ธนาคารเกียรตินาคิน ตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อธุรกิจ ที่ 34% เสนอบทวิจัย “กรุงเทพฯ คือปัจจุบัน .....ภูมิภาค คืออนาคต” เผย 13 จังหวัดศักยภาพ แนวโน้มอสังหาฯ เติบโตดี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 26, 2013 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารเกียรตินาคิน จัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปีต่อประเด็นทิศทางธุรกิจอสังริมทรัพย์ โดยมีนายศราวุธ จารุจินดา ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ร่วมเปิดงาน พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนตบเท้าขึ้นเวทีให้ความรู้ผู้ประกอบการ รับมือการเติบโตของอุตสาหกรรม ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พร้อมเผยผลการวิจัย “กรุงเทพฯ คือปัจจุบัน .....ภูมิภาค คืออนาคต” พบ 13 จังหวัดศัยกภาพ มีทิศทางการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดี โดยตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจ (KK Biz) อยู่ที่ 34% เน้นใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มองเห็นโอกาสที่ดี และสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ นายศราวุธ จารุจินดา ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Sarawut Charuchinda, Head of Corporate Lending of Kiatnakin Bank Plc.) เปิดเผยว่า “ธนาคารได้จัดสัมมนาประจำปีของฝ่ายสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการที่สนใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับทิศทางอสังหาริมทรัพย์ในปี 2556 นี้ มองว่ายังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวของที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพและปริมณฑลหลังจากเกิดปัญหาอุทกภัย เมื่อปลายปี 2554 อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดการณ์ว่า อุปสงค์และอุปทานของตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะขยายตัวอยู่ที่ 5.2% และ 16.5% ตามลำดับ โดยมาจากปัจจัยด้านการขยายตัวทางเศรษญกิจอย่างต่อเนื่อง ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในช่วงขาลง รวมถึงได้รับอานิสงส์จากความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตามภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัจจัยฉุดรั้งสำคัญ คือต้นทุนราคาที่ดินและค่าก่อสร้างที่สูงขึ้น ทางด้านการดำเนินงาน ธนาคารยังคงมีนโยบายการให้สินเชื่อสินเชื่อธุรกิจ (KK BIZ) ที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยมุ่งเน้นในกลุ่มเอสเอ็มอี ประกอบด้วย 5 ธุรกิจหลักคือ 1) สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2) สินเชื่อธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ 3) สินเชื่อธุรกิจขนส่ง 4) สินเชื่อธุรกิจฟลอร์แพลน (สินเชื่อหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่ และเต็นท์รถมือสอง) และ 5) สินเชื่อธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และในปี 2555 สินเชื่อธุรกิจทั้ง 5 ประเภท เติบโตได้ดีเกินคาด โดยเติบโต 28.9% จากปีก่อน คิดเป็นยอดสินเชื่อรวมที่ 39,306 ล้านบาท โดยในปี 2556 ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของ KK Biz ไว้ที่ 34% ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 4-5% ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารเน้นการใช้ประสบการณ์ “KK Biz Experience” มาใช้เป็นจุดแข็งในการดูแลธุรกิจของลูกค้า อาทิเช่น การจัดสัมมนาประจำปีเติมความรู้ในธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม การจัดสัมมนาระดับปฏิบัติการให้ความรู้ทางทฤษฎี และ Case Study แก่พนักงานระดับปฏิบัติการให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน กิจกรรมโรดโชว์ในพื้นที่ภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น” จากข้อมูลล่าสุดของฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Kiatnakin Intelligence: KKI) ที่จัดทำรายงานหัวข้อ “กรุงเทพฯ คือปัจจุบัน .....ภูมิภาค คืออนาคต” พบว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีโอกาสเติบโตมากขึ้น สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของยอดสินเชื่อคงค้างเพื่อบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ ของภูมิภาคต่างๆ ที่อยู่ในระดับสูงกว่ากรุงเทพฯและปริมณฑล ผลจากการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโตขึ้น (Urbanization) โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ อาทิ เมืองท่องเที่ยว: ภูเก็ต หัวหิน และพัทยา เมืองธุรกิจและอุตสาหกรรม: ระยอง ชลบุรี ขอนแก่น และนครราชสีมา นอกจากนี้ กระแสการรวมกลุ่มของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะการรวมกลุ่มของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อน การเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนและจังหวัดตามเส้นทาง GMS อาทิ หนองคาย สระแก้ว และพิษณุโลก จากการพิจารณาข้างต้น พบว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะมีศักยภาพต่อการเติบโตทั้งสิ้น 13 จังหวัด ที่คาดว่าจะมีศักยภาพต่อการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในระยะต่อไป ได้แก่ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเติบโตดีสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (ชลบุรี ภูเก็ต ขอนแก่น ระยอง อุบลราชธานี และลำปาง) และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโต (มหาสารคาม หนองคาย บุรีรัมย์ นครราชสีมา สระแก้ว กาญจนบุรี และพิษณุโลก)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ