กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--สถาบันอนาคตไทยศึกษา
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (“สถาบันฯ”) ออกรายงาน TFF Policy Roundtable ในหัวข้อ “หลากความเห็น หลายทรรศนะ ต่อร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนไทยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)” แสดงความเห็นต่างด้านจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการวางแผนกลยุทธ์ระดับประเทศ สนับสนุนความจำเป็นในการปฏิรูปยุทธศาสตร์ของ BOI เพื่อรับมือกับสถานการณ์โลกและประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ต้องยกระดับให้เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศด้วยเพื่อให้สอดคล้องกัน แนะเพิ่มมิติของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับภาควิชาการ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจกระแสหลัก พร้อมกระตุ้น BOI ให้ยกระดับบทบาทเป็นองค์กรระดับประเทศ ทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดเผยว่า “เมื่อกลางเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ได้มีการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ : เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้พูดถึงการกำหนดทิศทางการลงทุนของประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ระหว่างปี 2556-2560) ถือได้ว่ายุทธศาสตร์นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ BOI เลยทีเดียว และเพื่อให้สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์นี้อย่างสร้างสรรค์และบนพื้นฐานจากหลากหลายมุมมอง สถาบันฯ จึงได้จัดวงสนทนา TFF Policy Roundtable ครั้งพิเศษเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จริงในการวางแผนกลยุทธ์ระดับประเทศ อาทิ ศาสตราพิชาน ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ศาสตราพิชาน ดร. ทนง พิทยะ คุณสมพล เกียรติไพบูลย์ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ และดร. อุตตม สาวนายน ซึ่งเนื้อหาที่ได้จากวงสนทนานับว่ามีความน่าสนใจ และน่าเป็นประโยชน์ต่อทั้ง BOI ในฐานะผู้จัดทำยุทธศาสตร์ ต่อนักลงทุนในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และต่อสาธารณชนที่ต้องการบริโภคข้อมูลในหลากหลายมิติ”
ทั้งนี้ ผู้ร่วมสนทนาทุกท่านมีความเห็นตรงกันว่าการเปลี่ยนแปลงของ BOI ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะยุทธศาสตร์แบบเดิมอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป นอกจากนี้ ทิศทางและเป้าหมายของยุทธศาสตร์ใหม่ก็มาถูกทางแล้ว แต่ควรยกระดับให้เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศด้วยเพื่อให้สอดคล้องกัน และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคใหม่ของ BOI ไม่ควรถูกจำกัดเฉพาะบทบาทที่ทำได้ในปัจจุบัน หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะภายในองค์กรเท่านั้น มิฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นเพียงแค่การปรับเป้าหมาย (Refocus) ของ BOI เท่านั้น
สำหรับยุทธศาสตร์ใหม่ 6 ด้าน ทุกท่านเห็นว่ามีความครบถ้วนแล้ว แต่แนะว่าให้ศึกษาและเพิ่มเติมรายละเอียดใน 3 เรื่องเพื่อให้ร่างแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งได้แก่ หนึ่ง การส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน (Focus) ที่ต้องเพิ่มมิติของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละอุตสาหกรรม และต้องกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้คนไทยเพื่อทำให้ยุทธศาสตร์ตอบโจทย์ได้ชัดเจนมากขึ้น สอง การสนับสนุนในรูปแบบของการอุดหนุน (Subsidy) โดยภาครัฐถือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นมากๆ สำหรับกิจการที่ BOI ต้องการส่งเสริมให้เกิดจริงๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน และสุดท้ายคือ การสร้างคลัสเตอร์ในระดับภูมิภาค (Regional cluster) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง แต่การจะทำให้เกิดคลัสเตอร์ได้จริง จะต้องมีการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายหลักของประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานของรัฐทำงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเป็นอิสระจากการบริหารส่วนกลาง และที่สำคัญ ต้องสร้างความเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ผู้ร่วมสนทนายังได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของ BOI ในอนาคตว่าควรจะระบุถึงวิธีการหรือแนวทางดำเนินการเพื่อให้ประเทศก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้มากขึ้น โดยคำนึงถึงการสร้างอุตสาหกรรมในระดับภาคและการเพิ่มผลิตผลของประเทศให้แก่แรงงานไทย การเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจกระแสหลักเพื่อให้อัตราการเติบโตของไทยเป็นไปอย่างยั่งยืนผ่านการกระจายรายได้ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้แก่กิจการ
ทั้งนี้ หากต้องการผลักดันให้แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของ BOI บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล BOI จะต้องเล่นบทบาทในการดูแลภาพรวมของการส่งเสริมการลงทุนให้มากขึ้น ต้องนำกฎหมายที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และที่สำคัญ BOI ต้องยกระดับฐานะองค์กรให้เป็น “องค์กรระดับประเทศ” ที่ทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น และต้องไม่ทำงานเสมือนหนึ่งเป็นกรมในกระทรวงเท่านั้น
สำหรับท่านที่สนใจ สามารถอ่านรายละเอียดแบบครบถ้วนของ TFF Policy Roundtable ในหัวข้อ “หลากความเห็น หลายทรรศนะ ต่อร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนไทยของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)” หรือดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้จากเว็บไซด์ของสถาบันอนาคตไทยศึกษา (http://www.thailandfuturefoundation.org)