กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วย นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายเอกวัฒน์ ไพบูลย์วรชาติ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมแถลงข่าวและเปิดโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” ประจำปี 2556 ณ กองบัญชาการกองทัพบก
โครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” ประจำปี 2556 ประกอบด้วย 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กองทัพบก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ประชาชนขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค และขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตร ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาดังกล่าว กองทัพบกได้ประสานความร่วมมือมายัง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมผนึกกำลังพล แหล่งน้ำสะอาด รถบรรทุกน้ำ กระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่จำเป็นในการช่วยเหลือประชาชน ระหว่างเดือนมีนาคม — สิงหาคม 2556
สำหรับในส่วนที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลรับผิดชอบ ขณะนี้ได้มีการจัดเตรียมแหล่งน้ำบาดาล ทั่วประเทศให้พร้อมใช้งานในฤดูแล้ง และจัดเตรียมจุดจ่ายน้ำถาวร 100 แห่ง เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสะอาด โดยกองทัพบกจะจัดกำลังพลและรถบรรทุกน้ำเข้าไปรับน้ำจากจุดจ่ายน้ำของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง
นอกจากการให้ความร่วมมือในโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง”แล้ว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ภัยแล้งในระยะเผชิญเหตุ ด้วยศักยภาพของอุปกรณ์และเครื่องจักร ที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน รวมถึงบ่อน้ำบาดาลที่สามารถใช้บรรเทาปัญหาภัยแล้ง จำนวน 116,930 บ่อ ระบบประปาบาดาลทั่วประเทศ จำนวน 68,117 ระบบ พร้อมด้วยระบบน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 2,090 ระบบ ซึ่งพร้อมเป็นจุดจ่ายน้ำสะอาดให้ความช่วยเหลือประชาชน และการดำเนิน “โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” อีก 31 พื้นที่ ทั่วประเทศ โดยเน้นพื้นที่ประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน