กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน—มาร์สเตลเลอร์
มาตรวัดการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเอเชีย
ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคเอเชียโดยทั่วไปได้ยุติลงแล้ว
การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนโดยธนาคารกลางของหลายประเทศในเอเชียยังคงเป็นความลับที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางด้วยขนาดของตลาดในภูมิภาค โดยธนาคารกลางหลายแห่งได้ขายเงินสกุลของประเทศตนและหันไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหลักทรัพย์ระยะยาวของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้สกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียมีการอ่อนตัวที่ไม่แท้จริง และยังช่วยกระตุ้นนโยบายการเงินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
เมื่อไม่นานมานี้ สกุลเงินต่างๆ ในเอเชียเริ่มแข็งค่าขึ้น ซึ่ง เลแมน บราเดอร์ส คาดว่า ค่าเงินของประเทศใน ภูมิภาคเอเชียจะแข็งค่ามากขึ้นอีกในปีหน้า อย่างไรก็ดี ยังไม่มีทีท่าแน่ชัดว่า การที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นหมายถึงการที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เข้ามาแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเสมอไป ในกรณีที่ดุลการชำระเงินเกินดุลเพิ่มขึ้น (เช่น การประเมินว่าจะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าสูง) ก็มีโอกาสที่ค่าเงินจะแข็งค่าขึ้นและอาจจะมีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นด้วย เป็นที่น่าเสียดายว่า หลักการวัดปริมาณการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเอเชียโดยรวม และความต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ระยะยาวของสหรัฐอเมริกาของเอเชียยังมีข้อมูลที่จำกัด อย่างไรก็ตาม เลแมน บราเดอร์ส ได้พยายามประเมินการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางจาก 2 วิธีดังต่อไปนี้
วิธีที่ 1: ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศนับเป็นมาตรวัดการสะสมของเงินตราต่างประเทศสุทธิของธนาคารกลาง ซึ่งประเทศในเอเชียส่วนใหญ่จะถือเงินตราต่างประเทศในรูปของเงินดอลล่าร์สหรัฐ และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ระยะยาวของสหรัฐอเมริกา ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของภูมิภาคเอเชียจะได้รับการปรับปรุงเป็นประจำตามเวลาที่กำหนดเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน ซึ่งโดยปรกติจะล้าหลังประมาณ 1 เดือน อย่างไรก็ตาม การใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเป็นตัวชี้วัดการแทรกแซงการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศยังคงมีจุดอ่อน ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศยังเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นด้วย เช่น ผลตอบแทนสุทธิของการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งผลของการประเมินค่าอัตรา แลกเปลี่ยนของเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นๆ นอกเหนือจากเงินสกุลเหรียญสหรัฐ
จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศโดยรวมของเอเชียสะสมขึ้นจาก 686 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในช่วงเวลา 12 เดือน จากเดือนมีนาคม 2546 ถึงเดือนมีนาคม 2547 โดยการปรับตัวขึ้นของทุนสำรองฯ ในครั้งนี้เป็นทุนสำรองฯ ของญี่ปุ่นครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ทุนสำรองฯ ของญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 โดยสะสมขึ้นจาก 806 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนมีนาคม 2547 เป็น 818 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนตุลาคม 2547 ขณะที่ทุนสำรองฯ ของจีนมี การสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็วจาก 485 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนมีนาคม 2547 เป็น 560 พันล้านเหรียญในเดือนกันยายน 2547 สำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย การสะสมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศค่อนข้างจะคงที่หลังจากเดือนมีนาคม 2547 และเริ่มมีการปรับตัวขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547
วิธีที่ 2: ข้อมูลด้านเงินทุนต่างชาติของกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐอเมริกา
อีกวิธีที่ใช้ในการวัดระดับการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศเอเชียคือ การวิเคราะห์ข้อมูล รายเดือนของกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐอเมริกาด้านการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวของสหรัฐอเมริกาของ ต่างชาติ โดย เลแมน บราเดอร์ส ทำการคำนวณการซื้อสุทธิของภูมิภาคเอเชียในหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริการวม 3 ประเภท ได้แก่ พันธบัตรกระทรวงการคลังและตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้บริษัท เอกชน
อย่างไรก็ดี วิธีนี้ก็อาจจะให้ผลที่ไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกัน เพราะแม้ว่าธุรกรรมการซื้อขายจะกระทำโดยตรงจากผู้ซื้อต่างชาติกับหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีกรณีที่ผู้ซื้อขายต่างชาติบางรายเป็นเพียงผู้ดูแลทรัพย์สิน (Custodian) ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลที่มีอยู่จึงไม่สามารถชี้ชัดถึงประเทศของผู้ลงทุนที่แท้จริง นอกจากนี้ การซื้อขาย ไม่ได้จำเพาะแค่ธนาคารกลางเพียงอย่างเดียว หากแต่ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินต่างชาติทั้งหมด อีกทั้งข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้รวมถึงการซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีการชำระเงินเป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐของต่างชาติ ตลอดจนการไหลเข้าของเงินตราต่างชาติในรูปของเงินฝากในธนาคารในสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ เลแมน บราเดอร์ส พบว่า การเปลี่ยนแปลงของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศโดยรวมของเอเชียในแต่ละเดือนและการซื้อหลักทรัพย์ระยะยาวของสหรัฐอเมริกาสุทธิของประเทศในภูมิภาคเอเชียแต่ละเดือนในช่วง ที่ผ่านมามีความเชื่อมโยงกัน ถึงกระนั้นก็ตาม ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศโดยรวมของเอเชียในไตรมาส 1 มี การปรับตัวสูงกว่าการซื้อหลักทรัพย์ระยะยาวของสหรัฐอเมริกาสุทธิของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นไปได้ว่า ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียอาจมีการกระจายสกุลเงินตราต่างประเทศในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ นอกเหนือจากเงินสกุลเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนเมษายน 2547 ถึงเดือนสิงหาคม 2547 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์กลับกันนั่นคือ การซื้อหลักทรัพย์ระยะยาวของสหรัฐอเมริกาสุทธิของภูมิภาคเอเชียรายเดือนปรับตัวสูงกว่าระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศโดยรวมของภูมิภาคเอเชีย
ทั้งนี้ สามารถอธิบายได้ในอีกแง่มุมหนึ่งว่า มีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในเอเชียในไตรมาส 1 อย่างมากจนทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในเอเชียไม่สามารถซื้อหลักทรัพย์ระยะยาวของสหรัฐอเมริกาได้ทัน ส่งผลให้มีปริมาณเงินจำนวนมากเหลืออยู่ในระบบเงินฝากของธนาคารในสหรัฐอเมริกา (ข้อมูลนี้ไม่ถูกระบุในข้อมูลของกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐอเมริกา) ดังนั้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 เป็นต้นมา ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่จะจัดสรรทุนสำรองเงินตราต่างประเทศใหม่จากเงินฝากในธนาคารของสหรัฐอเมริกาเป็นหลักทรัพย์ระยะยาวของสหรัฐอเมริกา และจากข้อมูลล่าสุดในเดือนกันยายน 2547 จาก การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเอเชีย (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) ทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศโดยรวมของเอเชียได้ปรับตัวสูงกว่าการซื้อหลักทรัพย์ระยะยาวของสหรัฐอเมริกาสุทธิโดยรวมของเอเชียอีกครั้งหนึ่งซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 ด้วยเหตุนี้ เลแมน บราเดอร์ส จึงใคร่สรุปว่า ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่า การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคเอเชียโดยทั่วไปได้ยุติลงแล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
อาซิแอม เบอร์สัน—มาร์สเตลเลอร์
วราพร สมบูรณ์วรรณะ
สาธิดา ศรีธัญญาธรณ์
โทร 0 2252 9871--จบ--