กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กรมป่าไม้
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ แถลงข่าวผลการดำเนินงานโครงการรณรงค์ “ไม่เผาป่า รักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ ” ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยกรมป่าไม้ดำเนินการเอง 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.พะเยา และ จ.เชียงราย และร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน แม่ฮ่องสอน และตาก ตลอดจนการดำเนินการโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า 100 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ณ ห้องประชุม 301 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ — เมษายน ของทุกปี ภาคเหนือตอนบนต้องประสบกับปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำลายพื้นที่ป่าเป็น วงกว้างอย่างรวดเร็ว และยังทำลายสมดุลของระบบนิเวศอย่างมหาศาล ทั้งนี้ การเกิดไฟป่าแต่ละครั้งส่งผลให้เกิดการทำลายลูกไม้และกล้าไม้เล็ก ๆ ในป่า ทำให้หมดโอกาสเติบโต เป็นไม้ใหญ่ และยังส่งผลให้ไม้ใหญ่หยุดการเจริญเติบโต เนื้อไม้เสื่อมคุณภาพ สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่โล่ง และส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าในเรื่องของที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ปัญหาไฟป่ายังก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และปัญหาภัยแล้งตามมาอีกด้วย
" จากการเปิดตัวโครงการรณรงค์ “ไม่เผาป่า รักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์” ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นที่แรก เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2556 บริเวณสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี โดยมี นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการเปิดตัวโครงการและปล่อยขบวนรถรณรงค์ โดยที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงประชาชน จำนวนกว่า 2,000 คน ในการร่วมรณรงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงอันตรายและผลกระทบจากปัญหาไฟป่าและหมอกควัน "
นายบุญชอบ กล่าวต่อว่าหลังจากเปิดตัวที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว ในวันที่ 20 มกราคม 2556 ขบวนรณรงค์ได้เดินทางต่อไปยังจังหวัดลำพูน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน (นายนาวิน สินธุสะอาด) เป็นประธาน และหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จำนวน 500 คน ร่วมเดินรณรงค์ โดยเริ่มต้นจากสนามกีฬากลางจังหวัดลำพูน ไปตามถนนในอำเภอเมืองของจังหวัดลำพูน จากนั้นในวันที่ 21 มกราคม 2556 ขบวนรณรงค์เดินทางต่อไปยัง จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.พะเยา และไปสิ้นสุดที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2556 หลังจากนั้นกรมป่าไม้ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมรณรงค์ต่อไปอีก 3 จังหวัด คือ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน และจังหวัดสุดท้าย คือ จ.ตาก ในวันที่ 29 มกราคม 2556 รวมทั้งหมด 9 จังหวัด ซึ่งภายหลังจากการรณรงค์แล้ว กรมป่าไม้ได้รับรายงานจากหน่วยงานในพื้นที่ว่าจนถึง ณ วันนี้ มีไฟป่าเกิดขึ้นจำนวน 91 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นเกิน 100 ครั้ง นับว่าการรณรงค์ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี อีกทั้งในช่วงรณรงค์ได้มีฝนตกติดต่อหลายวันส่งผลให้ปริมาณการเกิดไฟป่าลดน้อยลง
นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังได้ดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า ซึ่งกรมป่าไม้ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนในการสร้างเครือข่าย จำนวน 100 หมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 100,000 บาท โดยเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า จะมีภารกิจหลักในการจัดทำข้อมูลพื้นฐาน การจัดซื้ออุปกรณ์ดับ ไฟป่า การจัดหาอาสาสมัครควบคุมไฟป่า และการฝึกอบรมอาสาสมัครควบคุมไฟป่า โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าของกรมป่าไม้ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการให้ความรู้และฝึกทักษะการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมไฟป่า นอกจากนี้กรมป่าไม้ได้มอบหมายให้หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่า 51 หน่วยทั่วประเทศ ยังมีหน้าที่ในการประสานนายอำเภอท้องที่ และผู้นำ อปท.ท้องที่ ในการจัดทำสมุดทะเบียนหน่วยงานต่างๆพร้อมเบอร์โทรศัพท์ เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นที่ใดหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าก็จะประสานขอความร่วมมือทุกหน่วยงานในพื้นที่ในการช่วยกันดับไฟ สำหรับลงโทษผู้กระทำความความผิดกรณีการจุดไฟเผาป่าหรือปล่อยให้ไฟลุกลามเข้าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่ป่า จะมีความผิดดังนี้
1. ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 ต้องระวางโทษตามมาตรา 72 ตรี จำคุกไม่เกิน 15 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีผู้ใดเผาป่าเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 15 ปีและปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท
2. พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ต้องระวางโทษตามมาตรา 31 จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท
ในกรณีบุคคลใดเผาป่าเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 150,000 บาท
กรมป่าไม้ ขอความร่วมมือหากพบเห็นบุคคลกระทำการเผาป่า สามารถแจ้งเหตุได้ที่ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าท้องที่ หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าท้องที่ หน่วยป้องกันรักษาป่าท้องที่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ (สาขา) ท้องที่ หรือนายอำเภอท้องที่ หรือผู้นำ อปท.ท้องที่ หรือสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุม ไฟป่า กรมป่าไม้ หรือสายด่วน Green Call 1310 กด 3 และสายด่วนนิรภัยของกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย 1784 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปดำเนินการดับไฟได้ทันการณ์