กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
-ในโครงการศึกษาการพัฒนาระบบจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับประเทศไทย (ระยะที่ 1)-
TIPMSE สภาอุตฯประกาศลงนามร่วมศึกษาแนวทางการจัดการขยะในเมืองไทยอย่างยั่งยืนร่วมกับ 9 องค์กร ครอบคลุมทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม การศึกษา การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการปกครองท้องถิ่น ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพมหานคร กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมควบคุมมลพิษ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, สมาคมองค์การบริหารส่วน จังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล แห่งประเทศไทย โดยการศึกษาวิจัยดังกล่าวใช้เวลา 1 ปี คาดสรุปผลได้ 30 ก.ย. ศกนี้
นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหาขยะมูลฝอย เป็นปัญหาที่ทวีความสำคัญมาก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องให้ทุกฝ่ายมาร่วมไม้ร่วมมือกันในการจัดการแก้ไข รวมถึง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะของภาคส่วนหนึ่งของสังคมได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหา ขยะมูลฝอย โดยมีสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสถาบันฯ หนึ่งของสภาอุตฯ ที่คอยดูแลและจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง และพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือที่จัดขึ้นในวันนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนหันมาร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ซึ่งก็คือ กรมและสมาคมต่างๆ ภาคเอกชน ซึ่งก็คือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมและภาคการศึกษา ซึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาระบบการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับประเทศไทย (ระยะที่ 1) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลขยะและวัสดุรีไซเคิลที่จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน และยังสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการจัดการขยะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นายสมพงษ์ ตันเจริญผล กล่าว
ด้านนายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงโครงการการศึกษารวมกันในครั้งนี้ว่า ปัญหาขยะมูลฝอย เป็นปัญหาที่มีความสำคัญระดับประเทศ เนื่องจากปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ตลอดจนบางส่วนยังไม่สามารถรวบรวมเข้าสู่ระบบการจัดการอย่างถูกต้องได้ จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นเราทิ้งทรัพยากรที่มีค่าไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทั้งในส่วนของขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิล โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ประชาชนไม่มีการคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงการขาดระบบการจัดการ มูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น ปัจจุบันปัญหาของการจัดการขยะมูลฝอยเกิดจากการเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดการที่ปลายทาง เช่น เทคโนโลยีระดับสูงจากต่างประเทศ หรือมาตรการทางกฎหมายตามแบบในประเทศยุโรป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แนวทางเหล่านี้อาจไม่เหมาะสมกับประเทศไทย นอกจากนั้น ยังขาดการ บูรณาการแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการขาดข้อมูลการจัดการขยะมูลฝอยที่จะช่วยในการวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยโดยเฉพาะขยะรีไซเคิลของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการศึกษาข้อมูลสำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาระบบการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนและเหมาะสมกับประเทศไทย
การศึกษาเพื่อพัฒนาระบบการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องศึกษาถึงปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในประเทศไทย และอัตราการรีไซเคิลจำแนกตามประเภทของวัสดุรีไซเคิล อาทิ แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ/อโลหะ กล่องเครื่องดื่ม โดยมีสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) เป็นผู้ดำเนินงานวิจัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.กำพล รุจิวิชชญ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นผู้จัดการโครงการวิจัยฯ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานร่วมสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานทั้งสิ้น 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ซึ่งผลงาน วิจัยจะทำให้เราทราบถึงองค์ประกอบของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น ทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมตลอดจนการพยากรณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงปริมาณของขยะของประเทศไทยในอนาคต ทราบอัตราการรีไซเคิลจำแนกตามประเภทของ วัสดุรีไซเคิลของประเทศไทยและบทบาทของผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการรีไซเคิลขยะ รวมถึงสามารถนำเสนอรูปแบบ ของระบบการจัดการขยะรีไซเคิลกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับประเทศไทย และเป็นข้อมูลกลางสำหรับทุกภาคส่วนได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป โดยการงานวิจัยมีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งสิ้น 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึง 30 กันยายน 2556
ทั้งนี้ผู้สนใจร่วมเปิดร้าน 0 บาท และร้าน 0 บาทเคลื่อนที่ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) โทร 02-272-1552 ต่อ 19 หรือ http://www.facebook.com/0bahtshop
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์:
บริษัท โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
ชวิสรา สัมฤทธิ์นรพงศ์, วารีพร ยังมั่น หรือ วิภาวริศ เกตุปมา
02-951-9119