กระดาษศรีสยามเดินหน้าโครงการขยายกำลังการผลิตกระดาษ

ข่าวทั่วไป Thursday December 2, 2004 17:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--กระดาษศรีสยาม
บริษัท กระดาษศรีสยาม จำกัด (มหาชน) บริษัทผลิตกระดาษพิมพ์เขียนชั้นนำ เตรียมพร้อมเดินเครื่องโครงการ PM#A-ONE ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกระดาษใหม่อันทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยการผนึกกำลังกับ 3 หน่วยงานมืออาชีพ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้ามาตรวจซ่อมโรงไฟฟ้า บริษัท เอบีบี จำกัด เข้ามาซ่อมบำรุงปรับปรุงระบบควบคุมเครื่องจักรด้วยคอมพิวเตอร์ และบริษัท ยูโรเคม จำกัด เข้ามาวางระบบผลิตน้ำเพื่อการบริโภคทดแทนน้ำประปาและน้ำบาดาล โดยมีมูลค่ารวม 144 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้โรงงานใหม่เดินเครื่องได้ภายในกลางปีหน้า เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมกระดาษและความต้องการของผู้บริโภค
นายสุพจน์ วัจนะเสนาะ ผู้จัดการแผนกซ่อมบำรุงทรัพย์สิน บริษัทกระดาษศรีสยาม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงที่บริษัท ได้รับผลกระทบจากนโยบายการลอยตัวค่าเงินบาทและภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 เครื่องจักรในโครงการ PM#A-ONE ไม่ได้เดินเครื่องร่วม 7 ปี อาจจะเสื่อมสภาพได้ จึงต้องมีการฟื้นฟูและปรับปรุง ในส่วนโรงไฟฟ้าซึ่งผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้าป้อนให้กับเครื่องจักรผลิตโรงงานทั้ง 4 เครื่อง ทางบริษัทฯ ได้ตกลงว่าจ้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรในโรงงานไฟฟ้าทั้งหมด โดยใช้วงเงิน 41.5 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 ถึง 31 มีนาคม 2548 ระยะเวลาประกันผลงาน 1 ปี
"ระยะเวลาดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้ามาฟื้นฟูปรับปรุงเครื่องจักรในส่วนโรงไฟฟ้า คือ ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำสำหรับหม้อน้ำ (Demineralization Plant) หม้อไอน้ำ (Power Boiler) เครื่องกังหันไอน้ำ และเครื่องผลิตไฟฟ้า (Steam Turbine & Generator) และหอระบายความร้อน (Cooling Tower) ส่วนที่ 2 ทดลองเดินเครื่องจักรทั้งระบบ และทดสอบหาประสิทธิภาพเครื่องจักรโดยรวม (Commissioning & Performance Test) โดยผลที่จะได้รับเมื่อเครื่องจักรในส่วนของโรงไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องได้อย่างสมบูรณ์ จะสามารถประหยัดพลังงานความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเครื่องจักรผลิตไอน้ำ (Power Boiler) เครื่องนี้ ได้ถูกออกแบบให้นำความร้อนทิ้งจากปล่องไอเสีย มาอุ่นน้ำป้อนให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นก่อนป้อนเข้าหม้อไอน้ำ เพื่อเป็นการประหยัดเชื้อเพลิง และเครื่องจักรเครื่องนี้ ยังถูกออกแบบให้มีการนำน้ำร้อนที่เกิดจากการกลั่นตัวในขบวนการผลิตกระดาษกลับเข้ามาผลิตไอน้ำใหม่อีกครั้งซึ่งเป็นวิธีการประหยัดพลังงานความร้อนและประหยัดน้ำ อีกขั้นตอนหนึ่ง"
ในส่วนงานตรวจซ่อมระบบไฟฟ้าและระบบควบคุมเครื่องจักรด้วยคอมพิวเตอร์ บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท เอบีบี จำกัด เข้ามาตรวจสภาพ ซ่อมบำรุงและติดตั้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ตามที่ออกแบบไว้ ทั้งในส่วนอุปกรณ์ระบบควบคุมเครื่องจักรด้วยคอมพิวเตอร์ (DCS) การเขียนโปรแกรมควบคุมเครื่องจักรให้สามารถควบคุมเครื่องจักรทำงานตามโปรแกรม การตรวจสอบซ่อมบำรุงและติดตั้งอุปกรณ์ระบบตรวจสอบและควบคุมคุณภาพกระดาษด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (QCS & SWP) การตรวจสอบ ซ่อมบำรุงและติดตั้งอุปกรณ์ระบบควบคุมการหมุนของชุดขับเครื่องจักร (Drive) โดยระยะเวลาการดำเนินงานเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 ธันวาคม ถึง 31 พฤษภาคม 2548 รวม 6 เดือน
"เราใช้ระบบควบคุมเครื่องจักรของเอบีบีอยู่แล้ว ซึ่งเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงมาก โดยเขาเป็นผู้ให้บริการในการตรวจสอบและจัดหาอุปกรณ์ให้เรา ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมเครื่องจักรต้องอัพเกรดเสมอ และระบบที่เราใช้อยู่นี้ทันสมัยที่สุด"
สำหรับส่วนการใช้น้ำในโรงงานผลิตกระดาษ บริษัทฯ ได้ลงนามว่าจ้าง บริษัท ยูโรเคม จำกัด ดำเนินโครงการผลิตน้ำเพื่อการบริโภคจากแม่น้ำท่าจีน เพื่อใช้ในโรงงานทดแทนการใช้น้ำประปาและน้ำบาดาล เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในการป้องกันปัญหาแผ่นดินทรุด และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งที่อยู่ในเขตและนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ยังคงใช้น้ำบาดาลหรือซื้อน้ำจากการประปา โดยมีมูลค่าโครงการนี้ประมาณ 18 ล้านบาท
นายการุณ บัณฑุกะอาคม ผู้อำนวยการโครงการ PM#1-3 เปิดเผยว่าปัจจุบันกรุงเทพฯ ประสบปัญหาเรื่องแผ่นดินทรุด อันเนื่องมากจากการสูบน้ำบาดาลไปใช้ของอุตสาหกรรมต่างๆ รัฐบาลพยายามลดการสูบน้ำบาดาลแต่ไม่เป็นผลเนื่องจากไม่สามารถหาแหล่งน้ำมาทดแทนได้ เมื่อการประปาภูมิภาคได้ขยายการผลิตน้ำประปาครอบคลุมพื้นที่ในส่วนโรงงานกรุงเทพฯและปริมณฑล รัฐบาลจึงมีมติ ครม.ให้เขตกรุงเทพฯและปริมณฑลใช้น้ำประปาแทน ในส่วนของบริษัทกระดาษศรีสยามซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในเขตสามพราน จังหวัดนครปฐมอยู่ในข่ายที่ต้องใช้น้ำมันประปาตามมติ ครม.นี้ด้วย แต่เนื่องจากบริษัทฯ ต้องซื้อน้ำประปาในราคา 18-21 บาท/ลูกบาศก์เมตร เทียบราคากับการจ่ายค่าน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ราคา 3.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้ต้นทุนน้ำเพื่อการผลิตสูงขึ้นถึง 5.6 เท่า บริษัทฯ จึงได้ศึกษาหาแนวทางในการผลิตน้ำเพื่อการบริโภคขึ้น และตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตน้ำเอง โดยว่าจ้าง บริษัท ยูโรเครม จำกัด ในการดำเนินโครงการน้ำเพื่อการบริโภค มูลค่าประมาณ 18 ล้านบาท โดยสามารถผลิตน้ำได้ถึง 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
"โครงการผลิตน้ำใช้เทคโนโลยี DAF (Dissolved Air Floatstion) ในการตกตะกอนและแยกตะกอนจากน้ำดิบ จากแหล่งน้ำแม่น้ำท่าจีน นอกจากทำให้เราได้น้ำคุณภาพที่ดีกว่า เพราะไม่มีสารคลอรีนตกค้างแล้ว ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำลดลงเหลือ 0.6-1 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และสามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี"
การเตรียมพร้อมในส่วนโครงการขยาย PM#A-ONE ของบริษัท กระดาษศรีสยาม จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินการไตรมาสแรกของปี 2548 ทดลองเดินเครื่องในไตรมาสที่ 2 และสามารถผลิตกระดาษคุณภาพทันสมัยในไตรมาสที่ 3 มีกำลังการผลิตสูงถึง 120,000 ตันต่อปี:ซึ่งนับว่าเป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมกระดาษขณะนี้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ