ฟิทช์ปรับแนวโน้มเครดิตของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นบวก

ข่าวทั่วไป Tuesday November 30, 2004 12:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับแนวโน้มเครดิตของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เป็นบวกจากเดิมที่ระดับมีเสถียรภาพ เป็นผลมาจากผลประกอบการของบริษัทที่ดีเกินความคาดหมายโดยได้รับอานิสงค์จากระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และการคาดหมายว่าปตท. จะนำเงินสดส่วนเกินที่ได้ไปขยายการลงทุนต่อในธุรกิจหลักขณะที่การลงทุนใหม่คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสถานะการเงินของบริษัท ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ของ ปตท. ระยะยาวที่ระดับ “AA+(tha)” และระยะสั้นที่ระดับ “F1+(tha)” นอกจากนี้ยังให้คงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ “AA+(tha)” ของหุ้นกู้ไม่มีประกันของ ปตท. ซึ่งมีมูลค่ารวมกัน 3.4 หมื่นล้านบาท
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำอันโดดเด่นของ ปตท. ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในประเทศไทย ความสำคัญของ ปตท. ที่เกี่ยวข้องในการสนองนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านพลังงานในประเทศไทย รวมถึงการกำหนดทิศทางการพัฒนากิจการพลังงานของประเทศ อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การสนับสนุนจากรัฐบาล และคณะผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดี ปตท. ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การจัดหาและการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในประเทศไทย เนื่องจาก ปตท. มีเครือข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ครอบคลุมพื้นที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในประเทศ และมีสัญญาการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ทุกรายในประเทศ นอกจากนี้การใช้เงินลงทุนที่สูงในการเริ่มต้นก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้มีส่วนช่วยจำกัดผู้ลงทุนรายใหม่อีกด้วย ปตท. ยังเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยโดยผ่านการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. โดยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมมากที่สุดและมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมสูงเป็นอันดับที่สองในประเทศไทย อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทที่แข็งแกร่งและมั่นคงของปตท. ผลประกอบการของธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้กับ ปตท. ในสัดส่วนประมาณ 90% ของ EBITDA รวมของบริษัท มีความผันผวนทางธุรกิจน้อย เนื่องจากการที่ ปตท. มีสัญญาการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติระยะยาว มีโครงสร้างราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. สามารถส่งผ่านต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. รับซื้อไปให้กับผู้ซื้อได้ อีกทั้งราคาก๊าซธรรมชาติยังมีการความผันผวนที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมัน
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานของ ปตท. ในปี 2547 EBITDA ของ ปตท. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15% เป็น 6.24 หมื่นล้านบาทในปี 2546 เมื่อเปรียบเทียบกับ EBITDA ของปี 2545 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2546 เป็น 5.86 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2547 สถานะทางการเงินของ ปตท. ยังคงความแข็งแกร่งถึงแม้จะมียอดการลงทุนที่สูงและมีการเพิ่มขึ้นของความต้องการเงินทุนหมุนเวียน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2547 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิ (รวมเงินลงทุนระยะสั้น) ต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (Total Debt/EBITDA) ยังคงที่ที่ระดับ 1 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA/Interest Expense) เพิ่มขึ้นเป็น 9.7 เท่าใน 9 เดือนแรกของปี 2547 จากระดับ 7.7 เท่าในปี 2546
อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงแผนการลงทุนในอนาคตของ ปตท. ที่อยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อความผันผวนของราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบและข้อบังคับ รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ปตท. ได้
ปตท. ได้มีการปรับแผนการลงทุนใหม่ในช่วงปี 2547-2551 เพิ่มขึ้นเป็น 1.71 แสนล้านบาทจากระดับ 1.54 แสนล้านบาท ณ เดือนพฤษภาคม 2547 โดย ปตท. จะเน้นการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและการลงทุนผ่านบริษัทร่วมทุนในธุรกิจสายปิโตรเคมี ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้กับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ถึงแม้จะมีการสร้างภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นผ่านการลงทุนใหม่ อัตราส่วนหนี้สินของ ปตท. น่าจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำในระยะเวลาสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ถ้า ปตท. มีการเข้าลงทุนใน บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ อัตราส่วนหนี้สินของ ปตท. อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ในปี 2544 รัฐบาลได้ขายหุ้นของ ปตท. ออกไปบางส่วนและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตามรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ปตท. โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ระดับ 52% และเป็นที่คาดการณ์ว่ารัฐบาลจะยังคงรักษาความเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ปตท. ต่อไป นอกจากนี้ ปตท. ยังถือหุ้น 65% ใน ปตท. สผ. อีกด้วย
สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หาได้จาก
www.fitchresearch.com หรือ ติดต่อ
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, ผู้ช่วยกรรมการ, Corporates +662 655 4760
วสันต์ ผลเจริญ, นักวิเคราะห์, Corporates +662 655 4763
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ +662 655 4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ