กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กสทช.
พ.อ.ดร เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่าในวันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2556) กทค. ได้รับมอบรายงานผลการศึกษาและประเมินการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz (3G) ฉบับสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมาของประเทศไทย จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) โดย Dr.Eun-Ju Kim ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ ITU ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ที่ผ่านมา กสทช. โดย กทค. มีความร่วมมือกับITU ในการศึกษาและการประเมินการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz (3G) โดยการดำเนินโครงการนั้น Dr. HamadounToure เลขาธิการ ITU มีหนังสือถึง กสทช. ระบุว่ายินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้มีการประชุมร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญของ ITUเพื่อให้ข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญฯ ต้องการ
ผลการศึกษาและการประเมินการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz (3G) ของประเทศไทย จากITU สรุปได้ว่า กสทช. โดย กทค. ประสบความสำเร็จในการประมูลคลื่นความถี่ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดสรรคลื่นความถี่ตามมาตรฐานสากลโดยมีหลักการ วัตถุประสงค์ การออกแบบ และผลที่ได้รับจากการประมูลคลื่นความถี่ สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล ดังนี้ คือ
- การจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ของ กสทช. โดย กทค. ครั้งที่ผ่านมา มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม ปราศจากข้อสงสัย ทางด้านกฎระเบียบและกฎหมาย อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติการประมูลคลื่นความถี่ในประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลก
- การออกใบอนุญาตที่ผ่านมามีเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ เรื่อง การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และ MVNO ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแข่งขัน
- ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2.1 GHz ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค โดยมีเงื่อนไขในการลดอัตราค่าบริการลงอย่างน้อย 15% จากค่าเฉลี่ยของอัตราค่าบริการทั้งตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต
- ราคาที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ เมื่อเทียบกับผลการประมูลของประเทศอื่นๆ พบว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว และไม่น้อยเกินไป
จากผลการศึกษาและประเมินดังกล่าว ของ ITU จะเป็นประโยชน์ต่อการอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ที่สอดคล้องตามหลักปฏิบัติสากล และเหมาะสมกับสภาพตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยซึ่ง กสทช. โดย กทค. จะทำการแปล และเผยแพร่เอกสารดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ทางวิชาการและทำให้เกิดความเข้าใจต่อสาธารณะและที่สำคัญจะนำความเห็นพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว มาใช้ในการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ของประเทศไทยในครั้งต่อไป