เอ็น.ซี.ซี.ฯ ขานรับนโยบายรัฐบาลในการเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและแสดงสินค้าในภูมิภาค เอเชีย คาดธุรกิจไมซ์ปี 48 เติบโต 15-20%

ข่าวทั่วไป Wednesday December 1, 2004 11:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์
บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประกาศทิศทางการดำเนินของบริษัทฯ ในปีหน้า มุ่งเน้นการเป็นผู้นำในการสร้างมิติใหม่ด้านการบริหารจัดการประชุมและแสดงสินค้าระดับนานาชาติ โดยเจาะกลุ่มลูกค้า Niche Market พร้อมชูภาพลักษณ์ความเป็นศูนย์การประชุมแห่งชาติด้วยแนวคิด National Heritage at World Standard ตอกย้ำความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานอย่างมืออาชีพที่มีมาตรฐานการบริการระดับโลก มั่นใจปี 2548 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียที่ผู้จัดงานนานาชาติต่างให้ความสนใจและยอมรับในศักยภาพทางด้านทรัพยากรธรรมชาติทางด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น
นายฤกษมัย สุขุม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการจัดประชุม สัมมนา และการแสดงสินค้า หรือที่เรียกว่าไมซ์ (MICE; Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions) ในปี 2548 จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแถบภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากธุรกิจไมซ์เอื้อต่อการสร้าง Economic Impact ให้กับประเทศ โดยในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้มีการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า เพื่อรองรับความต้องการของผู้จัดงานระดับนานาชาติที่เล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นและความพร้อมทางด้านทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยว การคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ในแต่ละปีมีนักเที่ยวจากกลุ่มไมซ์คิดเป็นสัดส่วน 4% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางมาประเทศไทย ซึ่งรายได้จากธุรกิจไมซ์เฉลี่ยแล้วสูงถึง 10% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด
“ในส่วนของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือ QSNCC เป็นศูนย์การประชุมแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและเป็นผู้ริเริ่มธุรกิจไมซ์ให้เป็นที่รู้จัก ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จึงได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลกให้เป็นตัวแทนของศูนย์ประชุมแห่งชาติที่มีความชำนาญในการบริหารงานอย่างมืออาชีพ สำหรับทิศทางการดำเนินของบริษัทฯ ในปี 2548 นั้น บริษัทฯ มุ่งเน้นการเป็นผู้นำในการสร้างมิติใหม่ด้านการบริหารจัดการประชุมและแสดงสินค้า โดยเจาะกลุ่มลูกค้า Niche Market มากขึ้นเน้นผู้มาใช้บริการทางด้านการประชุม นิทรรศการแสดงสินค้า และทางด้านกิจกรรมพิเศษ ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าในปี 2548 จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 15-20%”
นายฤกษมัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยของการเติบโตของธุรกิจไมซ์มาจากแผนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปี 2547-2551 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่มีแนวทางในการชักชวนนานาชาติเข้ามาจัดกิจกรรมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันพบว่าประเทศไทยสามารถดึงงานประชุมนานาชาติเข้ามาจัดในประเทศกว่า 60 งาน มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 66,000 คน ซึ่งนำรายได้เข้าประเทศกว่า 3,000 ล้านบาท อีกทั้งรัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน. หรือ TCEB) รับผิดชอบดูแลด้านการนำงานประชุมและแสดงสินค้าเข้ามายังประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดการประชุมนานาชาติและงานแสดงสินค้านานาชาติในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ International Congress & Convention Association (ICCA) ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการจัดงานในลำดับที่ 21 ของโลก
ทางด้านนางวนิดา ดุละลัมพะ รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวเสริมว่า บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เล็งเห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจไมซ์ จากการจัดงานประชุม นิทรรศการ และงานแสดงสินค้าจากทั้งในประเทศและต่างประเทศที่หลั่งไหลกันเข้ามาจัดงานในประเทศไทย ด้วยศักยภาพที่โดดเด่นและเพียบพร้อมทางทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านธุรกิจของภูมิภาคนี้ และเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และตอกย้ำความเป็นผู้นำของธุรกิจที่บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เป็นผู้จุดประกายและริเริ่มดำเนินการธุรกิจประเภทนี้ในประเทศไทย บริษัทฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของชิ้นงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเน้นสื่อสิ่งพิมพ์ต่างประเทศเป็นหลัก และสื่อกลางแจ้ง รวมไปถึงโบรชัวร์แนะนำองค์กร (Company Brochure) ผังแสดงพื้นที่ศูนย์ฯ (Floor Plan) วิดีทัศน์แนะนำองค์กร (VDO Presentation) และเว็บไซต์ (www.qsncc.com) ภายใต้แนวคิด “National Heritage at World Standard” ซึ่งจะทยอยเผยแพร่สู่สาธารณชนในช่วงต้นปีหน้า
“National Heritage at World Standard หมายความถึงศูนย์การประชุมที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมและมรดกของชาติที่มีความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมไทย ศิลปะขนบธรรมเนียมประเพณี มรดกศิลปวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่ยุคโบราณกาลจวบจนปัจจุบันได้ถูกถ่ายทอดไว้หลากหลายรูปแบบ ทั้งในด้านการออกแบบตัวอาคาร จิตรกรรม ประติมากรรมโลหะ หิน ไม้ การแกะสลัก และหนังสัตว์ เป็นต้น ซึ่งได้รวบรวมศิลปกรรมต่างๆ เหล่านี้จากภาคต่างๆ ของประเทศมาจัดแสดงไว้ในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้อย่างลงตัว ซึ่งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเผยแพร่ภาพลักษณ์และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย บนมาตรฐานการให้บริการระดับโลกด้วยความชำนาญการและความเป็นมืออาชีพของบุคลากรผสานกับจิตใจที่พร้อมให้บริการและความโอบอ้อมอารี ซึ่งเป็นเสน่ห์และความงดงามของคนไทย ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นความภูมิใจของคนไทย สมเป็นมรดกแห่งชาติที่มีมาตรฐานระดับโลก”
นางวนิดา ดุละลัมพะ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของชิ้นงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์แล้ว บริษัทฯ ยังเน้นการเพิ่มคุณค่าทางด้านการบริการ (Value Added) ด้วยบริการเสริมที่สร้างความแตกต่างเหนือศูนย์การประชุมอื่นๆ อาทิ การนำกลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management; CRM) การใช้เครื่องมือการสื่อสารทางการตลาดแบบผสมผสาน (Integrated Marketing Communications; IMC) และการร่วมมือของพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อจัดแคมเปญส่งเสริมและสนับสนุนการตลาด อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของทั้งผู้จัดงานและผู้เข้าชมงาน
นายปณิธาน บำราศอรินทร์พ่าย ผู้อำนวยการฝ่ายจัดงานประชุม (Professional Convention Organizer; PCO) กล่าวถึงธุรกิจการจัดประชุมในปีนี้ว่า ฝ่าย PCO ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล องค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้เป็นผู้บริหารจัดงานประชุมระดับนานาชาติ 3 งานใหญ่ด้วยกันคือ การประชุมสมัชชาการศึกษาและนิทรรศการด้านการศึกษา โดยองค์การซีมีโอและยูเนสโก การประชุมสมัยสามัญประเทศภาคีว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธ์ ครั้งที่ 13 (The 13th Meeting of the Conference of the Parties to CITES/COP 13) การประชุมใหญ่สมัชชาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก ครั้งที่ 3 (The 3rd IUCN World Conservation Congress) สาเหตุที่ฝ่าย PCO ได้รับความไว้วางใจมาจาก ศักยภาพของบริษัทฯ ที่มีทีมงานมีประสบการณ์ทางด้านการบริหารจัดงานประชุม การมีเครือข่ายทางธุรกิจ การมีสถานที่จัดประชุมที่อยู่ในความดูแลของบริษัทฯ และเหนือสิ่งอื่นใดคือ การบริการด้านการจัดการอย่างครบวงจร ประกอบด้วย งานด้านเลขานุการ งานด้านการจองโรงแรมและที่พัก งานระบบลงทะเบียน การบริหารงานระหว่างการประชุม งานด้านกิจกรรมพิเศษระหว่างงานประชุม งานด้านประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย งานด้านการจัดหาผู้สนับสนุนการจัดงาน เป็นต้น ทั้งนี้ทีมงานของฝ่าย PCO ได้รับการอบรมในหลักสูตรการจัดงานประชุมมืออาชีพ ซึ่งเป็นหลักสูตรของ The International Association of Professional Congress Organisers (IAPCO) สถาบันชั้นนำในประเทศเบลเยี่ยมที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
“สำหรับในปี 2548 ฝ่าย PCO ได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของบริษัทฯ โดยเน้นการจัดงานประชุมให้กับภาครัฐและเอกชน มุ่งเน้นการให้บริการอย่างครบวงจรและตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยใช้จุดแข็งของการเป็น PCO ของบริษัทฯ นั่นคือ การทำงานเป็นทีม ซึ่งเมื่อได้รับมอบหมายงานจากลูกค้าจะมีการจัดตั้งคณะทำงานที่มาจากหลายฝ่ายที่มีความชำนาญพิเศษเฉพาะด้านร่วมวางแผนและปฏิบัติร่วมกัน ส่วนงานใหญ่ระดับนานาชาติที่จะจัดขึ้นในปี 2548 คือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 11 (The 11th UN Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-25 เมษายน 2548 โดยใช้พื้นที่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ทางด้านนางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (NEO) บริษัทน้องใหม่ในเครือ ดูแลบริหารการจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดโดยรวมของธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการประมาณ 8,994 ล้านบาท โดยในปี 2547 เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของปีที่ผ่านมา และตัวเลขของการขยายตัวของจำนวนผู้เข้าชมงานทั้งนักธุรกิจและผู้สนใจทั่วไปประมาณ 10-12% ต่อปี
“พฤติกรรมของผู้เข้าชมงานแสดงสินค้าและนิทรรศการในปัจจุบันมีความคาดหวังสูงขึ้น เพราะฉะนั้นผู้จัดงานต้องมีการสร้างสีสันและความแปลกใหม่ในการจัดงาน พร้อมทั้งจัดสัมมนาทางวิชาการ เพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่ผู้เข้าร่วมชมงาน ทั้งนี้จำนวนวันของการจัดงานก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากการจัดงานแสดงสินค้าจำเป็นต้องมีวันสำหรับนักธุรกิจ (Trade Day) และวันสำหรับบุคคลทั่วไป (Public Day) แต่ในปัจจุบันงานที่ได้รับความนิยมจากผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมากคือ งานที่ไม่มีวันเฉพาะสำหรับนักธุรกิจ (Trade Day) ซึ่งผู้จัดงานก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเหมาะสม อีกทั้งการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการต้องตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้เข้าชมงาน และควรเป็นงานที่เน้นการนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้ประโยชน์และพร้อมไปด้วยข้อมูลที่ทันสมัยทันเหตุการณ์”
ผลงานที่โดดเด่นของ NEO ได้แก่ งานแสดงสินค้า บริการ และเทคโนโลยีในการผลิตและแปรรูปด้านปศุสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย (VIV Asia 1995-2005) งานแสดงสินค้าประเภทของขวัญ (Thailand Bestbuys 1999-2004) งานแสดงสินค้าและบริการในด้านการแต่งงาน (Wedding Fair 1995-2004) งานแสดงสินค้าและบริการด้านสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร (Pet Expo 2000-2004) และงานแสดงสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว (Amazing Thailand Grand Sales 2000-2004) เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
เหมือนฝัน นิลคูหา, สุพพตา บัวเอี่ยม และวรกมล สีตบุตร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร
บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด
ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
หมายเลขโทรศัพท์ 0-2229-3000 ต่อ 4078 หรือ 3482-3
โทรสาร 0-2229-3334
E-Mail: marcom@qsncc.co.th
www.qsncc.com--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ