กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--เอ็ม พิคเจอร์ส
จัดจำหน่ายโดย เอ็ม พิคเจอร์ส
ชื่อภาษาไทย สู้เพื่อดวงใจอันยิ่งใหญ่
ภาพยนตร์แนว ดราม่า
จากประเทศ ฝรั่งเศส
กำหนดฉาย 25 เมษายน 2556
ณ โรงภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์
ผู้กำกับ Maiwenn (มายเวนน์)
อำนวยการสร้าง Alain Attal (อัลแลง อัททัล)
นักแสดง Karin Viard (คาริน วิอาร์ด) รับบทเป็น Nadine (นาดีน)
จากภาพยนตร์เรื่อง L’emploi du temps , Le Couperet
Joey Starr (โจอี้ สตาร์) รับบทเป็น Fred (เฟร็ด)
จากภาพยนตร์เรื่อง Authentiques , L’amour dure trios ans
Marina Fois (มารินา โฟอิส) รับบทเป็น Iris (ไอริส)
จากภาพยนตร์เรื่อง L’immortel , Astrix & Obelix , Mission Cleopatre
Nicolas Duvauchell (นิโคลา ดูโวเชลล์) รับบทเป็น Mathieu (มาติเยอ)
จากภาพยนตร์เรื่อง
Maiwenn (มายเวนน์) รับบทเป็น Melissa (เมลิสซ่า)
จากภาพยนตร์เรื่อง The Fifth Element , Haute tension
Karole Rocher (คาโรล โรเชอร์) รับบทเป็น Chrys (ไครส)
จากภาพยนตร์เรื่อง Princesses , Stella , Les neiges du Kilimandjaro
เรื่องย่อ
กิจวัตรประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจของหน่วยคุ้มครองเด็ก หน้าที่ของพวกเขาคือ การจับพวกล่วงละเมิดเด็ก การรวบตัวพวกล้วงกระเป๋ารุ่นเยาว์ การสืบสวนที่พ่อแม่ทำร้ายลูกตัวเอง ฟังคำให้การของเด็กที่มีปัญหา รวมทั้งเรื่องปัญหาเซ็กซ์ของวัยรุ่น พวกเขารับรู้ถึงสิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นและกลาบเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันไปแล้ว เมื่อ เฟร็ด นายตำรวจมือใหม่ที่อ่อนไหวต้องเจอกับสถานการณ์กดดันและถูกจับตามองจาก เมลิสซา ช่างภาพที่ถูกกระทรวงมหาดไทยส่งตัวมาเพื่อเก็บรายละเอียดและตามติดเรื่องราวต่างๆการทำงานของหน่วยงานคุ้มครองเด็ก นี่คือเรื่องราวที่จะตีแผ่วิธีการทำงานคุ้มครองเด็กที่โด่งดังที่สุด ได้รับการถูกเสนอชื่อเข้าชิง 13 ซีซาร์ อวอร์ด ของฝรั่งเศส ถือว่าเป็นหนังที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากที่สุด และคว้า 2 รางวัล “ตัดต่อยอดเยี่ยม” และ “นักแสดงหญิงที่น่าจับตา” รวมทั้ง คว้ารางวัล “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” จาก JURY PRIZE ที่ เมืองคานส์
เปิดใจผู้กำกับภาพยนตร์... Maiwenn (มายเวนน์)
Q: คุณคิดไอเดียของการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับหน่วยคุ้มครองเด็กขึ้นมาได้อย่างไร?
A: ฉันบังเอิญได้ดูสารคดีเกี่ยวกับหน่วยคุ้มครองเด็กและประทับใจอย่างมาก วันรุ่งขึ้น ฉันโทรไปหาสถานีโทรทัศน์ทันทีแล้วบอกว่าฉันอยากติดต่อกับผู้กำกับสารคดีคนนั้น ฉันอยากจะรู้ว่าฉันจะไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยคุ้มครองเด็ก (ซีพียู) ได้ยังไงน่ะค่ะ
Q: นั่นเป็นขั้นตอนต่อไปใช่มั้ย
A: ก่อนที่ฉันจะมั่นใจว่าฉันอยากจะเขียนบทภาพยนตร์เกี่ยวกับซีพียูจริงๆ ฉันรู้สึกว่าฉันจะต้องทำความรู้จักกับชีวิตของตำรวจเหล่านี้เสียก่อน ฉันอยากจะใช้เวลากับพวกเขา ฟังพวกเขา และดูพวกเขาใช้ชีวิต มันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและยากเย็นค่ะ แต่ในที่สุด ฉันก็ได้รับการยอมรับให้ “ฝึกงาน” และฉันก็จากกลุ่มหนึ่งไปหาอีกกลุ่มหนึ่ง ฉันจดบันทึก ทำตัวเป็นเหมือนฟองน้ำที่ดูดซับข้อมูลทั้งหมดเท่าที่ฉันจะหาได้ แม้กระทั่งระหว่างพักรับประทานอาหารเที่ยงสามชั่วโมง หรือหลังเลิกงานที่พวกเขาไปดื่มกัน ฉันก็จะตามไปด้วยเพื่อที่จะไม่พลาดการพูดคุยของพวกเขาและฉันก็จะรัวคำถามใส่พวกเขาค่ะ
Q: เวลาที่คุณอยู่กับพวกเขาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับบทภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน
A: สิ่งที่ฉันเขียนได้เค้าโครงมาจากเรื่องราวที่ฉันได้เห็นจริงๆ หรือจากเรื่องราวที่พวกเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกฉัน ฉันได้เปลี่ยนแปลงบางสิ่งในบางคดีไปบ้าง แต่ฉันก็ไม่ได้คิดมันขึ้นมาเอง ฉันได้รู้อย่างละเอียดว่าตำรวจพวกนี้ทำอะไรบ้างในแต่ละวัน และฉันก็ไม่อยากข้ามหน้าที่หนึ่งใดของพวกเขาไปเลย ฉันอยากจะพูดถึงพวกล่วงละเมิดเด็ก เพศสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในครอบครัวชั้นสูง สภาพการณ์ของพวกวัยรุ่น และ ฯลฯ…ในทางกลับกัน ฉันพบว่าสิ่งสำคัญคือการแสดงให้เห็นว่าในตอนที่พวกเขารับคดีหนึ่งๆ พวกเขาจะติดตามมันตราบใดที่ผู้ต้องหายังอยู่ในการควบคุมตัว แต่พวกเขาอาจจะไม่ได้รับฟังคำตัดสินที่ออกมา พวกเขาจะต้องรับมือกับคดีแล้วคดีเล่าอย่างรวดเร็วเพื่อจะไม่เกิดความรู้สึกเกี่ยวข้องกับคดีใดคดีหนึ่ง ฉันก็เลยตั้งใจที่จะไม่ให้ผู้ชมได้รู้ว่าผู้ต้องหาต่อไปเป็นยังไงบ้าง เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง
Q: แล้วการเขียนบทร่วมกับเอ็มมานูเอล เบอร์ค็อทเป็นยังไงบ้าง
A: ตอนแรก ฉันเขียนดราฟท์แรกขึ้นมาด้วยตัวเอง แล้วเอ็มมานูเอล เบอร์ค็อทก็ค่อยมาร่วมมือกันฉันทีหลังค่ะในตอนแรก เธอตั้งใจจะร่วมงานกับฉันไม่นานนัก เราเป็นเพื่อนรักกันค่ะและเธอก็กลัวว่าการทำงานร่วมกันจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเรา แต่ฉันไม่เห็นด้วยกับเธอ ฉันมั่นใจว่าการร่วมงานกันครั้งนี้จะทำให้มิตรภาพของเราแน่นแฟ้นขึ้นและงานของเราก็จะได้ประโยชน์จากเรื่องนั้น เธอก็เลยบอกฉันว่า “ฉันจะร่วมงานกับคุณสิบวันนะ ไม่มากไปกว่านั้น มันคงจะนานพอที่เราจะกำหนดลักษณะตัวละครได้อย่างชัดเจน แล้วคุณก็ดูแลเรื่องไดอะล็อคไป ฉันจะไม่ไปยุ่งด้วยหรอกนะ” สิบวันให้หลัง เธอยังอยู่กับฉัน เรามีออฟฟิศในกองถ่าย และเราก็จะทำงานเกือบทุกวัน ตั้งแต่เก้าโมงเช้า และเมื่อวันแล้ววันเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าผ่านไป เราก็เริ่มคุยกันถึงโครงสร้างของการเล่าเรื่อง เราปรับมันใหม่ด้วยกัน แล้วเราก็จัดการกับไดอะล็อค มันหลั่งไหลออกมาอย่างเป็นธรรมชาติทีเดียวค่ะ เธอพร่ำปฏิเสธที่จะเขียน แต่เธอกลับเป็น คนที่คิดบทไดอะล็อคออกมา แล้วฉันก็เป็นคนพิมพ์ แล้ววันหนึ่งเธอก็พูดว่า “โอเค ฉันรู้สึกว่าฉากนี้ใช้ได้แล้วล่ะ ฉันจะเขียนไดอะล็อคเอง” แล้วเธอก็นั่งตรงหน้าคอมพิวเตอร์ ฉันประทับใจมากที่ได้เห็นภาพนั้น หลังจากสองสามเดือนที่เธอทำงานกับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ มันก็กลายเป็นบทภาพยนตร์ “ของเรา” ค่ะ
ฉันต้องบอกว่าในดราฟท์แรก ถึงแม้คุณอาจไม่อยากเชื่อก็เถอะ เจ้าหน้าตำรวจกลายเป็นตำรวจนอกรีต ที่พอรวบผู้ร้ายเสร็จ ก็มุ่งหน้าไปใช้เงินที่ลาสเวกัส! แต่อัลแลง อัททัลเปลี่ยนใจฉัน แล้วงบประมาณฉันก็ไม่มากพอที่จะถ่ายทำที่ลาสเวกัสได้ด้วย ฉันก็เลยต้องบอกว่าการร่วมงานกับเอ็มมานูเอล เบอร์ค็อทเป็นอะไรที่เป็นประโยชน์มากๆ ฉันคิดว่าเราเติมเต็มกันและกันค่ะ เธอนำ “ความสมจริง” มาสู่งานของเราและประโยคติดปากของเธอก็คือ “มันฟังดูสมจริง” ในทางกลับกัน ฉันพยายามเพิ่มอารมณ์ขันเข้าไปเพราะนั่นคือสิ่งที่สะดุดใจฉันตอนที่ฉันไปที่ซีพียู ฉันตระหนักว่าอารมณ์ขันเป็นอาวุธเพียงหนึ่งเดียวที่พวกเขาใช้ต่อสู้กับความทุกข์ทนของมนุษย์ค่ะ
Q: มันมีความเป็นเพื่อนพ้องที่ชัดเจนระหว่างบรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจ…
A: สิ่งที่ฉันสนใจคือหน่วยงานนี้ดูเหมือนครอบครัวค่ะ พวกเขาอยู่ด้วยกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ พวกเขากินข้าวเช้าและไปดื่มหลังเลิกงานด้วยกันด้วยซ้ำไป! แต่บางครั้ง ความสัมพันธ์ของพวกเขาก็จะตึงเครียดเพราะมันมีการแข่งขันและเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย…คุณจะต้องนึกถึงว่าเจ้าหน้าที่ซีพียูหลายคนเป็นผู้หญิง และพวกเธอก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งต่างจากเจ้าหน้าที่ผู้ชายน่ะค่ะ
Q: นอกจากนี้คุณยังได้ถ่ายทอดถึงความขี้ขลาดหลากหลายรูปแบบในตัวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนเมื่อต้องรับมือกับผู้ต้องสงสัยที่มีอิทธิพลด้วย
A: ใช่ค่ะเรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา และตัวเจ้าหน้าที่เองเป็นคนเล่าให้ฉันฟัง มันเป็นคดีของผู้มีอำนาจคนหนึ่ง เขาข่มขืนลูกสาวตัวเองมาหลายปีแต่เขากลับหลุดพ้นจากความผิดไปได้เพราะสถานะและเครือข่ายของเขา แม้ว่าผู้กำกับเองจะยืนกรานว่าความอยุติธรรมแบบนั้นเป็นอดีตไปแล้วและปัจจุบันนี้ มันไม่ได้มีเรื่องแบบนั้นแล้ว คงจะไม่จริงถ้าจะบอกว่าผู้ต้องสงสัยทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
Q: นี่เป็นภาพยนตร์ที่ให้น้ำหนักตัวละครมากๆ เลย คุณคิดเรื่องของตัวละครขึ้นมาได้ยังไง
A: ตัวละครส่วนมากจะเป็นตัวละครที่สร้างขึ้นใหม่ค่ะ ซึ่งจะแตกต่างจากคดีซึ่งเป็นเรื่องจริง ฉันกับเอ็มมานูเอล เบอร์ค็อทได้เขียน “ไบเบิล” สำหรับตัวเอกแต่ละคน ที่มีข้อมูลอ้างอิงทางชีวประวัติและบุคลิกลักษณะ รวมถึงรายละเอียดเรื่องความสัมพันธ์และความเป็นปรปักษ์ภายในสมาชิกหน่วย แม้ว่าคุณจะไม่พบข้อมูลทั้งหมดนี้ในภาพยนตร์ แต่มันก็ช่วยนักแสดงบางคนที่จะมาศึกษา “ไบเบิล” ระหว่างการถ่ายทำน่ะค่ะ
Q: แล้วคุณยังได้พูดถึงเรื่องที่ซีพียูและแผนกอื่นๆ ในกรมตำรวจมีปัญหาในการทำงานร่วมกันด้วย
A: ค่ะ แผนกอื่นๆมักจะดูแคลนตำรวจในซีพียู! แล้วพวกเขาก็ถูกล้อว่าเป็น “หน่วยเบบี้ด้วย” มันเป็นเรื่องประหลาดที่แผนกยาเสพติดจะมีทรัพยากรมากกว่า แม้ว่ามันจะมีบทบาทสำคัญก็เถอะ มากกว่าแผนกที่มีหน้าที่คุ้มครองเด็กและวัยรุ่นในปารีส! เด็กทารกถูกเขย่าตัวอย่างรุนแรงเหรอ? พวกเขาเป็นผู้ดูแลคดีนั้น วัยรุ่นฆ่าตัวตาย? พวกเขาก็เป็นผู้ดูแลอีก เด็กหนีออกจากบ้าน? ก็พวกเขาอีก ฉันขอเสริมรายละเอียดเล็กๆ อย่างหนึ่งค่ะ หน่วยคุ้มครองเด็กจะรับมือกับเหยื่อที่อายุไม่บรรลุนิติภาวะเท่านั้น ถ้าเด็กที่อายุไม่บรรลุนิติภาวะกระทำความผิดต่อผู้ใหญ่ เขาหรือเธอก็จะถูกส่งตัวไปยังแผนกที่เชี่ยวชาญในการกระทำผิดแบบนี้ แต่บางครั้ง เด็กก็คิดว่าตัวเองเป็นผู้กระทำผิดทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว พวกเขาเป็นแค่เหยื่อ พวกนักล้วงกระเป๋าในรถไฟใต้ดินก็เป็นแบบนั้นค่ะ พวกเขาเป็นผู้เยาว์ที่ถูกเอาเปรียบ เป็นเหยื่อ และหน้าที่ของซีพียูคือจับตัวพวกที่ใช้ประโยชน์จากเด็กๆ พวกนี้ สิ่งที่ทำให้งานของพวกเขายากเป็นพิเศษคือคนที่ใช้ประโยชน์พวกเขาคือ...ครอบครัวของพวกเขาเอง สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็ต้องจับไม่พ่อแม่ ก็พี่ชาย ลุง หรือครู...นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้งานของพวกเขาซับซ้อนค่ะ พวกเขาต้องอธิบายให้ผู้พิพากษาฟังว่า เพศสัมพันธ์ในครอบครัว การข่มขืน หรือการทำทารุณเกิดขึ้นภายในครอบครัวและมันก็ไม่ได้ถูกกระทำอย่างรุนแรง ความรุนแรงอาจเงียบงันก็ได้...ฉันคิดว่ามันเป็นความรุนแรงประเภทที่ร้ายแรงที่สุด เป็นความรุนแรงที่ไม่มีเสียงค่ะ
Q: คุณเปลี่ยนจากฉากที่รวดร้าวใจไปสู่ฉากตลก
A: ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เหตุการณ์ที่เลวร้ายเป็นเรื่องตลกได้เพราะไม่อย่างนั้นชีวิตมันก็จะเกินรับไหวค่ะ และอย่างที่ฉันพูดไปแล้วว่า มันเป็นทางเดียวที่ตำรวจพวกนี้จะมีชีวิตรอดได้ค่ะ
Q: ในสิ่งแวดล้อมนี้ เจ้าหน้าที่ดูเหมือนจะปล่อยให้งานของพวกเขามาส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของพวกเขากับลูกๆ มันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้รึเปล่า
A: ค่ะ นั่นเป็นสิ่งที่ฉันสังเกตได้ มันเป็นภาพสะท้อนระหว่างชีวิตการทำงานของตำรวจพวกนี้กับชีวิตส่วนตัวของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น ฉันจำได้ว่ามีตำรวจคนหนึ่งบอกฉันว่าตั้งแต่เขาทำงานกับหน่วยนี้ เขาจั๊กจี้ลูกสาวตัวเองไม่ได้เลย ทุกอากัปกิริยาจะถูกเลือกอย่างระมัดระวัง รอบคอบและผ่านการไตร่ตรองอย่างดี ซึ่งในความคิดเห็นของฉัน มันมากเกินไปด้วยซ้ำ นั่นคือสิ่งที่เราเห็นตอนโจอี้สตาร์อาบน้ำให้ลูกสาวของเขาค่ะ
Q: ช่วยพูดถึงงานกล้องหน่อยได้ไหม
A: ในความคิดเห็นของฉัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกล้องจะต้องเป็นตัวขัดขวางให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มันจะต้องโฟกัสไปที่นักแสดง ไม่ใช่ในทางตรงข้าม ฉันอยากให้นักแสดงลืมเรื่องกล้อง แต่ฉันก็ไม่มีวิธีไหนเป็นพิเศษที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ ฉันก็แค่ปรับตัวให้เข้ากับนักแสดงแต่ละคน แต่ละสถานการณ์ และฉันก็ต้องคอยจัดการความท้าทายของงานกล้องให้ผ่านไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนใหญ่แล้ว เราจะใช้กล้องดิจิตอลสองตัว หรือบางทีก็สาม เพราะฉากเราค่อนข้างเล็กค่ะ ฉันถามทีมกล้องของฉัน ปิแอร์เอม, แคลร์ มาธอนและโจวัน เลอ เบสโก ให้ “รู้สึก” ถึงอารมณ์และใช้ชีวิตกับนักแสดง พวกเขาจะต้องทำตัวเหมือนอากาศธาตุและนักฟังที่ดีในขณะเดียวกัน แคลร์ มาธอน ผู้ซึ่งฉันเคยร่วมงานด้วยในหนังสามเรื่องมาแล้ว เยี่ยมมาก ฉันแทบไม่ต้องพูดกับเธอด้วยซ้ำ ส่วนโจวาน เขามักจะถ่ายช็อตแบบฉับพลันเสมอ ซึ่งฉันชอบค่ะ ปิแอร์เอมมีหน้าที่ดูแลเรื่องแสง ทั้งสามคนสำคัญเท่าๆ กัน ฉันรู้ว่าในกองถ่ายทั่วๆ ไป ช่างกล้องจะใกล้ชิดกับผู้กำกับมากๆ แต่นั่นไม่ใช่วิธีทำงานของฉันค่ะ คนที่ถือกล้องจะต้องทำตามสัญชาตญาณและฉันก็อยากให้พวกเราสี่คนมีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้น ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับฉันแล้ว แสงจะมาเป็นอันดับแรก สิ่งที่สำคัญจริงๆ แล้วคือการบันทึกช่วงเวลาของความจริง และในการทำแบบนั้นได้ คุณจะต้องฟังทุกอย่างรอบตัวคุณและพร้อมที่จะถ่ายทำในทันที และนั่นก็คือสิ่งที่เราทำค่ะ
Q: มีภาพยนตร์เรื่องไหนมั้ยที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคุณน่ะ
A: ค่ะ ก่อนอื่นเลย ฉันคิดว่าฉันได้ดูหนังตำรวจมาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหนังฝรั่งเศสหรือหนังต่างประเทศ...แม้แต่อัลแลง เดอลอง ตอนที่เขารับบทเป็นตำรวจก็เถอะ แต่แรงบันดาลใจของฉันจิรงๆ มาจากสารคดีเกี่ยวกับตำรวจของเวอร์จิล เวอร์เนียร์ พวกเขาแสดงให้เห็นถึงมุมมองของผู้กำกับภาพยนตร์จริงๆ ที่มีต่อชีวิต พูดแบบกว้างๆ สารคดีชั้นเลวเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันมากกว่าภาพยนตร์ดีๆ อีกค่ะ ฉันไม่ได้เป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์และฉันก็ไม่ได้พยายามจะเป็นแบบนั้น แต่ฉันต้องบอกว่า ความรู้ของฉันไม่ได้ช่วยฉันในการเขียนซักเท่าไหร่ สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกตื้นตันและทำให้ฉันรู้สึกอยากเขียนคือตอนที่ฉันรู้ว่าเรื่องราวนั้นเกิดขึ้นจริงๆ สิ่งที่ผลักดันให้ฉันก้าวต่อไปคือเหตุการณ์ในชีวิตจริงค่ะ
Q: ทำไมคุณถึงเลือกโจอี้สตาร์เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
A: ก่อนที่ฉันจะรู้ว่าฉันจะถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับหน่วยซีพียู ฉันก็อยากให้เขามาแสดงนำในภาพยนตร์เรื่องใหม่ของฉันแล้วและฉันก็ตั้งใจจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับความรักระหว่างตัวละครสองตัวที่มีแบ็คกราวน์ตรงกันข้าม นั่นเป็นส่วนผสมพื้นฐานอย่างหนึ่ง แต่ฉันก็ไม่มั่นใจว่าจะใช้มันยังไง แล้วพอฉันได้ดูสารคดีเกี่ยวกับซีพียู ฉันก็รู้เลยว่าฉันจะให้บทอะไรกับเขา ฉันเขียนภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเขา เขาเป็นแรงผลักดันของฉัน เป็นแรงบันดาลใจของฉัน ยิ่งไปกว่านั้น ฉันอยากให้เขาประหลาดใจและทำให้เขาภูมิใจ อีกอย่างหนึ่ง ฉันรู้สึกว่าฉันไม่ได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเขาเท่าที่ควรใน THE ACTRESS’ BALL และฉันก็อยากจะลงลึกลงไปอีก เพื่อเข้าถึงความเปราะบางและความถ่อมตัวที่ลึกที่สุดของเขาน่ะค่ะ
Q: แล้วกระบวนการคัดเลือกนักแสดงเป็นยังไงบ้าง คุณรู้สึกอยากร่วมงานกับทีมนักแสดงจากTHE ACTRESS’ BALL อีกครั้งรึเปล่า
A: การทำงานกับนักแสดงบางคนไม่ได้หมายความว่าเราจะเลือกพวกเขาอีกครั้งเสมอไปค่ะ ฉันไม่ใช่คนรักพวกพ้องนักในเรื่องของการคัดเลือกนักแสดง ฉันโฟกัสไปที่ภาพยนตร์และตัวละครเพียงอย่างเดียว มีนักแสดงบางคนที่ใกล้ชิดกับฉันมากๆ ผู้ที่ฉันไม่ได้เลือกอีกครั้ง และฉันก็หวังว่าพวกเขาจะไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องของความชอบ ไม่ชอบอะไร ฉันเพียงแต่เลือกนักแสดงที่จะมาเล่นเป็นตำรวจได้อย่างสมบทบาท ในความเห็นของฉัน พวกเขาทุกคนจะต้องมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน นั่นคือจะต้องดูเหมือนชนชั้นทำงานและพูดด้วยสำเนียงปารีเซียงค่ะ
Q: แล้วนักแสดงเปลี่ยนตัวเองไปเป็นตัวละครของพวกเขาได้ยังไง
A: พวกเขาได้เข้าเวิร์คช็อป แต่ไม่ได้เป็นในซีพียู เพราะผู้กำกับการบอกฉันว่ามันเป็นไปไม่ได้ ฉันก็เลยจ้างตำรวจสองคนที่เคยทำงานในหน่วยนี้มาก่อน เพื่อให้นักแสดงได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานตลอดหนึ่งสัปดาห์ วันละแปดชั่วโมง ทุกวันเราจะดูสารคดีเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ใครอบครัวและเรื่องตำรวจทั้งหลาย เช่นการค้ายา อาชญากรรมกระจอกและอาชญากรรมของแก๊ง และ ฯลฯ...ความตั้งใจของฉันคือการให้ข้อมูลกับจิตใต้สำนึกของพวกเขา การได้ซึมซับบรรยากาศแบบนี้ทำให้พวกเขาลอกเลียนแบบอารมณ์ขันและวิถีปฏิบัติของตำรวจได้ การทำให้คนเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ทำงานร่วมกันมานานไม่ใช่งานง่ายๆ เลย และนี่ก็เป็นเป้าหมายของเวิร์คช็อปด้วยเช่นกันค่ะ
Q: คุณอยู่กับพวกเขาด้วยตอนที่พวกเขาฝึกฝนสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยรึเปล่า
A: ค่ะ เพราะฉันมีสิ่งต้องเรียนรู้มากมาย และตลอดการทำงาน ตั้งแต่กระบวนการเตรียมงานสร้างไปจนถึงการลำดับภาพ ฉันก็เรียนรู้อยู่เรื่อยๆ ฉันพยายามจะทำความเข้าใจลงลึกถึงวิธีการทำงานของซีพียู แล้วฉันก็ได้แต่สงสัยและกังวลว่าฉันจะสร้างหนังที่น่าเชื่อออกมาได้รึเปล่า ฉันรู้สึกสบายๆ กับหัวข้อของภาพยนตร์สองเรื่องแรกของฉัน แต่ฉันรู้สึกว่าฉันเสี่ยงกับPOLISS เพราะฉันรู้สึกว่ายังไม่รู้แจ้งเห็นจริงเกี่ยวกับอาชีพตัวละครของฉัน มันทำให้ฉันต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอยู่ด้วยระหว่างการถ่ายทำ พวกเขาช่วยฉันในการแก้ปัญหาในตอนที่สถานการณ์ดูไม่สมจริงสำหรับพวกเขาค่ะ
Q: เรื่องการลำดับภาพล่ะ...
A: ฉันโชคดีที่ได้ร่วมงานกับมือลำดับภาพที่วิเศษสุด อย่างลอเร การ์เด็ตต์ ที่ทำงานกับฉันตั้งแต่ฉันเริ่มทำงานใหม่ๆ, ยาน เดเด็ต ที่คอยช่วยเราและโลอิค ลัลเลมันด์ เป็นผู้ช่วยลำดับภาพ เราถ่ายทำฟิล์มทั้งหมด 150 ชั่วโมง...จากนั้น เราก็ทำงานในห้องลำดับภาพสามห้องนานามเดือน ฉันต้องปรับตัวให้เข้ากับพวกเขาสามคนเพราะแต่ละคนต่างก็มีวิธีการทำงานของตัวเอง มันเป็นเรื่องยากแม้ว่าการทำงานได้อย่างรวดเร็วจะเป็นเรื่องดีก็ตาม พอฉันมีคัทแรกเสร็จ ฉันก็ทำงานกับลอเรนเดียวเพราะฉันต้องการคำแนะนำจากคนๆ เดียวเท่านั้น คัทแรกยาวประมาณ 3 ชั่วโมง 20 นาที พอฉันได้เห็นหน้าของอัลแลง อัททัลระหว่างการฉาย ฉันก็ปรับเปลี่ยนมันใหม่กับลอเรทันที อัลแลงเป็นคนช่างพูดในตอนที่เขาคิดว่ามันเยี่ยมพอๆ กับตอนที่เขาคิดว่ามันแย่ บางครั้งเขาบอกฉันว่า “มันห่วย ตัดมันทิ้งไปเลย!” แล้วเขาก็จะบอกว่า “เยี่ยมมาก! ถ้าคุณตัดฉากนี้ออก ผมจะฆ่าคุณ!” ความกระตือรือร้นหรือการขาดความกระตือรือร้นของเขาเป็นอะไรที่คอยช่วยฉันค่ะ ฟิลิปเป้ เลเฟบเว ก็เหมือนกัน เขาเป็นคนแนะนำให้ฉันรู้จักกับโปรดักชันส์ ดู เทรเซอร์ และช่วยเหลือฉันอย่างมากแม้กระทั่งระหว่างช่วงเขียนบทก็ตาม
Q: ทำไมคุณถึงอยากร่วมงานกับคอมโพสเซอร์สตีเฟน วอร์เบ็ค
A: เขาเป็นคนแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ของนิโคล การ์เซียเรื่อง A VIEW OF LOVE ซึ่งฉันชอบมากๆ ฉันอยากจะได้โทนที่ให้อารณ์ตะวันออก ‘มีความเป็นเชื้อชาติ’ อย่างในดนตรีของเขา โดยที่ไม่ขับเน้นเรื่องของอารมณ์เกินไปน่ะค่ะ
Q: ทำไมคุณถึงตั้งชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า POLISS แทนที่จะเป็น POLICE
A: อย่างแรกเลย ชื่อเรื่องควรจะเป็น POLICE ค่ะ แต่มันมีภาพยนตร์ชื่อนั้นแล้ว และมันก็เยี่ยมทีเดียว! แล้วฉันก็นึกถึงชื่อ YOU’RE FROM THE POLICE? แต่ฉันก็มาคิดได้ว่า ชื่อนั้นก็ถูกใช้ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่แล้ววันหนึ่ง ตอนที่ลูกชายฉันกำลังฝึกเขียน คำว่า POLISS ที่เขียนแบบผิดๆ ด้วยลายมือแบบเด็กๆ ก็กระแทกใจฉันว่าเป็นชื่อที่เหมาะกับเนื้อหาของเรื่องมากเลยน่ะค่ะ