ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อหาข้อสรุปการซื้อขายไฟฟ้า และการเชื่อมต่อโครงข่าย

ข่าวทั่วไป Wednesday December 1, 2004 10:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--สนพ.
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อหาข้อสรุปการซื้อขายไฟฟ้า และการเชื่อมต่อโครงข่าย โดยการประชุมครั้งนี้ไทยเตรียมผลักดันความร่วมมือในเรื่องภาคพลังงานทดแทน (Bio-Fuel) และไฟฟ้าร่วมกัน
นายวิเศษ จูภิบาล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2547 นี้ กระทรวงพลังงานร่วมกับธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมคณะกรรมการประสานความร่วมมือการซื้อขายไฟฟ้าอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (RPTCC ครั้งที่ 2) และการประชุมคณะกรรมการเจ้าหน้าที่อาวุโสสาขาพลังงานไฟฟ้า (EPF ครั้งที่ 11) เพื่อพิจารณาข้อตกลงความร่วมมือการซื้อขายไฟฟ้าในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง มีผู้แทน 6 ประเทศ เข้าร่วม ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สปป.ลาว สหภาพพม่า กัมพูชา เวียดนาม และไทย ณ โรงแรมแชงกรีล่า
การประชุมครั้งนี้ 6 ประเทศ จะพิจารณาร่วมกันถึงการจัดทำข้อตกลงปฏิบัติการทางเทคนิคเพื่อดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าในกลุ่มประเทศ (Regional Power Trade Operating Agreement - PTOA) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตลอดจนการวางแผนงานซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต (Work Plan) นอกจากนี้จะมีการหารือระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว และเวียดนาม เกี่ยวกับการจัดทำโครงการนำร่องเครือข่ายสายส่งระหว่าง 3 ประเทศ และระหว่างไทย ลาว และจีน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า ที่ไทยจะรับซื้อไฟฟ้าจากจีน จำนวน 3,000 เมกะวัตต์
และเพื่อผลักดันการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ประเทศไทยจะมีข้อเสนอที่สำคัญต่อที่ประชุมให้พิจารณาเห็นชอบในการขยายขอบเขตความร่วมมือที่นอกเหนือจากสาขาพลังงาน ไฟฟ้าไปสู่พลังงานอื่นๆ โดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทน ได้แก่ เอทานอล ไบโอดีเซล พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
นายวิเศษ กล่าวต่อว่า ประโยชน์ของความร่วมมือด้านการสร้างเครือข่ายสายส่งในอนุภูมิภาค ซึ่งศึกษาโดยธนาคารโลก (World Bank) จะทำให้ทุกประเทศลดต้นทุนด้านพลังงานเป็นมูลค่ารวมถึง 400,000 ล้านบาท ในช่วง 20 ปีข้างหน้า การลดการก่อมลภาวะด้านปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Gas Effects) ได้ 16,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นการนำศักยภาพเชื้อเพลิงพลังน้ำที่สะอาดและมีประมาณกว่า 100,000 เมกะวัตต์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในอนุภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น และเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ