กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--ชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย
โรงพยาบาลทั่วประเทศเตรียมจัดนิทรรศการให้ความรู้ประชาชน ภายใต้คำขวัญ "รวมพลัง ระวังต้อหิน ตื่นตัว ตรวจตา ป้องกันตาบอดจากต้อหินได้" จักษุแพทย์ย้ำ กลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจตาเป็นประจำทุกปี
ต้อหินเป็นโรคความเสื่อม เกิดจากขั้วประสาทตา ซึ่งมีหน้าที่รับสัญญาณภาพส่งไปยังสมอง ถูกทำลายด้วยความดันลูกตา เซลล์เส้นประสาทที่ตายไปแล้ว ไม่สามารถทำให้กลับฟื้นคืนมาได้ เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถรักษาเพื่อหยุดไม่ให้อาการแย่ลงได้ โดยการหยอดตา เลเซอร์ หรือผ่าตัด ต้อหิน จัดเป็นภัยเงียบอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากในระยะแรกจะไม่มีอาการใดๆ ถ้าไม่ตรวจก็ไม่สามารถรู้ได้ โรคจะค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้การมองเห็นแคบลง แต่ตรงกลางยังคงมองเห็นได้ดี ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกผิดปกติใดๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจเกิดอาการหนักมากแล้ว อายุยิ่งเยอะ ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น ปัจจุบันประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต้อหินกันมากขึ้น
ความชุกของการเกิดโรค 2-6% ของประชากร และทุกๆ ช่วงอายุ 10 ปีที่เพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งมีความชุกของการเกิดโรคมากขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกมีคนเป็นโรคต้อหินประมาณ 60-70 ล้านคน และในจำนวนนี้ 6-7 ล้านคนมีอาการรุนแรงถึงขั้นตาบอด จากการศึกษาพบว่ามีคนไม่รู้มากกว่า 50-90% เพราะไม่เคยตรวจตา
"น.พ.บุญส่ง วนิชเวชารุ่งเรือง" แพทย์เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา ประธานชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย ในราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ต้อหินเป็นสาเหตุทำให้เกิดตาบอด การสูญเสียการมองเห็น นอกจากจะเป็นภาระต่อตนเองแล้ว ยังจะเป็นภาระต่อครอบครัว และสังคมอีกด้วย แต่ถ้าหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดตาบอดแบบ ถาวรได้ ดังนั้นการตรวจตาเป็นประจำทุกปีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก"
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ คนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี, มีประวัติครอบครัว พ่อ แม่ พี่น้องสายตรงเป็นต้อหิน, คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดในลูกตา มีอุบัติเหตุทางตา, มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ, มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไทรอยด์, ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ เช่นคนไข้โรคพุ่มพวง เป็นต้น
ในปีนี้ กิจกรรมสัปดาห์ต้อหินโลก แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจัดขึ้นที่ส่วนกลาง โดยจะจัดขึ้นวันที่ 10 มีนาคม 2556 ณ สวนลุมพินี มีนิทรรศการ ให้ความรู้กับประชาชนเรื่องโรคต้อหิน มีการตรวจเบื้องต้นฟรีสำหรับผู้มาลงทะเบียนหน้างาน รับจำนวนจำกัดเพียงแค่ 300 รายเท่านั้น
ส่วนที่ 2 จัดแยกย่อยของแต่ละโรงพยาบาล นอกจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศิริราช รามาธิบดี ราชวิถี ธรรมศาสตร์ วัดไร่ขิงแล้ว ยังสามารถตรวจสอบไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน ได้ว่ามีการจัดกิจกรรมหรือไม่ ซึ่งกิจกรรมที่จะจัดขึ้นส่วนใหญ่ก็จะคล้ายกับกิจกรรมที่จัดขึ้นที่ส่วน กลาง
ต้อหิน ถือเป็นภัยเงียบ เป็นโรคอันตรายที่มาเงียบๆ ไม่แสดงอาการเจ็บปวด ขณะที่คนไทยมีวัฒนธรรมไม่ชอบพบแพทย์เมื่อไม่มีอาการป่วยไข้ ดังนั้น การตรวจร่างกายประจำปี อย่าลืมบอกแพทย์เพื่อขอตรวจตาร่วมด้วย โรงพยาบาลทั่วไปที่มีจักษุแพทย์ก็สามารถทำการตรวจได้ ไม่จำเป็นต้องแห่เข้ามาตรวจในงานสัปดาห์ต้อหินเพียงจุดเดียว
"ต้อหินใช้เวลาตรวจเพียงแค่ 15-60 นาที ก็สามารถรู้ผลได้ ไม่เสียเวลามาก และหากตรวจพบว่าเป็นโรคต้อหิน จำเป็นต้องทำการรักษาและเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ตลอด เพราะโรคต้อหินจัดเป็นโรคเรื้อรัง เหมือนเบาหวาน ความดัน ไม่ควรหยุดยาเอง"น.พ.บุญส่ง วนิชเวชารุ่งเรือง กล่าวสรุป
ติดต่อ:
www.thaiglaucoma.org