กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--WWF
เครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวปางช้าง ออกแถลงการณ์สนับสนุนแนวทางการรณรงค์ของ WWF ในการห้ามขายงาช้างในประเทศไทยระหว่างที่มีการปฎิรูปกฏหมายอนุรักษ์ช้างเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของประเทศไทยและการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2556 ตัวแทนเครือข่ายรักษ์ช้างและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวปางช้าง ได้แก่ ปางช้างแม่สา ปางช้างแม่ตะมาน ปางช้างแม่แตง Elephant Nature Park องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มูลนิธิเพื่อนช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างจังหวัดลำปาง บ้านควาญช้างเกาะช้าง จังหวัดตราด และ WWF ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องของ WWF ต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ในการประกาศปิดตลาดการค้างาช้างในประเทศไทย จนกว่าจะมีการปฏิรูปกฎหมายอนุรักษ์ช้างและจัดระเบียบเพื่อควบคุมช้างเลี้ยงอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการลักลอบนำงาช้างจากแอฟริกาเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย
“ธุรกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับช้าง มีช้างที่มีชีวิตเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งเทียบไม่ได้กับมูลค่าของงาช้างคู่เดียว แต่การปล่อยให้มีการค้างาช้างจากการลักลอบนำเข้าช้างแอฟริกาเข้ามาฟอก โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายของไทย นอกจากทำลายภาพลักษณ์และรายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการคุกคามสวัสดิภาพของช้างไทย” ปรีชา วงศ์คำ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง
เครือข่ายรักษ์ช้างเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งขึ้นทะเบียนจัดระเบียบช้างบ้านทั่วประเทศอย่างจริงจัง “ปัจจุบันช้างเลี้ยงที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้มีจำนวนมากมาย ช้างตัวผู้ที่มีงายิ่งมีจำนวนน้อย ไม่ถึงหนึ่งในสามของจำนวนช้างทั้งหมด ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องจัดระเบียบเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อเป็นการปกป้องช้างไทยและป้องกันภาพลักษณ์การท่องเที่ยวปางช้างของไทย” น.สพ. รณชิต รุ่งศรี นายสัตวแพทย์ประจำปางช้างแม่สา
ในปัจจุบันงาช้างดิบมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 40,000-50,000 บาท หรือคู่ละ 2-4 ล้านบาทและมีผู้ประกอบธุรกิจค้างาช้างจำนวน 300 ร้านค้าทั่วประเทศที่มีการลงทะเบียนกับกรมทะเบียนพาณิชย์และการค้า โดยผู้ลงทะเบียนต้องมีการกรอกเอกสารชี้แจงแหล่งที่มาของงาช้าง แต่ในทางปฏิบัติการอนุญาตให้มีการค้างาช้างบ้านได้นั้น กลับเป็นการเปิดช่องให้มีการลักลอบนำเข้างาช้างแอฟริกาเพื่อมาสวม วิเคราะห์จากปริมาณงาช้างจากช้างบ้านตัวผู้ที่มีอยู่ราว 1,500 เชือกนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยการค้าขายงาช้างแปรรูปจำพวกเครื่องประดับ แหวน กำไล พระเครื่อง ฯลฯ กระจายอยู่ทั่วประเทศโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ไนท์บาร์ซาร์ จตุจักร ท่าพระจันทร์ อยุธยา และภูเก็ต การอนุญาตให้มีการค้างาช้างบ้านได้ไม่เพียงส่งผลกระทบกับช้างแอฟริกา แต่ได้ส่งผลถึงช้างเอเซียในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และพม่า ซึ่งเป็นช้างที่อยู่นอกเหนือจากไปจากช้างบ้านในไทยและในปางช้างต่างๆ อีกทั้งไม่ใช่ช้างแอฟริกา ช่องทางการลักลอบนำเข้างาช้างทางภาคเหนือนั้นมีหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นทางด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากการลักลอบนำเข้างาช้างแล้วยังพบว่ามีการลักลอบนำเข้าซากสัตว์อื่นๆรวมทั้งลูกช้าง
ขณะนี้ WWF ประเทศไทย คนไทย และคนทั่วโลกกำลังร่วมมือกันเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการค้างาช้าง โดยขณะนี้รวบรวมรายชื่อได้แล้วมากกว่า 500,000 ชื่อทั่วโลก และจะยื่นพร้อมจดหมายต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้ยุติการค้างาช้างในประเทศไทยในทันทีก่อนหน้าการประชุมภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
“ความต้องการซื้อเครื่องประดับที่ทำจากงาช้างเป็นสาเหตุที่ทำให้ช้างสูญพันธุ์ได้ในแอฟริกา และช้างในประเทศไทยอาจต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันในอนาคตได้ทุกเมื่อ ทุกชื่อ ทุกเสียงของทุกคนที่ร่วมกันหยุดค้างาช้างในครั้งนี้ จึงเป็นพลังที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะหยุดการสังหารและป้องกันไม่ให้ช้างซึ่งเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของคนไทยสูญพันธุ์” จันทร์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการงานรณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า WWF ประเทศไทย กล่าว
ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ผู้แทนรัฐบาล 177 ประเทศทั่วโลกจะมาร่วมประชุม CITES ที่กรุงเทพฯ เพื่อถกปัญหาการค้าสัตว์ป่ารวมถึงการสังหารช้างป่าในแอฟริกา WWF จึงได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้โอกาสนี้ในการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการหยุดค้างาช้างในประเทศไทย
“ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเป็นจุดสนใจของโลก ผู้นำรัฐบาลของไทยควรรีบใช้โอกาสนี้ประกาศยกเลิกการค้างาช้างในประเทศไทย และร่วมกันให้โอกาสช้างได้มีชีวิตต่อไป” จันทร์ปายกล่าว
ข้อเท็จจริงจากการติดตามความก้าวหน้าของการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ระบุว่า ยังมีมาตรการบางมาตรการที่ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้างาช้าง และลักลอบล่าช้าง ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนผู้ค้างาช้างและที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ จัดตั้งกลไกติดตามจำนวนงาช้างในโกดังทั่วโลก การบังคับลงทะเบียนหลังตรวจยึดงาช้างจำนวนมาก และการตรวจพิสูจน์ทางนิติเวชเป็นประจำ รวมทั้งติดตามการสืบสวนสอบสวนร่วมกันของเจ้าหน้าที่ทั่วทวีป