กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--ม.อ.
นายธนุส จิมีสิก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการเงิน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในสมาชิกทีมเจ้าของผลงานโครงการ Green Packaging หรือ บรรจุภัณฑ์สีเขียว คว้ารางวัล PTT CSR Star Team ที่สุดแห่งนักการเงินรุ่นใหม่หัวใจ CSR จากการแข่งขัน สุดยอดนักการเงินรุ่นใหม่ Young Financial Star Competition หรือ YFS 2012 นายธนุส จิมีสิก กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิตจำกัด (มหาชน) บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยมูลนิธิกองทุนพัฒนาระบบตลาดทุน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความรู้ความสามารถด้านการวางแผนการเงินและการลงทุน ซึ่งในปีนี้ตนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นสมาชิกทีมที่มีนักศึกษาจากหลายสถาบันมารวมตัวกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ร่วมกันนำเสนอผลงานโครงการ “Green Packaging” หรือ บรรจุภัณฑ์สีเขียว เข้าชิงรางวัลประเภท PTT CSR Star Team “ที่สุดแห่งนักการเงินรุ่นใหม่หัวใจ CSR” และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในประเภทนี้มาได้ในที่สุด
สำหรับโครงการ “Green Packaging” หรือ บรรจุภัณฑ์สีเขียว ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เริ่มจากการเข้าไปศึกษาพื้นที่และวิถีชีวิตชุมชนตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท จากนั้นนักศึกษาในทีมได้ร่วมกันวางแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีและความต้องการของชุมชนบนหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการนำชานอ้อย ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรที่มีอยู่มากในชุมชน มาบดและรีดให้กลายเป็นกระดาษ แต่งแต้มสีสันให้สวยงาม เพื่อใช้สำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่คนในชุมชนผลิตขึ้นจำหน่าย อาทิ สบู่ แชมพูจากสมุนไพร ผ้าทอ ซึ่งการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยนี้ มีวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ และชาวบ้านในชุมชนสามารถผลิตขึ้นได้ด้วยตนเอง เป็นการสร้างมูลค่าให้กับสิ่งที่ไร้ค่า ลดปริมาณขยะ และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่คนในชุมชน
นายธนุส จิมีสิก กล่าวเพิ่มเติมว่าเวทีการแข่งขันสุดยอดนักการเงินรุ่นใหม่ เป็นโครงการที่ทำให้นักศึกษาได้รับการฝึกฝนและทดสอบด้วยโจทย์ด้านการเงิน การลงทุนที่เข้มข้นและท้าท้าย และยังปลูกฝังให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างกิจกรรมเพื่อสังคมให้เกิดขึ้น โดยเน้นโครงการที่สามารถนำไปใช้และปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญต้องมาจากความต้องการของคนในท้องถิ่น เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพึ่งพาตนเอง สู่การเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง