กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ทีวีบูรพา
ดอกไม้สีเหลืองทอง สดสวย นามว่า “ทานตะวัน” เป็นมนตราตรึงใจให้กับผู้ที่ได้ชื่นชม นอกจากความสวยงามที่ทานตะวันมอบให้แล้ว ยังมอบคุณค่านานับปการให้แก่โลกใบนี้อีกด้วย
ทานตะวัน เป็นพืชท้องถิ่นปลูกในประเทศเม็กซิโก มาตั้งแต่ 2600 ปีก่อนคริสตกาลที่มาของชื่อ ทานตะวัน ตามตำนานเล่าว่า มีนางไม้ตนหนึ่งเฝ้ามองและหลงรักเทพอพอลโล (เทพแห่งดวงอาทิตย์) จนร่างนั้นกลายเป็นลำต้น หัวใจกลายเป็นใบ หน้าเป็นดอกไม้ ผมเป็นกลีบดอกสีเหลืองทอง และได้แต่หันหน้าตามแสงของพระอาทิตย์ ดอกทานตะวันจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดีในความรัก มีความหวัง ยิ่งทะนง อดทน สมกับชื่อ
กบนอกกะลาจะพาเพลิดเพลินเข้าไปในโลกของ ดอกทานตะวัน ไปยังสถานที่ที่รายล้อมไปด้วยทานตะวันที่มีการปลูกไว้ไม่ต่ำกว่า200ล้านต้น ที่นั่นก็คือ จังหวัดลพบุรี โดยในช่วงเดือนกันยายน ถึงเดือนพฤศจิกายน พื้นที่ที่ว่างเว้นจากการปลูกพืชเกษตรหลักในท้องถิ่นอย่างข้าวโพด ข้าวฟ่าง ชาวไร่ก็จะหันมาปลูกทานตะวันเพื่อช่วยรักษาและเพิ่มแร่ธาตุในดิน จนเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวเดือนธันวาคม ดอกทานตะวันก็จะบานสะพรั่งเหลืองอร่ามเต็มทุ่ง ใครผ่านไปผ่านมา ก็ต้องอดใจไม่ไหวที่จะต้องมาถ่ายรูปคู่กับดอกทานตะวัน ก่อนที่ดอกของทานตะวันจะค่อยๆเริ่มแห้งเหี่ยว ซึ่งหลังจากนี้นอกจากความสวยงามที่ให้เราได้ชื่นชมแล้ว ดอกที่แห้งเหี่ยวก็ยังให้เมล็ดที่อุดมไปด้วยวิตามินอี และกรดไขมันไลโนเลอิค ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย ซึ่งชาวไร่ก็จะเก็บเกี่ยวดอก เพื่อให้ได้เมล็ดทานตะวันจำนวนมากส่งเข้าสู่โรงงานแปรรูปเมล็ดทานตะวัน เมล็ดขนาดใหญ่จะถูกนำไปคั่วส่งขายให้คนทั่วประเทศบริโภค ส่วนเมล็ดเล็กๆ ก็จะถูกนำมาทำเป็นน้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน ซึ่งเมล็ดทานตะวันเม็ดจิ๋วๆ ที่ไม่ได้มีคุณค่าจิ๋วเท่าตัว แต่กลับอัดแน่นไปด้วยคุณค่า ความรู้ ผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมายที่รอให้เราเดินทางไปค้นหา และการตามหาความรู้ของเจ้าดอกไม้ที่ไม่ธรรมดาชนิดนี้ก็ยังทำให้เราพบว่า ดอกทานตะวันนั้นไม่ได้มีเพียงแค่สีเหลืองอย่างที่เรารู้จักกัน ทานตะวันจะมีสีอะไรอีกบ้าง โลกของทานตะวันจะยิ่งใหญ่มากกว่าเป็นเพียงแค่ดอกไม้แสนสวยอย่างไร
ติดตามเรื่องราวของทานตะวัน สุริยันบานแฉ่ง ในกบนอกกะลา วันอาทิตย์ ที่ 24 กุมภาพันธ์ เวลา 14.00 น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี