นอกจากนี้ยังมีการใช้งานเทคโนโลยีในด้านใหม่ เกิดขึ้นแทบทุกวันในเกือบทุกสาขาของอุตสาหกรรมรอบตัวเรา อย่างเช่นในเรื่องของชีววิทยาศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น เมื่อย้อนกลับมามองธุรกิจของอินเทล สิ่งหนึ่งที่น่าตื่นเต้นคือการที่อินเทลผลิตไอซีขนาดเล็กมากๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเล็กกว่าโปรตีนของมะเร็ง ไวรัส หรือเม็ดเลือดเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำอุปกรณ์และโครงสร้างที่อินเทลผลิตไปใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคในเวลาจริง หรือใช้ในการวินิจฉัยโปรตีนและสารชีวภาพอื่นๆ ที่มีความเข้มข้นน้อยๆ ซึ่งอาจทำให้ตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะต้นและทำการรักษาให้หายได้ในอัตราที่สูงขึ้น
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศจะยังคงมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่สำคัญคือการนำนวัตกรรมเหล่านั้นไปใช้ในอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์สุขภาพและชีววิทยาศาสตร์ ในแต่ละปีอินเทลไม่เพียงแต่สร้างพลังเพิ่มขึ้นให้แก่คอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมของอินเทลจะสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสุขภาพได้ด้วย
ในเรื่องของเทคโนโลยีไร้สายและความสามารถในการเคลื่อนที่นั้น ขีดความสามารถของ บรอดแบนด์ไร้สายกำลังเปิดโอกาสและมุมมองใหม่ๆ ในการสื่อสาร WiFi หรือขีดความสามารถแบบ 802.11 ซึ่งเป็นบรอดแบนด์ไร้สายระยะใกล้ทำให้คอมพิวเตอร์สื่อสารกันเอง สื่อสารกับอินเทอร์เน็ตได้ แต่มีเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายแบบใหม่ที่น่าสนใจเช่นกัน นั่นคือ WiMAX เทคโนโลยี WiMAX ต่างจาก WiFi ที่ระยะทางครอบคลุม WiFi มีขีดจำกัดในระยะประมาณ 100 เมตร ในขณะที่ WiMAX มีขีดความสามารถบรอดแบนด์แบบเดียวกันในระยะที่ไกลถึงประมาณ 50 กิโลเมตร
ถ้าเปรียบเทียบกัน WiFi จะครอบคลุมอาคารขนาดใหญ่ได้สักหลังหนึ่ง ทำให้สามารถสื่อสารกันในระยะประมาณ 90 ถึง 100 เมตร แต่ถ้าใช้ WiMAX ด้วยแบนด์วิดธ์ 50 ถึง 100 เมกะบิตต่อวินาที ระยะทางที่สื่อสารได้จะครอบคลุมไปถึงประมาณ 50 กิโลเมตร ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในแถบชนบท ทำให้สื่อสารกันได้ระหว่างแพทย์ในชนบทและหมู่บ้านที่ห่างไกล ข้อมูลแบนด์วิดธ์ระดับสูงที่สื่อสารกลับไปที่ศูนย์กลางในเมืองช่วยในการวินิจฉัยและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ทั้งที่อยู่ห่างไกลกัน และเนื่องจากเป็นขีดความสามารถแบบบรอดแบนด์จึงมีแบนด์วิดธ์ที่เหมาะสมสำหรับการส่งภาพที่มีรายละเอียดมากในเวลาจริง
ขีดความสามารถแบบนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านที่เรียกว่าเทเลเมดิซีน (telemedicine) ซึ่งมีคนเขียนถึง พูดถึงกันมากพอสมควร แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่เทเลเมดิซีนจำเป็นต้องมีคือความสามารถในการเคลื่อนย้ายข้อมูลปริมาณมากๆ เพื่อให้สามารถปรึกษาแพทย์ได้แม้จากระยะทางที่ห่างไกล องค์กรแห่งหนึ่งในอินเดียชื่อ Apollo Telemedicine Networking Foundation ใช้เทคโนโลยีแบบนี้ในการส่งข้อมูลเกี่ยวกับคนไข้อย่างเช่นประวัติสุขภาพ ข้อมูลทางการแพทย์ ภาพเอกซ์เรย์ คลื่นหัวใจ หรือแม้แต่เสียงหัวใจเต้นไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษาและวินิจฉัยโรคทางไกล เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง แต่ประชากรจำนวนมากอยู่ในชนบท
เครก บาร์เรตต์ สรุปในตอนท้ายว่าขณะที่ประชากรของโลกมีอายุมากขึ้น การดูแลสุขภาพด้วยบริการที่เป็นเลิศและการใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิผลจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือต้องมีการย้ายข้อมูลจากกระดาษไปสู่คอมพิวเตอร์ การเปิดรับมาตรฐานและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงแต่ทำให้แผนกต่าง ๆ ในโรงพยาบาลสื่อสารกันได้เท่านั้น แต่ยังทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ สื่อสารกันได้ด้วยแม้จะอยู่ต่างประเทศกันก็ตาม การทำให้ข้อมูลทางการแพทย์ของคนไข้กลายเป็นข้อมูลทางการแพทย์แบบอิเล็กทรอนิก (electronic medical record หรือ EMR) เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้ทุกเวลาจากทุกแห่งในโลก และข้อมูลดังกล่าวจะตามคนไข้ไปอย่างปลอดภัยและเป็นส่วนตัว และท้ายที่สุดคือการทำให้ข้อมูลเคลื่อนที่ได้อย่างเช่นในตัวอย่างของเทเลเมดิซีน ขีดความสามารถทางเทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในชนบทห่างไกลได้รับบริการทางสุขภาพและการแพทย์ที่มีคุณภาพแบบเดียวกับที่พวกเราในเมืองได้รับในเวลาจริง โลกไม่อาจเมินเฉยต่อการลงทุนในขีดความสามารถนี้ เพื่ออนาคตของธุรกิจสุขภาพ อนาคตของคนไข้ และอนาคตของคนรุ่นต่อไป
บทความนี้ เรียบเรียงจากคำกล่าวสุนทรพจน์ของ ดร. เครก บาร์เรตต์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร อินเทล คอร์ปอเรชั่น จากการสัมมนาเกี่ยวกับการปฏิรูปการดูแลสุขภาพด้วยโรงพยาบาลดิจิตอล (Transforming Healthcare through Digital Hospitals) ที่โรงแรมคอนราดเมื่อวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2547 และเรียบเรียงโดย บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณเพชราภรณ์ เจริญนิพนธ์วานิช
บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์: (66 2) 654-0654
e-Mail: petch.charoennibhonvanich@intel.com
คุณกรรภิรมย์ อึ้งภากรณ์
บริษัท คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
โทรศัพท์: (66 2) 627-3501
e-Mail: kanpirom.ungpakorn@carlbyoir.com.hk
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--