ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ “โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น” พร้อมแนวโน้ม “Positive”

ข่าวทั่วไป Friday December 3, 2004 09:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (TAC) ที่ระดับ “A-” ซึ่งสะท้อนสถานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และความสำเร็จในด้านการตลาดของบริษัท แต่จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนด้วยการก่อหนี้ที่สูง ความไม่แน่นอนของข้อบังคับและกฏเกณฑ์ในธุรกิจโทรคมนาคม และการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจ แม้จะต้องจัดหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อใช้ทดแทนเงินกู้เก่าซึ่งจะครบกำหนดชำระในปี 2549 บริษัทก็ยังสามารถบริหารความเสี่ยงจากการหาแหล่งเงินกู้ใหม่เนื่องจากบริษัทมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับสถาบันการเงินหลายแห่ง อีกทั้งบริษัทยังเป็นที่รู้จักในตลาดตราสารหนี้ และที่สำคัญคือสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้น และความสามารถในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดด้วยการมีรายได้ต่อผู้ใช้บริการในระดับที่ยอมรับได้แม้จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ ความสามารถในการคงผลประกอบการที่แข็งแกร่งและสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นจะมีส่วนสนับสนุนในด้านบวกสำหรับการทบทวนอันดับเครดิตของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาคือการแข่งขันของผู้ประกอบการที่พยายามดึงดูดลูกค้าด้วยการส่งเสริมการขายที่จูงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ผู้ประกอบการรายใหม่ คือ บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด (TAO) และ บริษัท ฮัทชินสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด (Hutch) เข้าสู่ตลาดในปี 2545 และปี 2546 ตามลำดับ ยิ่งกว่านั้น การที่ TAC ขาย SIM Card แยกจากเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนแรกเข้าของผู้ใช้บริการรายใหม่เป็นอย่างมากได้ช่วยกระตุ้นให้มีจำนวนผู้ใช้บริการมากขึ้น อัตราการมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อประชากรของประเทศที่ระดับประมาณ 40% ณ เดือนสิงหาคม 2547 บ่งชี้ว่าตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศยังสามารถเติบโตได้อีกแม้จะอยู่ในอัตราที่น้อยกว่าในอดีต
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แม้ว่าความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่จะด้อยกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 รายในเรื่องความครอบคลุมของโครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่การส่งเสริมการขายที่เป็นเชิงรุกอย่างมากเพื่อสร้างฐานลูกค้าของผู้ประกอบการรายใหม่ก็ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และคาดว่าจะยังคงมีอยู่ต่อไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) และ TAC ในฐานะผู้นำตลาดได้พยายามสร้างระบบความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าให้มากขึ้นเพื่อขยายการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งช่วยคงระดับรายได้ต่อผู้ใช้บริการซึ่งเป็นปัจจัยชี้วัดผลประกอบการที่สำคัญให้แก่ทั้ง 2 บริษัท ในฐานะผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับ 2 TAC มีผู้ใช้บริการ ณ เดือนสิงหาคม 2547 จำนวน 7 ล้านเลขหมาย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อสิ้นปี 2546 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2547ฐานลูกค้าของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 16% จากปลายปี 2546 บริษัทประสบความสำเร็จในการออกบริการใหม่ๆ ได้แก่ “My” สำหรับลูกค้าประเภทชำระค่าบริการรายเดือน (Postpaid) และ “Happy Dprompt” สำหรับลูกค้าประเภทชำระค่าบริการล่วงหน้าหรือใช้บัตรเติมเงิน (Prepaid)
TAC มีฐานะทางการเงินที่น่าพอใจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 โดยมีอัตรากำไรต่อยอดขายเพิ่มจาก 29% ในปี 2544 เป็น 31% ในปี 2545 38% ในปี 2546 และ 39% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2547 ตามลำดับ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงจาก 63% ในปี 2545 เป็น 60% ในปี 2546 และ 55% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับสูง
ทริสเรทติ้งคาดว่า ในอนาคตอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของ TAC จะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากบริษัทได้ลงทุนไปเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2544-2545 เพื่อสร้างโครงข่ายที่จะเพิ่มคุณภาพบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บริษัทมีระดับของกระแสเงินสดที่ดีขึ้น แต่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังอยู่ในระดับที่ต่ำเนื่องจากยังคงมียอดหนี้ที่อยู่ในระดับสูง อัตราส่วนประมาณการกระแสเงินสดต่อเงินกู้จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีระดับเงินกู้ที่ลดต่ำลงและมีกระแสเงินสดภายในที่เพิ่มขึ้น ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ