สภาหอการค้าฯ-สภาอุตสาหกรรมฯ-สถาบันอาหาร-ชี้แนวโน้มส่งออกอาหารไทยปี 56...ฝ่าค่าเงินบาทแข็ง โตร้อยละ 6 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท

ข่าวทั่วไป Friday February 22, 2013 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.-- 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดย สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันอาหาร สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2555 ภาคการผลิตหดตัวลงร้อยละ 2 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ภาคการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 0.8 ด้วยมูลค่า 971,689 ล้านบาท เผยข้าว กุ้ง และผักผลไม้แปรรูป กระทบหนัก หดตัวลงร้อยละ 27.1, 12.5 และ 7.3 ตามลำดับ เหตุเจอพิษเศรษฐกิจตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ส่วนอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน ตลาดขยายตัวดีในอัตราร้อยละ 9.7, 5.8 และ 19.1 แนะจับตา ข้าว กุ้ง ทูน่าแปรรูป และสับปะรด อาจสูญเสียศักยภาพการแข่งขัน พบส่วนแบ่งในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง...คาดปี 2556 ภาคการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 6.0 ด้วยมูลค่า 1,030,000 ล้านบาท ชี้ไก่และสัตว์ปีก มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง ปลากกระป๋องและปลาแปรรูป เครื่องปรุงรส และทูน่าแปรรูป เป็นสินค้าดาวเด่นในปีนี้ ส่วนน้ำตาลทราย และผักผลไม้สด อาจต้องเผชิญปัญหาภัยแล้ง หวั่นแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทจะกระทบมูลค่าส่งออก หากค่าเงินแข็งขึ้นอีก 1 บาท จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.9 อยู่ที่มูลค่า 1,009,600 ล้านบาท ขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ข้าว, ผักผลไม้แปรรูป, ปลาแปรรูป, กุ้ง และเครื่องปรุงรส จะต้องรับศึกหนัก ทั้งอาจเสียเปรียบการแข่งขันในสินค้า ข้าว กุ้ง ปลาทะเลแปรรูป กับเวียดนามมากขึ้น การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง สรุปภาวะอุตสาหกรรม อาหารไทยในปี 2555 และคาดการณ์แนวโน้มส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2556 มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center โดยพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารในปี 2555 หดตัวลงร้อยละ 2.6 ซึ่งหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นจำหน่ายในประเทศยังขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยสรุปภาพรวมการส่งออกอาหารไทยปี 2555 มีมูลค่า 971,689 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ทั้งนี้สัดส่วนสินค้าอาหารส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกของไทยในปี 2555 ได้แก่ ข้าว ร้อยละ 14.6, น้ำตาลทราย ร้อยละ 12.5, กุ้ง ร้อยละ 9.9, ปลาทูน่ากระป๋องและแปรรูป ร้อยละ 8.4 และไก่และสัตว์ปีก ร้อยละ 7.4 ตามลำดับ โดยสินค้าที่มีอัตราขยายตัวของการส่งออกค่อนข้างสูง คือมากกว่าร้อยละ 10 ได้แก่ น้ำตาลทราย ร้อยละ 11.7 , ปลาทูน่ากระป๋องและแปรรูป ร้อยละ 19.1, ไก่และสัตว์ปีก ร้อยละ 10.3, ผักผลไม้สด ร้อยละ 21.7, อาหารสัตว์ ร้อยละ 16.6 และปลากระป๋องและปลาแปรรูป ร้อยละ 22.7 ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว มีอัตราลดลงร้อยละ 27.1, กุ้งแช่แข็งและกุ้งแปรรูป ลดลงร้อยละ 12.5 และผักผลไม้แปรรูป ลดลงร้อยละ 7.3 อย่างไร ก็ตาม สินค้าอาหารส่งออกทั้งสามกลุ่มดังกล่าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในอันดับที่ 1, 3 และ 6 ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนส่งออกรวมกันสูงถึงร้อยละ 31 ดังนั้นการหดตัวของทั้ง 3 กลุ่มสินค้า จึงส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อภาพรวมส่งออกอาหารไทยในปี 2555 นายเพ็ชร กล่าวว่า “ในปี 2555 การส่งออกไปยังตลาดภายในภูมิภาค อาทิ อาเซียน ญี่ปุ่น และจีน ขยายตัวดีในอัตราร้อยละ 9.7, 5.8 และ 19.1 ตามลำดับ ส่วนตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หดตัวลงร้อยละ 9.8 และ 6.4 ตามลำดับ ทั้งนี้อาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย โดยมีสัดส่วน ร้อยละ 22.4 รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น ร้อยละ15.3, สหรัฐฯ ร้อยละ11.5, สหภาพยุโรป ร้อยละ 10.9, แอฟริกา ร้อยละ 9.7, และจีน ร้อยละ 8.8 ตามลำดับ โดยไทยมีส่วนแบ่งในตลาดอาหารโลกอยู่ในอัตราคงที่คือร้อยละ 2.57 และมีสถานะเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลกเช่นเดียวกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามพบว่า ไทยเริ่มสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันในสินค้า ข้าว กุ้ง ทูน่าแปรรูป และสับปะรด พิจารณาได้จากส่วนแบ่งตลาดโลกที่ลดลง โดยเฉพาะข้าวที่ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 มายาวนาน แต่ในปี 2555 ไทยตกมาเป็น ผู้ส่งออกอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และเวียดนาม ส่วนการส่งออกกุ้ง ทูน่าแปรรูป และสับปะรด แม้ไทยจะรักษาความเป็นผู้นำตลาดโลกไว้ได้ แต่ส่วนแบ่งตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ส่วนสินค้าส่งออกหลัก 3 รายการที่ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่ ซึ่งในภาพรวมรูปแบบสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยยังคงเป็นสินค้าอาหารสดและแปรรูปเบื้องต้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58 ส่วนสินค้าอาหารสำเร็จรูปมีเพียงร้อยละ 38 ของอาหารส่งออกทั้งหมด” สำหรับแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในปี 2556 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 1,030,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ที่จะขยายตัวร้อยละ 3.5 เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 3.3 ในปี 2555 โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียที่เริ่มฟื้นตัว ทั้งมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในบริบทต่างๆ ในรูปของการค้าเสรีและหุ้นส่วนเศรษฐกิจภายในภูมิภาคล้วนช่วยผลักดันการค้าภายในภูมิภาคให้ขยายตัวมากขึ้น นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า สินค้าส่งออกที่คาดว่าจะมีการขยายตัวสูงในปี 2556 ประกอบด้วย 6 กลุ่มได้แก่ ไก่และสัตว์ปีก คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกกว่า 82,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.5 โดยได้รับแรงหนุนจากการที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้นำเข้าไก่สดจากไทยได้ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา รวมทั้งตลาดหลักในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อาจเปิดตลาดไก่สดให้กับไทยในอนาคตอันใกล้ มันสำปะหลัง คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกกว่า 69,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.4 หากวัตถุดิบหัวมันสดมีปริมาณเพียงพอ โดยมีจีนเป็นตลาดใหญ่ อาหารสัตว์เลี้ยงจำพวกอาหารสุนัขและแมวเป็นหลัก คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออก 27,300 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.7 ปลากระป๋องและปลาแปรรูป คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออก 27,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.8 เครื่องปรุงรส (ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา น้ำมันหอย พริกแกงสำเร็จรูป ผงปรุงรส ฯลฯ) คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกกว่า 17,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ทูน่าแปรรูป มีแนวโน้มเติบโตดีทุกสภาพเศรษฐกิจ คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกราว 87,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.0 ปัจจุบันราคาวัตถุดิบทูน่าที่ปรับตัวลดลง รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมทูน่า เพราะมีสัดส่วนนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศสูงถึงร้อยละ 90 ขณะที่ น้ำตาลทราย และผัก ผลไม้สด คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 6.6 และ 1.6 ตามลำดับ เนื่องจากภัยแล้งทำให้น้ำตาลจากอ้อยมีคุณภาพลดลง ประกอบกับจีนมีแนวโน้มลดการนำเข้าน้ำตาลลง อย่างไรก็ตามจากปัจจัยเสี่ยงแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยแต่ละประเภทจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้า (Import content) จากปัจจัยนี้เองหากเดิมคาดการณ์ว่าการส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1,030,000 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวร้อยละ 6.0 ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อสมมติค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท มาอยู่ที่ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลงประมาณ 20,400 ล้านบาท หรือลดลงประมาณร้อยละ 2.0 นั่นคือ การส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1,009,600 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.9 ทั้งนี้สินค้าอาหารของไทยที่เสียเปรียบในการแข่งขันให้กับประเทศคู่แข่งเมื่อพิจารณาเฉพาะสถานการณ์ค่าเงินในปัจจุบัน ได้แก่ เวียดนาม (ข้าว มันสำปะหลัง อาหารทะเล เช่น กุ้ง ทูน่า และปลาแช่แข็ง)อินโดนีเซีย (สับปะรดแปรรูป อาหารทะเล เช่น กุ้ง ทูน่า ปลาทะเลแช่แข็ง และปลาหมึก) อินเดีย (ข้าว อาหารทะเล เช่น กุ้ง เป็นต้น) จีน (ไก่ อาหารทะเล เช่น กุ้ง ทูน่า ปลาทะเลแช่แข็งและแปรรูป ปลาหมึก) ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศที่ไทยอาจเสียเปรียบในการแข่งขันมากที่สุด เนื่องจากค่าเงินดองไม่ได้แข็งค่าตามค่าเงินในภูมิภาค แต่กลับอ่อนค่าลงร้อยละ 0.21 ทำให้ ข้าว กุ้ง ปลาทะเลแปรรูป มีแนวโน้มแข่งขันได้ยากขึ้น และยิ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนด้านอื่น เช่น ค่าจ้างแรงงานจะทำให้ไทยเสียเปรียบมากขึ้น โดยสรุปสินค้าอาหาร 5 อันดับแรก ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแข็งค่าของเงินบาท เมื่อแข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทจะทำให้มูลค่าส่งออกลดลงดังนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่าส่งออกจะลดลงจากเดิม ร้อยละ 3.8 , ข้าว จะลดลงจากเดิมร้อยละ 3.5, ผักผลไม้แปรรูป จะลดลงจากเดิมร้อยละ 3.1, ปลาแปรรูป จะลดลงจากเดิมร้อยละ 3.0, กุ้งและเครื่องปรุงรส จะลดลงจากเดิมร้อยละ 2.4 เท่ากันกับกุ้งและเครื่องปรุงรส ทั้งนี้หากเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลให้การส่งออกสินค้า 2 กลุ่ม ได้แก่ กุ้งและปลาแช่แข็งมีมูลค่าลดลงในปี 2556 จากที่คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวก “สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารไทยในปีที่ผ่านมารวมทั้งแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอาหารไทย มีประเด็นสำคัญที่ควรดำเนินมาตรการในการรับมือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่ารายใหญ่ รวมทั้งมีปัญหา และข้อจำกัดในการปรับตัว ซึ่งภาครัฐควรมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการบรรเทาผลกระทบกับผู้ประกอบการเหล่านี้ 2) สินค้าอาหารของไทยหลายรายการเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดโลก จำเป็นต้องวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคเพื่อดำเนินมาตรการที่ยั่งยืน 3) แนวโน้มตลาดอาหารในภูมิภาคขยายตัวดีกว่าตลาดหลักในประเทศพัฒนา ซึ่งไทยควรแสวงหาช่องทางการตลาดในภูมิภาค เช่น ตลาดจีน กลุ่มประเทศ CLMV ที่ตลาดกำลังเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูง 4) หลายอุตสาหกรรมมักจะประสบปัญหาด้านวัตถุดิบ จึงควรมีแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อลดข้อจำกัด 5) ต้นทุนการผลิตภายในประเทศเริ่มสูงขึ้น ทั้งประชากรมีรายได้สูงขึ้น ไทยมีแนวโน้มกำลังจะถูกประเทศพัฒนาระงับสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ในอนาคตอันใกล้ ควรทำวิจัยและพัฒนารูปแบบสินค้าเพื่อตอบสนองตลาดเฉพาะกลุ่ม ลดการแข่งขันกับสินค้าในตลาดล่าง” นายเพ็ชร กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ