กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
วท.สานฝันเอกชน เล็งร่วมทุนรัฐบาลกิมจิ ผลักดันธุรกิจความงาม-สุขภาพ หลังกระแสเกาหลีฟีเวอร์ทั่วโลก
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) จัดการประชุม “Thailand Business Forum” ครั้งที่ 4 ในหัวข้อความร่วมมือเพื่อการพัฒนาธุรกิจด้านชีววิทยาศาตร์ทั้งสุขภาพและความงาม โดยเชิญ??หน่วยงานของรัฐบาลเกาหลีคือ ชุนเชินลีดดิ้งอินดัสตรีออฟฟิศ หรือ CCILO ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการของนิคมอุตสาหกรรมแดจอน มหาวิทยาลัยชังนัม โรงพยาบาลชังนัม รวมถึงบริษัทผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริมชั้นนำอย่างบริษัท โคเรียยูไนเตทฟาร์มาซูติคัล และบริษัท เน็กซ์ไบโอ เพื่อพบปะหารือกับตัวแทนจากประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัทไบโอแลป และเกรเตอร์ฟาร์ม่า ผู้แทนจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอแนวคิดและแลกเปลี่ยนความเห็นที่จะทำให้ทั้งสองประเทศเกิดความร่วมมือในต่อยอดงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์ โดยในการประชุมครั้งนี้มีผู้แทน จากบริษัทเมดิทิป ซึ่งเป็นบริษัทรับจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในขั้นตอนที่ผลักดันงานวิจัยไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์เชิงพานิชย์ เข้าร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ TCELS ได้ลงนามความร่วมมือกับ CCILO เมื่อปีที่แล้ว เพื่อให้เกิดการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานโรงงานอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับ มูลนิธิชุนเชิน ไบโออินดัสทรี่ เพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมอีกด้วย
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า นโยบายหลักที่ตนให้กับทางกระทรวงฯคือ ต้องทำงานครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า จึงสามารถก่อให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศไทยได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้เกาหลีใต้ขึ้นชื่อเรื่องการส่งออกเครื่องสำอางผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพไปทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลเขาให้การสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยในลักษณะร่วมทุน 20%-60% เพื่อผลักดันการพัฒนางานวิจัยไปสู่การผลิต ส่งผลให้เกิดรายได้ต่อภาครัฐทางอ้อมในรูปแบบภาษี และการสร้างงาน ซึ่งถือว่าเกาหลีเป็นประเทศที่มีสินค้าและผลิตภัณฑ์หลายรายการที่ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากรัฐเติบโตอย่างก้าวกระโดด
นอกจากนี้เกาหลียังมีฐานลูกค้าที่ชัดเจน ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรเกาหลีเผยว่ายอดส่งออกอาหารและเครื่องสำอางไปประเทศคู่ค้าในเอเชียเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่นำเข้าสินค้าเกาหลี นอกจาก จีนและญี่ปุ่น ยังมีชาติสมาชิกอาเซียนรวมอยู่ด้วยถึง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ดูเฉพาะด้านเครื่องสำอาง เมื่อปี 2551 เกาหลีส่งออกมูลค่า 216.73 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็น 485.11 ล้านดอลลาร์ ในปี 2554 และปี 2555 ทะลุ 561 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 16
“ การสนับสนุนให้เกิดการทำวิจัยร่วมกันของทั้งสองประเทศในรูปแบบของรัฐต่อรัฐเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีคุณภาพ โดยดึงภาคเอกชนมาร่วมในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการทำตลาด” นายวรวัจน์ กล่าวและว่า แผนยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ตนกำหนดไว้ ในปีงบประมาณ 2556-2557 แบ่งงานออกเป็น 5 กลุ่มงาน ขับเคลื่อนตั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อให้นโยบายรัฐบาลไปผลักดันงบประมาณวิทยาศาสตร์การวิจัยพัฒนาของประเทศให้ไปถึง 1% ของ GDP เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้นความร่วมมือกับประเทศเกาหลีเพื่อพัฒนางานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางด้านชีววิทยาศาสตร์ทั้งด้านสุขภาพและความงามนั้น ถือว่ามาถูกทางแล้ว
ติดต่อ:
www.tcels.or.th, 02-6445499