กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 18-22 ก.พ. 56 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 2.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 111.31 น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 115.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 94.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันเบนซินออคเทน 95 ลดลง 1.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 134.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 133.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) บ่งชี้การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ QE ที่เข้าซื้อตราสารหนี้ที่ค้ำประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อ มูลค่ารวม 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ก่อความเสี่ยงและเพิ่มค่าใช้จ่าย Fed อาจลดหรือยุติการเข้าซื้อหลักทรัพย์ก่อนกำหนด ทำให้นักลงทุนเทขายสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ทอง ทองแดง สินค้าเกษตร รวมถึงน้ำมัน
สำนักสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.พ. 56 เพิ่มสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์มาอยู่ที่ระดับสูงสุดตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 376.4 ล้านบาร์เรล
กระทรวงน้ำมันของอิรักรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบเดือน ม.ค. 56 เพิ่มขึ้น 10,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 2.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
Markit Economics รายงาน ดัชนีผู้จัดการจัดซื้อภาคการผลิตเบื้องต้น (Flash Manufacturing Purchasing Managers' Index: PMI) ของกลุ่มยูโรโซน ในเดือน ก.พ. 56 ลดลง 0.1 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 47.8 จุด สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 48.5 จุดและ PMI รวม บ่งชี้เศรษฐกิจ (GDP) ของยูโรโซนไตรมาส 1/56 จะถดถอยอยู่ที่ -0.2% ถึง -0.3%
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
กรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 56 เพิ่มขึ้น 7.4% จากปีก่อน อยู่ที่ 5.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบียสูงสุดที่ 40.85 ล้านบาร์เรล
Reuters รายงานน้ำมันดิบ Forties จากแหล่งผลิตในย่านทะเลเหนือที่ส่งมอบเดือน ก.พ. และ มี.ค. 56 จะล่าช้าอย่างน้อย 4 เที่ยวเรือ เนื่องจากแหล่งผลิต Buzzard (200,000 บาร์เรลต่อวัน) ขัดข้องทางเทคนิค
รัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่นเดินหน้านโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังที่ประชุม G-20 ไม่วิจารณ์การใช้นโยบายของญี่ปุ่นถือเป็นสัญญาณอนุญาตให้ดำเนินการ
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ในสัปดาห์นี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับ-แนวต้านทางเทคนิค อยู่ที 111.42-119.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ WTI อยู่ที 89.47-98.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยทั่วโลกต่างกังวลต่อการเลือกตั้งของอิตาลีในวันอาทิตย์และวันจันทร์ที่ผ่านมา เกรงว่าจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก ระหว่างนาย Pier Luigi Bersani และนาย Silvio Berlusconi ทำให้ทิศทางการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรปไม่ราบรื่น และธนาคารสเปนต้องลงบัญชีหนี้เสียจากภาคอสังหาริมทรัพย์โดยต้องกู้เงินจากรัฐกว่า 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และ Reuters รายงานท่อขนส่งน้ำมันดิบ Seaway (400,000 บาร์เรลต่อวัน) จาก Cushing, Oklahoma สู่ Texas จะขนส่งได้เพียง 295,000 บาร์เรลต่อวัน ถึงเดือน พ.ค. 56 เนื่องจากชนิดน้ำมันดิบที่มีค่าถ่วงจำเพาะ (API) ต่ำ อย่างไรก็ตาม อิหร่านกำลังติดตั้งอุปกรณ์เสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมโรงงานนิวเคลียร์ Natanz เพิ่มเติม ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดีต่อการเจรจาระหว่างกลุ่มประเทศ P5 + 1 และอิหร่านที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 26 นี้ อีกทั้งกิจกรรมโจรสลัดในน่านน้ำของไนจีเรียเริ่มรุนแรงขึ้น ภายหลังมีการโจมตีเรือถึง 5 ครั้ง มีการจับตัวประกัน และเรียกร้องค่าไถ่มูลค่า 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ไนจีเรียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของทวีปแอฟริกา และมีค่าบริหารการผลิตที่ค่อนข้างสูง จากค่ารักษาความปลอดภัยและเบี้ยประกันภัยจากโจมตีและขโมยน้ำมัน
โทร. 0 2537-2568 ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)โทรสาร 0 2537-2171 27 กุมภาพันธ์ 2556