กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--M.O.Chic
นับถอยหลังไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ ประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพต้อนรับตัวแทนจากประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาไซเตสจำนวน 177 ประเทศ ในการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 (The 16th Meeting of Conference of the Parties to CITES : CITES CoP16) การเตรียมการประชุมมีความพร้อมและมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ คณะผู้แทนไทยสรุป 3 ประเด็นเสนอต่อประเทศภาคีสมาชิก ขอขึ้นบัญชีไม้พะยูงของไทยเป็นชนิดพันธุ์ในบัญชี 2 เพื่อควบคุมการค้าในอนาคต และขอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืด/จระเข้น้ำเค็มที่เพาะเลี้ยงในประเทศไทย จากบัญชี 1 ลงมาอยู่ในบัญชี 2 พร้อมเสนอมาตรการคุมเข้มป้องกันการลักลอบค้างาช้าง นอแรด เสือโคร่ง และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย
นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า “ในฐานะที่ประเทศไทย โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CITES CoP16 การประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 -14 มีนาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทั้งนี้ได้รับการตอบรับจากชาติสมาชิกแล้วทั้งหมด 177 ประเทศ รวมทั้งได้ประสานงานไปยังหน่วยงานอื่นๆ อาทิ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้แทนการค้า ผู้ประกอบการธุรกิจ สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชนจากทั่วโลก ที่ต้องการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นอย่างดี และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลกราว 2,000 - 3,000 คน”
สำหรับการเตรียมความพร้อมของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในฐานะหน่วยงานหลักของการจัดการประชุมครั้งนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมทุกเครือข่าย โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปลายปี 2555 มีการติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดการประชุมในภาพรวม ด้านพิธีการ การต้อนรับ การจัดกำหนดการศึกษาดูงานในประเทศไทยของตัวแทนชาติสมาชิก ด้านความปลอดภัยและการจราจร ด้านประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาไซเตสของไทย รวมไปถึงการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญในการ ‘ร่วมอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่ออนาคตของเราที่ยั่งยืน’ ซึ่งเป็นคำขวัญที่ใช้รณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อจิตสำนึกของประชาชนทั่วประเทศต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน
ในด้านสาระการประชุม มีประเด็นสำคัญที่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องสารัตถะ ได้แก่ 1) องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมประชุม 2) กรอบท่าทีของประเทศไทยต่อข้อเสนอต่างๆ (Proposals) ในการประชุม และ 3) คำแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรี
อาเซียน (The Ministerial Statement) ที่รับผิดชอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาไซเตส ซึ่งจะมีผลต่อภาพลักษณ์ วิธีปฏิบัติและการวางมาตรการต่างๆ ของไทยต่อการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
“สาระสำคัญของการประชุมไซเตสอยู่ที่ประเทศสมาชิกจะได้เสนอแก้ไขบัญชีพันธุ์พืชและสัตว์ตามอนุสัญญาไซเตส หากสามารถเสนอมาตรการที่สนับสนุนการอนุรักษ์สายพันธุ์ ทั้งยังเอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ การเสนอแก้ไขบัญชีรายชื่อเหล่านั้นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศภาคีจำนวน 2 ใน 3 จึงจะถือว่าเป็นข้อตกลงและข้อปฏิบัติร่วมกันของประเทศภาคีสมาชิก” นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สรุปประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นที่คณะผู้แทนไทยจะนำเสนอต่อที่ประชุม CITES CoP16 โดยคาดว่าจะได้รับการพิจารณาสนับสนุนจากภาคีสมาชิกอนุสัญญาไซเตส ซึ่งประกอบด้วย
หนึ่ง เสนอให้ไม้พะยูงเข้าสู่บัญชีที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่ยังไม่ถึงกับใกล้สูญพันธุ์แต่มีความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ จึงต้องมีมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อควบคุมการค้าตามกลไกของอนุสัญญาไซเตส เป็นการป้องกันการลักลอบค้าไม้พะยูงระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากมีการลักลอบตัดไม้และนำออกจำหน่ายอย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงเสนอร่างแผนอนุรักษ์ผืนป่าพะยูงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยซึ่งกินอาณาบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ และอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งบริเวณเขาพระวิหารที่ถือเป็นป่าพะยูงผืนสุดท้ายของโลกที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้เป็นป่ามรดกโลก นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดปรับเปลี่ยนคำจำกัดความของการปลูกสวนป่าของไม้กฤษณา ซึ่งถือเป็นไม้เศรษฐกิจที่จัดอยู่ในข้อตกลงทางการค้าแห่งอนุสัญญาไซเตส
สอง เสนอลดบัญชีพันธุ์จระเข้น้ำจืดและจระเข้น้ำเค็มจากบัญชี 1 ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่ห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัย กิจการสวนสัตว์สาธารณะหรือเพาะพันธุ์ มาเป็นบัญชี 2 เพื่อลดข้อจำกัดในการส่งออกหนังจระเข้และผลิตภัณฑ์ เนื่องจากประเทศไทยประสบความสำเร็จในแผนการอนุรักษ์และเพาะเลี้ยงจระเข้ทั้ง 2 สายพันธุ์ ในขณะเดียวกันยังสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงและดำเนินกิจการฟาร์มที่ถูกกฎหมาย ข้อเสนอนี้ยังเป็นการแสดงศักยภาพของไทยในการเพาะพันธุ์สัตว์หายากทั้งเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการค้าได้ควบคู่กัน เนื่องจากมีการพัฒนาองค์ความรู้อยู่เสมอในการอนุรักษ์และการเพาะเลี้ยง
สาม เสนอมาตรการคุมเข้มการตรวจจับการลักลอบค้างาช้าง นอแรด และเสือโคร่ง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้เป็นอย่างมาก โดยเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกัน ดูแลการลักลอบล่า และค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย มีข้อเสนอการปรับปรุงพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งเสนอให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติช้างขึ้นมาใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อต่อต้านการลักลอบค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย มีการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ให้ผู้ประกอบการค้างาช้างบ้านต้องจดทะเบียนและจัดทำบัญชีสินค้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ ตลอดจนการฝึกอบรมให้ความรู้ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่
และยังรณรงค์กับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ให้ซื้อและนำงาช้างหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างติดตัวออกนอกประเทศเพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 (The 16th Meeting of Conference of the Parties to CITES : CITES CoP16) ระหว่างวันที่ 3-14 มีนาคม พ.ศ. 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของการประชุม CITES CoP16 ได้ที่ www.citescop16thai.com