ 23-24 มีนาคม 2556 ครั้งที่ 2 วันที่ 30-31 มีนาคม 2556 รับจำนวนจำกัด 40 ท่าน
สถานที่ดำเนินงาน
อาคารปฏิบัติการฟาร์มสัตว์น้ำ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร 1 หมู่ 3 ต. สามพระยา อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี 76120สัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี 1 หมู่ 3 ต. สามพระยา อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี 76120
ติดต่อ 032 -594037-8, 081-291-0675
WEBSITE : HTTP://WWW.ASAT.SU.AC.TH/
หรือ ANAWATT@GMAIL.COM