การปฏิรูปการดูแลสุขภาพด้วยโรงพยาบาลดิจิตอลตอนที่ 1-3

ข่าวทั่วไป Wednesday December 1, 2004 12:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
การปฏิรูปการดูแลสุขภาพด้วยโรงพยาบาลดิจิตอล (ตอนที่ 1)
(TRANSFORMING HEALTHCARE THROUGH DIGITAL HOSPITALS)
ในการสัมมนาเกี่ยวกับการปฏิรูปการดูแลสุขภาพด้วยโรงพยาบาลดิจิตอล (Transforming Healthcare through Digital Hospitals) ที่โรงแรมคอนราดเมื่อวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2547
เครก อาร์ บาร์เรตต์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของอินเทล คอร์ปอเรชั่น ได้กล่าวสุนทรพจน์
ปิดท้ายการสัมมนาโดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจยิ่งดังนี้
ในแง่ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โรงพยาบาลบางแห่งในเอเชียตะวันออกเป็นตัวอย่างที่แสดงให้โลกเห็นถึงความสำเร็จในการนำคอมพิวเตอร์และการส่งต่อข้อมูลแบบดิจิตอลมาใช้ในวงการสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดโรคระบาดในภูมิภาคนี้ ตามปกติเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องของสุขภาพ มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการผลิต การขายปลีก การให้บริการทางการเงิน และมีบริษัทที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจของตนด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้อย่างชาญฉลาด ตัวอย่างเช่น วอลมาร์ท ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของโลก วอลมาร์ทนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารสินค้าคงคลังและการเก็บข้อมูล ณ จุดขาย ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จอย่างสูง หรือ เดลล์ คอมพิวเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ธุรกิจของเดลล์ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างชาญฉลาดไม่เพียงแต่ในการรับยอดสั่งซื้อและกำหนดแผนการผลิตเท่านั้น แต่เดลล์ยังสร้างระบบคอมพิวเตอร์ตามความต้องการของลูกค้าด้วย มีตัวอย่างอีกมากมายที่แสดงถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันและเพื่อให้ประสบความสำเร็จในตลาดของตน
การสัมมนาครั้งนี้เป็นเรื่องของธุรกิจสุขภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดวงการหนึ่งของโลกแต่อาจล้าหลังอุตสาหกรรมอื่นๆ อยู่บ้างในแง่ของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อปรับเปลี่ยนให้มีความทันสมัย
เศรษฐกิจโลกวิวัฒนาการไม่หยุดนิ่งและความเปลี่ยนแปลงบางประการที่เกิดขึ้นในระยะหลังทำให้วิวัฒนาการนี้มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้หรือบุคลากรที่เป็นมืออาชีพทำงานได้แทบทุกแห่งในโลก ความสามารถที่จะสื่อสารกันโดยสมบูรณ์ ความสามารถที่จะเคลื่อนย้ายข้อมูลปริมาณมากๆ ทำให้ผู้คนในประเทศใดก็ตามสามารถทำงานในประเทศอื่นได้ เรามีคนที่สามารถทำงานในประเทศไทย มาเลเซีย อินเดีย หรือจีนที่แข่งขันกับคนที่ทำงานในยุโรปตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ประเทศต่างๆ จึงมุ่งเน้นที่ความชำนาญเฉพาะทางของตน มุ่งเน้นว่าจะวางตำแหน่งอยู่ที่ไหนในเศรษฐกิจโลก เราจึงพบเห็นว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคต่างๆ ประกาศหรือแสดงตนอย่างชัดเจนว่าจะทำอะไรต่อไปในอนาคต
ตัวอย่างเช่น จีนต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าไฮเทค อินเดียมีแผนระดับชาติที่จะเป็นศูนย์กลางซอฟต์แวร์แห่งหนึ่งของโลก ประเด็นที่น่าสนใจคือในแง่ของสุขภาพ ประเทศไหนหรือภูมิภาคใดของโลกจะเป็นผู้นำด้านนี้ การดูแลสุขภาพจะเป็นขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่แพร่หลายทั่วถึงทัดเทียมกันหรือจะมีภูมิภาคใดที่มีข้อได้เปรียบเชิงแข่งขันเหนือภูมิภาคอื่นๆ อะไรบ้างที่จะทำให้เอเชียเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสุขภาพและมีข้อได้เปรียบเชิงแข่งขันเหนือภูมิภาคอื่นๆ ในโลก เทคโนโลยีสารสนเทศมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทุกคนและทั่วทุกแห่ง ประเทศต่างๆ รัฐบาลต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในด้านนี้ ต้องฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ประชาชน ต้องวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
ธุรกิจและองค์กรที่ไม่มุ่งหวังผลกำไรต้องพิจารณานำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้เพื่อเพิ่มอัตราผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ และให้บริการที่ดีขึ้นแก่ลูกค้า ประชาชนติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นทั่วโลก ทุกวันนี้ขอแค่มีคอมพิวเตอร์และต่อเข้าอินเทอร์เน็ตได้ บุคคลธรรมดาก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ในแง่ของการดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยหรือคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคใดก็ตามสามารถเข้าอินเทอร์เน็ตแล้วใช้ Google หรือ Yahoo หรือโปรแกรมค้นหาอื่นๆ และพบข้อมูลเกี่ยวกับโรคนั้นมากกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จะทราบเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นบุคคลทั่วไปจึงมีข้อมูลมากขึ้นและมีความคาดหมายที่สูงขึ้นในการดูแลสุขภาพ
นอกจากนี้เรื่องของการศึกษาก็ได้รับผลกระทบด้วย มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในคอมพิวเตอร์ การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากโลกกำลังก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่อาศัยความรู้เป็นพื้นฐาน เศรษฐกิจซึ่งคนที่มีความรู้จะมีรายได้สูงกว่าและมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีกว่า โดยทั่วไประดับการศึกษาและระดับมาตรฐานความเป็นอยู่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศต่างๆ ต้องให้การศึกษาแก่ประชาชนจนถึงระดับสูงสุดเท่าที่จะทำได้เพื่อส่งเสริมให้มาตรฐานความเป็นอยู่ในประเทศสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ถ้าเรามองเฉพาะวงการสุขภาพและพิจารณาแนวโน้มประชากรทั่วโลก เราจะเห็นได้ว่าภายใน 40 หรือ 50 ปีข้างหน้า จะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด ในปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของโลกมีอายุต่ำกว่า 65 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในเอเชีย ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง มีประชากรอายุน้อยในเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก เรื่องนี้มีผลต่ออุตสาหกรรมสุขภาพเป็นอย่างมากเนื่องจากคนที่อายุน้อยมักจะมีสุขภาพแข็งแรง และความเจ็บป่วยและข้อกังวลทางการแพทย์ของคนที่มีอายุน้อยก็แตกต่างจากผู้สูงอายุ คนวัยหนุ่มสาวมักสนใจเรื่องของการคลอดลูก การตั้งครรภ์ สุขภาพเด็ก โภชนาการ หรือแม้แต่ศัลยกรรมพลาสติกในระดับหนึ่ง ส่วนผู้สูงอายุมีปัญหาของโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับวัยอย่างเช่น มะเร็งและโรคอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ปัจจุบันประชากรของโลกอยู่ในวัยหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเรามองอนาคตอีกประมาณ 40 ถึง 50 ปีข้างหน้า จะเห็นได้ว่าจะมีคนวัยเกิน 65 ปีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
การมีผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากขึ้นนี้ทำให้เกิดความต้องการบริการด้านสุขภาพมากขึ้นและเป็นความต้องการที่แตกต่างออกไป การศึกษาวิจัยส่วนใหญ่ระบุว่าเมื่อประชากรสูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของประเทศจะต้องรับภาระมากขึ้นในการดูแลประชากรวัยเกษียณ และอุตสาหกรรมสุขภาพก็ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการแก่ประชากรสูงวัย คุณลักษณะเฉพาะของความเปลี่ยนแปลงในเรื่องวัยของประชากรนี้ทำให้ระบบสุขภาพต้องมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ ต้องเพิ่มอัตราผลผลิตและประสิทธิภาพให้สูงขึ้นอย่างมากเพื่อให้บริการประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและขีดความสามารถใหม่เพื่อที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกดังกล่าว
ทว่าในความเป็นจริงระบบการแพทย์ทั่วโลกในปัจจุบันเป็นระบบที่อาศัยกระดาษเป็นหลัก เวลาไปที่คลินิกแพทย์หรือโรงพยาบาล เราจะเห็นกระดาษซ้อนกันเป็นปึกๆ ประวัติสุขภาพของคนไข้อยู่ในกระดาษและไม่ได้ออนไลน์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ
เครก บาร์เรตต์ เปรียบเทียบข้อมูลทางการแพทย์กับข้อมูลทางการเงินว่าโดยส่วนตัวแล้ว เขาสามารถเรียกดูประวัติทางการเงินของตนเอง ดูขีดความสามารถทางการเงินว่าตนเองมีเงินสดหรือหุ้นหรือลงทุนในอะไรไปบ้าง ข้อมูลเหล่านี้สามารถเรียกดูแบบออนไลน์ได้จากทุกแห่งในโลก และยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงินในเวลาจริงจากที่ใดก็ได้ในโลก แต่ถ้าต้องการดูข้อมูลทางการแพทย์ของตนเองซึ่งเก็บไว้ที่ใดที่หนึ่งในแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกา ข้อมูลทางการแพทย์เหล่านั้นอยู่ในกระดาษ และถ้าจะเรียกดูก็ต้องให้ใครสักคนไปดึงแฟ้มและหยิบข้อมูลเหล่านั้นออกมา และส่งไปรษณีย์หรือแฟกซ์อีกต่อหนึ่ง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าธุรกิจการให้บริการทางการเงินใช้ประโยชน์อย่างมากจากเทคโนโลยีสารสนเทศและโครงสร้างพื้นฐานในการทำธุรกรรมส่วนบุคคลอย่างปลอดภัยในเวลาจริง แต่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ยังคงเป็นระบบแอนะลอก (Analog) หรืออาศัยกระดาษเป็นหลัก การสัมมนาวันนี้จึงเกี่ยวข้องกับการสร้างโลกที่ไร้กระดาษ การทำข้อมูลทางการแพทย์ให้เป็นดิจิตอล ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ในเวลาจริงจากที่ใดก็ตามเพื่อให้แพทย์ซึ่งอยู่แห่งใดก็ตามในโลกทราบข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วยในทำนองเดียวกับข้อมูลทางการเงิน
ปัจจุบันอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอุตสาหกรรม, การวิจัย, บันเทิง, การค้าปลีก, อุตสาหกรรมรถยนต์ ฯลฯ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกันอย่างกว้างขวาง อุตสาหกรรมสุขภาพและการให้บริการทางการแพทย์ก็ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเช่นกันแต่มักใช้แยกเป็นส่วนๆ โดยเอกเทศ อย่างเช่น การสแกนภาพสมอง การตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรืองานวิจัยที่สลับซับซ้อน ล้วนใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีวิทยาการก้าวหน้าอย่างยิ่งแต่ก็มักเป็นอุปกรณ์ที่ตั้งอยู่เดี่ยวๆ และไม่ได้ประสานรวมเข้าเป็นฐานข้อมูลใหญ่ และมักไม่มีการป้อนผลที่ได้จากอุปกรณ์เหล่านี้เข้าในฐานข้อมูลเพื่อให้เรียกออกมาได้อย่างสะดวก นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่เครก บาร์เรตต์ เห็นว่าวงการสุขภาพมีความแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว
ถ้าเช่นนั้นจะต้องทำอย่างไรเพื่อปฏิรูปวงการสุขภาพให้เป็นระบบดิจิตอลอย่างเช่นอุตสาหกรรมอื่นๆ ส่วนใหญ่ เครก บาร์เร็ตต์ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมดิจิตอลอย่าง amazon.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อหนังสือ เพลง หรือสินค้าอื่นๆ และเมื่อใดก็ตามที่ลูกค้าเข้าไปที่ amazon.com เว็บไซต์นั้นจะจดจำข้อมูลของลูกค้ารายนั้นๆ ไว้ ครั้งต่อไปเมื่อลูกค้ารายเดิมเข้าไปที่เว็บไซต์อีก พวกเขาจะทราบว่าลูกค้าชอบอะไร อ่านหนังสือประเภทไหน หรือฟังเพลงแบบไหน
ถ้าอุตสาหกรรมสุขภาพมีลักษณะคล้ายแบบนี้ก็น่าจะเป็นข้อดี ถ้าเราไปพบแพทย์คนใดก็ตามที่ไหนก็ตามในโลก และแพทย์ผู้นั้นสามารถทราบข้อมูลสุขภาพของคนไข้ในทันทีเช่นเดียวกับที่ amazon.com ทราบประวัติการอ่านหรือการฟังเพลงของลูกค้า นี่คือภาพที่ เครก บาร์เรตต์ ต้องการให้เกิดขึ้น เขาต้องการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงประสิทธิภาพและอัตราผลผลิต และทำให้ขีดความสามารถที่จะเรียกข้อมูลออนไลน์ทั่วโลกกลายเป็นความจริง แต่จะทำเช่นนี้ได้อย่างไรและจะต้องมองจุดไหนบ้างเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป
การปฏิรูปการดูแลสุขภาพด้วยโรงพยาบาลดิจิตอล (ตอนที่ 2)
(TRANSFORMING HEALTHCARE THROUGH DIGITAL HOSPITALS)
ด้วยความประสงค์ที่จะเห็นวงการสุขภาพปรับปรุงประสิทธิภาพและอัตราผลผลิต และทำให้มีขีดความสามารถที่จะเรียกข้อมูลทางการแพทย์ออนไลน์จากทุกแห่งในโลก เครก บาร์เรตต์ กล่าวถึงแง่มุมสามด้านที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สองด้านแรกคือ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุตสาหกรรมการสื่อสารที่กำลังลู่ประสานเข้าหากัน อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เป็นดิจิตอลมานานแล้ว ส่วนอุตสาหกรรมการสื่อสารก็กำลังกลายเป็นระบบดิจิตอลอย่างรวดเร็ว การที่สองเทคโนโลยีนี้ลู่ประสานเข้าหากันทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลดิจิตอลในเวลาจริงและสื่อสารข้อมูลเหล่านั้นไปถึงบุคคลอื่นหรือสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ ดังนั้นการลู่ประสานเข้าหากันของคอมพิวเตอร์และการสื่อสารจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
แง่มุมที่สามคือ เรื่องของเนื้อหา (content) ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกันได้อย่างหลากหลาย เนื้อหาอาจเป็นเรื่องของความบันเทิง ดนตรี วิดีโอ เนื้อหาอาจเป็นกระบวนการทางธุรกิจ การซื้อและการขาย เนื้อหาอาจเป็นประวัติสุขภาพ ข้อมูลทางการแพทย์ในระบบดิจิตอล และเมื่อนำข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นระบบดิจิตอลมารวมกับการลู่ประสานเข้าหากันของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ทำอะไรต่างๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
แนวคิดของการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ได้จากทุกแห่งและทุกเวลาโดยรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวไว้ในขณะเดียวกันเป็นไปในทำนองเดียวกับการทำธุรกรรมทางการเงินที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว การเข้าถึงข้อมูลในทันทีทำให้แพทย์ผู้ให้การรักษาสามารถทราบข้อมูลและประวัติสุขภาพอันเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยและรักษาโรค ดังนั้นการลู่ประสานเข้าหากันของคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และเนื้อหาซึ่งหมายถึงข้อมูลทางการแพทย์จึงมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงในการปฏิรูปวงการสุขภาพเช่นเดียวกับในการปฏิรูปอุตสาหกรรมอื่นๆ และถ้ายังมีผู้ใดที่คลางแคลงใจว่าการก้าวไปสู่ระบบดิจิตอลหรือการลู่ประสานเข้าหากันของคอมพิวเตอร์และการสื่อสารนี้ไม่ได้ปฏิรูปอุตสาหกรรม ก็ลองดูธุรกิจบันเทิงเป็นตัวอย่าง
ธุรกิจบันเทิงเคยเป็นอุตสาหกรรมแอนะลอก ดนตรีเป็นแอนะลอก วิดีโอก็เป็นแอนะลอก แต่เมื่อเนื้อหาเหล่านั้นเปลี่ยนรูปเป็นดิจิตอล ทุกวันนี้เมื่อเราดูภาพยนตร์ เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรคือความจริงและอะไรไม่ใช่ คอมพิวเตอร์และเนื้อหาที่เป็นดิจิตอลได้ปฏิรูปภาพยนตร์ที่เราดู ดนตรีที่เราฟัง และภาพที่เราเห็น ทั้งหมดเกิดจากขีดความสามารถแบบดิจิตอล ดังนั้นคอมพิวเตอร์และระบบดิจิตอลจึงได้ปฏิรูปธุรกิจบันเทิงไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งอุตสาหกรรมการแพทย์ยังไม่ไปถึงจุดนั้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายท่านที่ใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถของระบบดิจิตอล และวงการสุขภาพเองก็มีตัวอย่างที่แสดงถึงความก้าวหน้าของเทคนิคดิจิตอลหลายตัวอย่างที่สามารถกล่าวถึง ในการสัมมนาครั้งนี้ เครก บาร์เรตต์ เชิญผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนขององค์กรต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในอุตสาหกรรมสุขภาพมากล่าวถึงความสำเร็จหรือผลงานของตน อย่างเช่น คุณหมอกัมปนาท วีรกุล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจประจำโรงพยาบาลภูมิพล ได้ขึ้นมาบนเวทีและแสดงตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการสื่อสารกับโรงพยาบาลเพื่อให้วินิจฉัยและสั่งการรักษาได้ในทันทีเมื่อคนไข้โรคหัวใจมาที่โรงพยาบาล นอกเวลาทำการปกติ โรงพยาบาลสามารถตรวจคลื่นหัวใจแล้วสแกนเป็นข้อมูลดิจิตอลส่งเข้าเครื่อง PDA เมื่อคุณหมอดูคลื่นหัวใจแล้วก็สามารถติดต่อโรงพยาบาลและสั่งการได้ทันที หรือในการตรวจหัวใจก็สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อสร้างภาพสามมิติและสั่งให้หมุนดูในมุมต่างๆ หรือพิจารณาร่วมกับแพทย์ท่านอื่นๆ หรือแม้แต่ส่งภาพเข้าแทบเล็ตพีซี (Tablet PC) แล้วนำไปให้คนไข้ดูถึงเตียงในโรงพยาบาล
เครก บาร์เรตต์ กล่าวว่าการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ประโยชน์ต้องคำนึงถึงบางประเด็นที่มีความสำคัญ เรื่องแรกคือภาวะผู้นำ ถ้าประเทศไทยหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนี้ ต้องการเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก ก็ต้องให้ความสำคัญกับบางประการ อย่างแรกคือนโยบายรัฐบาล นโยบายของฝ่ายบริหาร นั่นคือต้องกำหนดกฎระเบียบและจัดสรรงบประมาณเพื่อให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นได้
การวิจัยและพัฒนาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง รัฐบาลมีบทบาทหลักในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อปูพื้นฐานให้เกิดการใช้งานในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาในสาขาของการแพทย์ชีวภาพ การวิจัยทางการแพทย์ การจำแนกโรค และการรักษา ด้านต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประโยชน์ที่จะได้รับในแง่ของสุขภาพ
การศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราต้องการแพทย์ พนักงานเทคนิค และผู้ทำงานสนับสนุนที่มีความรู้ความสามารถเพื่อให้โครงการเหล่านี้ดำเนินไปได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจต้องการความสามารถของแบนด์วิดธ์ระดับสูงหรือขีดความสามารถบรอดแบนด์ไร้สายระดับสูง การมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมสำหรับการส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีรายละเอียดสูงเป็นเรื่องสำคัญ
ประการสุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับรัฐบาลก็มีความสำคัญ ความสัมพันธ์ฉันท์หุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจะทำให้เทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพก้าวหน้าไปได้อย่างเข้มแข็ง
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบหลายอย่างที่เกี่ยวข้องในความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ประโยชน์ในวงการสุขภาพ ภูมิภาคใด รัฐบาลประเทศไหน หรือโรงพยาบาลใดที่สามารถประมวลองค์ประกอบเหล่านี้เข้าด้วยกันย่อมจะประสบความสำเร็จ
เครก บาร์เรตต์ เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความเป็นเลิศในการให้บริการด้านสุขภาพ เช่นเดียวกับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความเป็นเลิศในอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างเช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมการผลิต บริการทางการเงิน หรือแม้แต่อุตสาหกรรมของอินเทลเองซึ่งได้แก่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อินเทลย่อมไม่สามารถผลิตไมโครโปรเซสเซอร์อย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้หากปราศจากการลงทุนจำนวนมหาศาลในเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ จำนวนมากแบบออนไลน์ในเวลาจริงเพื่อควบคุมโรงงานผลิต
ดังนั้นประเด็นของการปฏิรูปวิธีการทำงาน การปฏิรูปวิธีการสื่อสาร การปฏิรูปวิธีการรักษาคนไข้ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมสุขภาพและทำให้มีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีอัตราผลผลิตสูงขึ้น และให้บริการสุขภาพที่ดีขึ้นแก่คนไข้
การปฏิรูปอุตสาหกรรมสุขภาพหรือการส่งเสริมโรงพยาบาลดิจิตอลแบบบูรณาการมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลายขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนหนึ่งคือการเปลี่ยนข้อมูลจากรูปแบบแอนะลอกมาเป็นรูปแบบดิจิตอล การเปลี่ยนข้อมูลจากกระดาษมาเป็นบิตและไบต์ เมื่อข้อมูลอยู่ในรูปแบบดิจิตอลแล้ว จะสามารถนำข้อมูลนั้นไปทำอะไรที่น่าตื่นเต้นได้มากมาย อย่างเช่น การสร้างภาพจำลองของหัวใจ การหมุนภาพนั้นในทิศทางต่างๆ การนำไปให้คนไข้ดู การส่งภาพนั้นข้ามระยะทางไกลๆ การสนทนาและสื่อสารกับแพทย์ในที่ต่างๆ ในประเทศอื่น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นระบบดิจิตอล และจากนั้นจึงเปลี่ยนข้อมูลดิจิตอลให้เป็นความรู้
การเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นความรู้คือเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราไม่สามารถตัดสินใจจากข้อมูลได้ เราต้องเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นความรู้เสียก่อน และระบบดิจิตอลคือวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการกับข้อมูล ความสะดวกในการจัดการกับข้อมูลดิจิตอลนี่เองที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหมดเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอล การสร้างสรรค์ภาพและดนตรีทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเป็นดิจิตอล และยังทำให้มีอัตราผลผลิตสูงขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีประสิทธิผลในการใช้ต้นทุนยิ่งขึ้นอีกด้วย
การปฏิรูปข้อมูลในโรงพยาบาลและวงการสุขภาพจากแอนะลอกเป็นดิจิตอลมีหลายขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรกคือการเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ การเปิดรับเทคโนโลยีสารสนเทศ ในแบบเดียวกับที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทำให้ผู้คนเปิดรับเทคโนโลยี
คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ Personal Computer มีชื่อที่จำเพาะเจาะจงมากเพราะหมายถึงคอมพิวเตอร์ที่แต่ละบุคคลสามารถใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลของตนเอง นี่คือขั้นตอนแรกซึ่งได้แก่ขีดความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์โดยลำพัง (stand-alone) ปัจจุบันนี้แทบทุกคนในอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญในวงการสุขภาพส่วนใหญ่อยู่ที่ขั้นตอนนี้แล้ว หาไม่คงจะเสียเปรียบเป็นอย่างยิ่ง
ขั้นตอนต่อไปคือการนำงานบริหารจัดการทั่วไปมารวมกัน ตัวอย่างเช่นบริษัทผู้ผลิตสินค้ามีแผนการใช้ทรัพยากรหรือการกำหนดขีดความสามารถ ผู้ผลิตสั่งซื้อวัตถุดิบ นำไปผ่านกระบวนการผลิต ทำให้ได้สินค้าสำเร็จรูปออกมาและขายให้แก่ลูกค้า ในการผลิตมีขั้นตอนการบริหารจัดการเกี่ยวข้องอยู่หลายขั้นตอนซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับการผลิตสินค้าใดสินค้าหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นขั้นตอนการบริหารจัดการทั่วไปที่บริษัทใดก็ตามต้องมี แผนงานเหล่านี้สามารถกำหนดขึ้นมาโดยคอมพิวเตอร์ได้ มีซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการดำเนินธุรกิจ วิธีการซื้อวัตถุดิบ วิธีการวางแผน วิธีการขายผลิตภัณฑ์ วิธีการวางแผนทางการเงิน งานบริหารจัดการเหล่านี้มีความสำคัญ และในแง่ของโรงพยาบาล ก็หมายถึงการจำแนกคนไข้ การสั่งซื้อวัตถุดิบ การนัดหมายคนไข้ การแจ้งหนี้ การเก็บเงินจากคนไข้ เป็นต้น
มีโรงพยาบาลจำนวนมากทั้งในยุโรป เอเชีย และอเมริกาที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์กับงานบริหารจัดการตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งรวมถึงการนัดคนไข้ การสั่งจ่ายยา การติดตามใบสั่งยา การเก็บเงิน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงอัตราผลผลิตของโรงพยาบาล ซึ่งนับว่าเป็นขั้นตอนที่มีเหตุผลเนื่องจากอุตสาหกรรมอื่นๆ เกือบทั้งหมดก็มีขีดความสามารถนี้เช่นกัน
การปฏิรูปการดูแลสุขภาพด้วยโรงพยาบาลดิจิตอล (ตอนที่ 3)
(TRANSFORMING HEALTHCARE THROUGH DIGITAL HOSPITALS)
ขั้นตอนที่สาม คือ การเปลี่ยนข้อมูลทั้งหมดในธุรกิจให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงระบบของแผนกต่าง ๆ ให้ออนไลน์และต่อเข้ากับฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกัน สำหรับโรงพยาบาลย่อมหมายถึงการทำให้ข้อมูลทางการแพทย์ของคนไข้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกเพื่อให้แพทย์ที่ต้องการสามารถเข้าถึงได้โดยการป้อนคำสั่งอิเล็กทรอนิก อาจแค่เพียงพิมพ์ชื่อคนไข้ ระบุว่าต้องการข้อมูลทางการแพทย์ ใส่รหัสผ่านที่ใช้คุ้มครองความลับของข้อมูล ทั้งหมดนี้ทำผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกเป็นการภายในที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัย
ข้อมูลการจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ ผลการทดสอบเพื่อวินิจฉัยโรค ฯลฯ ที่อยู่ในรูปแบบดิจิตอลจะสามารถนำมาตรวจสอบและยืนยันซ้ำได้ ซึ่งจะทำให้สามารถให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้น ลดความผิดพลาด เพิ่มประสิทธิภาพ และทำให้มีอัตราผลผลิตสูงขึ้น ขั้นตอนนี้คือนวัตกรรมในการนำส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่บุคคลที่ถูกต้องในเวลาที่ถูกต้อง ซึ่งก็มีโรงพยาบาลที่ดำเนินการเช่นนี้แล้ว ตัวอย่างที่น่ายกย่องในกรุงเทพฯ คือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ซึ่งมีชื่อเสียงทั่วโลกในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับงานบริการสุขภาพ ทำให้มีอัตราผลผลิตสูงขึ้น มีระบบการทำงานอัตโนมัติที่ดีขึ้น และสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างน่าพอใจขึ้นด้วย
ประเด็นสำคัญประการสุดท้ายที่ เครก บาร์เรตต์ กล่าวถึงในการสัมมนาเกี่ยวกับการปฏิรูปการดูแลสุขภาพด้วยโรงพยาบาลดิจิตอล คือเรื่องของความสามารถในการเคลื่อนที่ (mobility) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สี่ของการก้าวไปสู่ความเป็นโรงพยาบาลดิจิตอล เขายกตัวอย่างว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันจำนวนมากใช้คอมพิวเตอร์ไร้สายโดยการเชื่อมต่อแบบ 3G หรือ WiFi ความสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ทุกเวลาจากทุกแห่งทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งหลักการนี้สามารถนำไปใช้เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลมีผลผลิตเพิ่มขึ้นได้เช่นกันเมื่อผู้ปฏิบัติงานเหล่านั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลในเวลาจริงจากที่ใดก็ตามในโรงพยาบาล ณ เวลาใดก็ตามที่ต้องการ
ปัจจุบันมีอุปกรณ์พกพาและโรงพยาบาลหรือสถานที่ทำงานที่ใช้เครือข่ายไร้สายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อินเทลมีพนักงาน 80,000 คนและมีคอมพิวเตอร์ประมาณ 100,000 เครื่อง ซึ่งในจำนวนนี้กว่าสองในสามเป็นคอมพิวเตอร์แบบพกพา และสถานที่ทำงานของอินเทลทุกแห่งมีระบบไร้สายที่พนักงานสามารถใช้คอมพิวเตอร์แบบแล็ปท้อปเชื่อมต่อกับเครือข่ายของอินเทลในเวลาจริง เทคโนโลยีไร้สายแบบบรอดแบนด์เป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมที่ทำให้สามารถส่งต่อข้อมูลปริมาณมหาศาล ภาพที่มีรายละเอียดมาก ชุดข้อมูลที่ซับซ้อน ในเวลาจริงจากที่ใดก็ได้
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีตัวอย่างขององค์กรที่ใช้ระบบไร้สายแบบบูรณาการในโรงพยาบาลนั่นคือ SingHealth ในสิงคโปร์ ซึ่งพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ในการใช้เทคโนโลยีไร้สายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วยและทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีอัตราผลผลิตเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีไร้สายแบบอื่น ๆ อย่างเช่น VoIP (Voice over Internet Protocol) ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เข้าถึงข้อมูลในระบบเครือข่ายไร้สายได้เท่านั้น แต่ยังสามารถสื่อสารด้วยเสียงข้ามเครือข่ายอีกด้วย
การใช้อุปกรณ์จำแนกความถี่คลื่นวิทยุ (radio frequency identification devices = RFID) เพื่อจำแนกยา จำแนกคนไข้ จำแนกอุปกรณ์เครื่องมือ ฯลฯ สามารถดำเนินการแบบไร้สายได้เช่นกัน ซึ่งประเด็นของความสามารถในการเคลื่อนที่หรือการเข้าถึงข้อมูลจากทุกที่ทุกเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มอัตราผลผลิต
การประสานรวมข้อมูลภายในโรงพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญก็จริง ทว่าขั้นตอนต่อไปก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน นั่นคือการประสานรวมฐานข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลต่างๆ การประสานรวมฐานข้อมูลสำหรับประชาชนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามในประเทศ เราต้องการให้ข้อมูลเดินทางไปกับคนไข้ ไม่ใช่เก็บไว้ในคลินิกแพทย์หรือโรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องการให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลได้ไม่ว่าข้อมูลหรือคนไข้จะอยู่ที่ใด ณ เวลานั้น
หลายประเทศกำลังพยายามดำเนินการเรื่องนี้อยู่อย่างเช่น สหราชอาณาจักรซึ่งลงทุนถึงหนึ่งหมื่นห้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพในประเทศให้เป็นระบบดิจิตอลทั้งหมด เพื่อให้ข้อมูลทางการแพทย์อยู่ในรูปแบบดิจิตอลที่พลเมืองของสหราชอาณาจักรจะเรียกดูได้ทุกเวลาจากทุกสถานที่ สาธารณรัฐประชาชนจีนและบางส่วนของสหรัฐอเมริกาก็กำลังดำเนินการในด้านนี้อยู่เช่นกัน
ตัวอย่างที่น่าสนใจในเอเชียคือเมื่อครั้งที่เกิดโรคซาร์สแพร่ระบาด สาธารณรัฐประชาชนจีนทุ่มเทความพยายามอย่างใหญ่หลวงในระยะเวลาอันสั้นเพื่อสร้างระบบเฝ้าระวังประชากรและระบบการติดตามโรคซึ่งทำให้ทราบความคืบหน้าของการระบาดได้ในทันที และยังมีขีดความสามารถในการรวบรวมข้อมูลจากทั้งประเทศมาไว้ที่ศูนย์กลางซึ่งเป็นศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ติดตามการระบาดของโรคได้ในเวลาจริง สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในกรณีของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็คือ การดำเนินการทั้งหมดนี้สำเร็จภายในเวลาหนึ่งปี หนึ่งปีเท่านั้นในการสร้างระบบเฝ้าระวังเพื่อติดตามโรคในพื้นที่อันกว้างใหญ่ของประเทศ จีนทำให้ขีดความสามารถของพวกเขาเคลื่อนที่ได้และทำให้ระบบการเก็บข้อมูลเคลื่อนที่ได้โดยการใช้เทคโนโลยีไร้สายเชื่อมต่อโรงพยาบาลต่างๆ เข้าเป็นเครือข่ายเดียวกัน
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ