กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไอบีเอ็มรับรางวัลทรงเกียรติสูงสุดทางด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เป็นครั้งที่ 10 การทดลองกับเศษไก่งวงที่เหลือจากงานเลี้ยงวันขอบคุณพระเจ้านำไปสู่การคิดค้นเทคโนโลยีแก้ไขสายตา สร้างประโยชน์แก่ประชาชนกว่า 25 ล้านคนทั่วโลก
ประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯ มอบเหรียญรางวัลเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติแก่นักวิทยาศาสตร์ 3 คนของไอบีเอ็ม ประกอบด้วย เจมส์ เจ. ไวน์ รังกาสวามี ศรีนิวาสถาน และซามูเอล บลูม สำหรับการค้นพบรูปแบบใหม่ของการผ่าตัดด้วยเลเซอร์โดยใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Laser) ซึ่งเป็นรากฐานของการศัลยกรรมแก้ไขความผิดปกติของสายตาแบบเลสิก (LASIK) และ PRK ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และได้ช่วยปรับปรุงการมองเห็นให้แก่ผู้คนมาแล้วกว่า 25 ล้านคนทั่วโลก
ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีโอบามาได้มอบรางวัลแก่ ดร. ไวน์ และ ดร. ศรีนิวาสถาน เป็นการส่วนตัว ในพิธีมอบรางวัลที่จัดขึ้นเป็นพิเศษที่ทำเนียบขาว โดยเหรียญรางวัลเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาตินับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดของสหรัฐฯ ที่มอบให้แก่นักประดิษฐ์ชั้นนำสำหรับผลงานทางด้านเทคโนโลยี และก่อนหน้านี้ไอบีเอ็มเคยได้รับเหรียญรางวัลฯ ดังกล่าวมาแล้ว 9 ครั้ง
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “การได้รับรางวัลเชิดชูผลงานวิจัยในครั้งนี้ นับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่สำหรับไอบีเอ็ม ความสำเร็จในครั้งนี้คือเครื่องยืนยันถึงวัฒนธรรมของไอบีเอ็มที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และช่วยแก้ไขปัญหาท้าทายในโลก โดยการสร้างสรรค์ต่างๆ เป็นผลมาจากการหลอมรวมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชาของไอบีเอ็ม ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ยาวไกล”
ผลงานที่นำสู่การเปลี่ยนมิติของเทคโนโลยีเลเซอร์นี้ นับเป็นการปฏิวัติวงการศัลยกรรม กล่าวคือ เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ซึ่งเหมาะสำหรับการผ่าตัดที่ต้องการความละเอียดอ่อนและความแม่นยำสูง ได้ถูกนำมาใช้แทนเครื่องมือแบบเดิมๆ อย่างมีดผ่าตัด ซึ่งมีความแม่นยำไม่เพียงพอและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กระจกตาอย่างถาวร อีกทั้งผู้ป่วยยังต้องใช้เวลานานในการพักฟื้นหลังผ่าตัดอีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์ไอบีเอ็มคณะดังกล่าวได้ทำการทดลองที่น่าตื่นเต้นนี้หลังวันขอบคุณพระเจ้าเมื่อปี 2524 โดยการทดลองฉายแสงเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ลงบนกระดูกอ่อนของไก่งวงที่เหลือจากงานเลี้ยง และพบหลังจากนั้นว่าเนื้อเยื่อโดยรอบไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ส่งผลให้เกิดแนวคิดที่ว่าแสงเลเซอร์นี้อาจสามารถนำไปใช้ในทางสาธารณสุขและการแพทย์ได้
ด้วยการใช้จังหวะที่สั้นมากของแสงอุลตราไวโอเล็ตที่มีความยาวคลื่นแตกต่างจากความยาวคลื่นของแสงที่ตามองเห็นมาก (Far ultraviolet) เอ็กไซเมอร์เลเซอร์จึงสามารถกรีดรอยบนกระดูกอ่อนได้โดยไม่ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเกิดพุพองหรือเป็นรอยไหม้ ความสามารถในการตัดวัสดุอย่างแม่นยำโดยใช้วิธีลอกออก แทนการเผาไหม้ นับเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจสำหรับแพทย์และผู้ป่วย โดยจากการตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าวและการบรรยายในการประชุมเกี่ยวกับเลเซอร์เมื่อปี 2526 ทีมงานของไอบีเอ็มได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา ซึ่งในเวลาต่อมาได้ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีนี้ รวมถึงการทดลองและการลองใช้งานจริงหลายต่อหลายครั้ง
นอกเหนือจากเหรียญรางวัลเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติแล้ว คณะทำงานดังกล่าวยังได้รับรางวัล Russ Prize of the National Academy of Engineering ประจำปี 2556 อีกด้วย โดยเป็นรางวัลที่เชิดชูผลงานอันโดดเด่นทางด้านวิศวกรรมชีวภาพ ซึ่งมีการนำไปใช้งานอย่างกว้างขวางและช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน
สื่อมวลชนติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
ปารณีย์ เรย์มองด็อง
โทรศัพท์: 02 273 4164
อีเมล: paranee@th.ibm.com