กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--วธ.
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการเชิดชูเกียรติ “ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555” ว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดนิทรรศการเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของ 4 พระองค์ ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และมีผลงานศิลปะอันล้ำค่า ประกอบด้วย 1.นิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย องค์เอกอัครศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงเป็นปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานศิลปกรรมต่างๆ และทรงส่งเสริมศิลปินผู้มีฝีมือมาตลอดรัชสมัยของพระองค์อีก 2.นิทรรศการเทิดพระเกียรติ “อัครศิลปิน” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ด้วยพระองค์ทรงเป็นเอตทัคคะในศิลปะหลายสาขา อาทิเช่น ดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ และนฤมิตศิลป์ เป็นต้น ทรงได้รับการยกย่อง สดุดีในพระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ชัด บรรดาศิลปินต่างตระหนักในพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้ จึงพร้อมใจกันเทิดทูนพระเกียรติยศ โดยขอพระราชทานถวายพระราชสมัญญาเป็นพระคุณนามพิเศษแด่พระองค์
นายสนธยา กล่าวต่อว่า 3.นิทรรศการเทิดพระเกียรติ “อัคราภิรักษศิลปิน” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงได้รับสมัญญานาม “อัคราภิรักษศิลปิน” (เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555) ด้วยพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการพัฒนามรดกทางศิลปะของแผ่นดินให้เจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง สร้างอาชีพเสริมให้ราษฎรไทยผู้ยากไร้ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีฐานะในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และ4. นิทรรศการเทิดพระเกียรติ “วิศิษฎศิลปิน” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรง ทำนุบำรุง ส่งเสริมและสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนงให้ยีนยาวถาวรมาได้จนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงสนพระทัยศิลปะแทบทุกแขนง ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ นับตั้งแต่ดุริยางคศิลป์, นาฏศิลป์, ทัศนศิลป์, สถาปัตยกรรม ฯ ซึ่งพระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะหมดไป การกำหนดแนวทางการอนุรักษ์, พัฒนาและเผยแพร่ รวมไปถึงการคิดค้นหนทางในการดำรงศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป ทั้งนี้ สำหรับนิทรรศการเชิดชูเกียรติ “ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555” จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ประวัติและผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555 ทั้ง 16 ท่าน นอกจากนี้ยังมีการแสดงเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย อาทิ การแสดงการสร้างผลงานทัศนศิลป์ — สื่อผสม ประกอบดนตรี โดย ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี การอ่านบทอาศิรวาท โดยนางสาวทัศนีย์ ขุนทอง และการขับร้องเพลงอมตะ โดยเพลิน พรหมแดน เป็นต้น
นายสมส่วน พรหมสว่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) พุทธศักราช 2555 กล่าวว่า สิ่งที่ยึดมั่นในตลอดการเป็นศิลปิน จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ คือการยึดมั่นในความดี อยู่ในกรอบของวินัยที่ดี และในสังคมที่ดี โดยไม่ลืมพระคุณของผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำให้มีชื่อเสียง เช่น ผู้สนับสนุน หรือแฟนเพลงต่างๆ ที่ให้ความอุปการะมาโดยตลอด และพยายามหาผลงานเพลงที่คิดว่าเป็นเพลงที่ถูกใจของประชาชน ถึงแม้จะเป็นเพลงที่แปลกแต่ต้องมีเนื้อหา มีสาระที่ดี และคัดเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดออกมาร้อง ดังนั้น อยากฝากศิลปินรุ่นหลังให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี เมื่อมีชื่อเสียงแล้วอย่าหลงในชื่อเสียงของตัวเอง แต่ให้คิดว่ายังเป็นศิลปินตัวเล็กๆอยู่ ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นที่รักและมีชื่อเสียงยาวนาน
ด้านคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2555 กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ยิ่งใหญ่ เพราะตนได้ทำงานด้านวรรณกรรมมายาวนาน ซึ่งรู้สึกว่างานของตนมีคุณค่า และเป็นประโยชน์และคุณูปการของประเทศชาติ ซึ่งงานวรรณกรรมเป็นสิ่งที่สะท้อนสภาพสังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และเป็นงานวิชาการ ที่สะท้อนให้คนในยุคสมัยต่อมาได้ตระหนักในพระคุณของบรรพบูณาที่ได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาให้ศึกษาและถ่ายทอดวรรณกรรม ตลอดจนทำให้คนไทยตระหนักในความเป็นไทย หรือวิถีชีวิตในอดีต ถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต