กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้จะนำไปใช้ในการลงทุนของบริษัท อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการเติบโตที่สม่ำเสมอของปริมาณการจราจรบนทางด่วนของบริษัทซึ่งเป็นทางด่วนเพียงระบบเดียวที่เชื่อมต่อกับระบบทางด่วนขั้นที่ 1 หรือทางพิเศษเฉลิมมหานคร การมีกระแสเงินสดที่แน่นอนและมีคณะผู้บริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐด้านระบบการขนส่งในอนาคต การแทรกแซงของรัฐในการปรับอัตราค่าผ่านทาง และการลงทุนขนาดใหญ่ในสัมปทานทางด่วนใหม่ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะสำรองเป็นสภาพคล่องของบริษัท ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะระมัดระวังการจ่ายเงินปันผลและจัดการโครงสร้างเงินทุนของบริษัทโดยเฉพาะในช่วงการลงทุน เพื่อที่จะรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทเอาไว้ ทั้งนี้ การลงทุนกับบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบและไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท
บริษัททางด่วนกรุงเทพเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือโครงการทางพิเศษศรีรัชและโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนต่อขยายของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และทางด่วนส่วน C+ จะหมดอายุในปี 2563 ปี 2570 และปี 2569 ตามลำดับ ทั้งนี้ ทางด่วนขั้นที่ 2 นั้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ซึ่งก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. จึงเป็นโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด บริษัทมีการแบ่งรายได้ให้กับ กทพ. ในเขตเมืองสำหรับทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A และ B) และยังได้รับส่วนแบ่งรายได้ในส่วนทางด่วนขั้นที่ 1 ด้วย สำหรับในเขตนอกเมือง ส่วน D, C และ C+ นั้นบริษัทไม่ต้องแบ่งรายได้กับ กทพ. โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นไป สัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างบริษัทกับ กทพ. ได้เปลี่ยนจาก 50:50 เป็น 40% ให้แก่บริษัท และ 60% ให้แก่ กทพ. การปรับสัดส่วนรายได้ดังกล่าวมีผลทำให้รายได้ค่าผ่านทางโดยเฉลี่ยต่อวันของบริษัทในปี 2554 ลดลง 6.4% ในขณะที่ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 5.2% อย่างไร
ก็ตาม รายได้ค่าผ่านทางโดยเฉลี่ยต่อวันในปี 2555 ได้กลับมาอยู่ที่ระดับเดิมก่อนมีการปรับสัดส่วนการแบ่งรายได้ที่ 21.1 ล้านบาท
ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7% ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (2544-2554) ในปี 2555 ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1,084,576 เที่ยว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณจราจรในเขตนอกเมืองเป็นหลัก ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลางปริมาณจราจรบนทางด่วนจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปอันเป็นผลจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยไปยังเขตปริมณฑล
ในปี 2555 บริษัทมีรายได้ค่าผ่านทาง 7,732 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งการปรับตัวที่ดีขึ้นนี้เป็นผลมาจากปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวันบนทางด่วนเพิ่มสูงขึ้น 5.8% โดยเฉพาะในเขตนอกเมือง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดลงมาอยู่ที่ 78.81% ในปี 2555 เมื่อเทียบกับ 80.19% ในปี 2554 อันเป็นผลมาจากการปรับส่วนแบ่งรายได้และค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของค่าเบี้ยประกันภัยและค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บค่าผ่านทาง
ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 19,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2554-2555 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจากระดับ 50.47% ในปี 2554 เป็น 46.80% ในปี 2555 เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น กระแสเงินสดของบริษัทอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 4,603 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 4,795 ล้านบาทในปี 2555 ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจึงเพิ่มขึ้นจาก 24.17% ในปี 2554 สู่ระดับ 25.23% ในปี 2555 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในระยะปานกลางโดยเป็นผลมาจากการลงทุนใน บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) และสัมปทานโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
(ส่วน B+) โดยโครงการส่วน B+ นั้นมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนที่ใช้จะเป็นกระแสเงินสดภายในบริษัทและเงินกู้ยืม ปัจจุบันบริษัทได้มีการลงนามสัญญาเงินกู้จากธนาคารเพื่อใช้ในการลงทุนบางส่วนของโครงการดังกล่าวแล้ว โดยการก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการในปี 2556 และจะแล้วเสร็จในปี 2559
บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BECL139A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A
BECL13NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 A
BECL144A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A
BECL148A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A
BECL153A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A
BECL155A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A
BECL16OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A
BECL214A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2563 A
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2559 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable