กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--ไอแอมพีอาร์
“ภาวะสมาธิสั้น” หรือ “โรคสมาธิสั้น” เป็นภาวะผิดปกติที่มีมานานแล้วแต่เพิ่งมาเป็นที่รู้จักในสังคมไทยเมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นภาวะที่เกิดจากสมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสมาธิและพฤติกรรมยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่
สำหรับประเทศไทยได้มีการสำรวจพบว่ามีเด็กถึงร้อยละ 8 ที่ประสบภาวะสมาธิสั้น โดยจะพบบ่อยในเด็กชายมากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 3 เท่า อาการหลักของสมาธิสั้นมี 3 ด้านประกอบด้วยมี 1) พฤติกรรมซุกซนไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา 2) มีพฤติกรรมขาดสมาธิ จดจ่ออะไรนานๆ ไม่ได้ ขี้ลืม เบื่อง่าย และ 3) มีพฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจตนเอง หุนหันพลันแล่น และอดทนรอคอยนานไม่ได้
ถึงแม้ว่าภาวะสมาธิสั้นไม่ได้มีผลต่อการพัฒนาทางด้านร่างกาย เด็กที่มีภาวะนี้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม ก็อาจจะส่งผลต่อการพัฒนาการทางด้านจิตใจและสังคมในหลายๆ ด้าน ส่งผลกระทบต่อด้านการเรียน ความสัมพันธ์ในครอบครัวและเพื่อน นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กกลุ่มนี้ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เมื่อก้าวสู่วัยรุ่น จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการกระทำสิ่งผิดกฎระเบียบ หรือผิดกฎหมาย เช่น หนีโรงเรียน การขับรถเร็วเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และใช้สารเสพติด เป็นต้น
จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต จึงได้จัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เรียนรู้และเข้าใจเด็กสมาธิสั้น” ขึ้นโดยได้รับเกียรติจาก นพ.รังสรรค์ สิทธิชัย กุมารแพทย์และจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเด็กและวัยรุ่น เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้ความเข้าใจกับ พ่อ แม่ ครู หรือผู้ปกครองในเรื่องของการดูแลและช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นอย่างถูกต้องและเหมาะสม
นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า สมาธิสั้นเป็นโรคที่มีมานานแล้วแต่คนไทยไม่ค่อยรู้จักและเข้าใจ หากพบเด็กที่มีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่งก็มักจะสรุปว่าเป็นเด็กซน
“เมื่อเด็กไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือที่ถูกต้อง นั่นอาจหมายถึงชีวิตของคนๆ หนึ่งที่จะประสบกับความล้มเหลว เพราะไม่สามารถเป็นผู้ใหญ่ที่จะต้องรับผิดชอบครอบครัว การงาน และดูแลตัวเอง ได้ ดังนั้นการให้ความรู้และความเข้าใจผู้ปกครองและโรงเรียน จะทำให้เกิดการดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้สามารถข้ามฝั่งได้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยให้สังคมมีประชากรที่มีคุณภาพและเป็นสังคมที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น” นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าว
นพ.รังสรรค์ สิทธิชัย เปิดเผยว่า ความรู้ ความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะบ่อยครั้งที่ครูและผู้ปกครองมักคิดว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่นิสัยไม่ดีไม่ตั้งใจเรียน ไม่มีความรับผิดชอบ ขี้เกียจ พูดอะไรก็ไม่ฟัง สอนไม่จำ จนทำให้ได้รับการลงโทษที่รุนแรงอยู่บ่อยๆ
“ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ใหญ่ต่อเด็กกลุ่มนี้จะส่งผลดีอย่างมากกับเด็ก โดยจะทำให้เด็กสามารถมองตัวเองในแง่บวกได้มากขึ้น มีความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น รู้สึกว่าตนเองก็มีคุณค่า มีความสามารถทำอะไรได้สำเร็จเหมือนกับเพื่อนๆ เด็กก็จะมีความเครียดน้อยลง มีความสุขมากขึ้น สัมพันธภาพระหว่างผู้ปกครอง คุณครู และเพื่อนก็จะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการเรียนและชีวิตมากขึ้น” นพ.รังสรรค์ระบุ
ปัจจุบันการรักษาภาวะสมาธิสั้นที่ได้ผลประกอบไปด้วย “การใช้ยา การปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม และการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม” โดยครูและผู้ปกครองจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กสมาธิสั้นได้พัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งการฝึกทักษะต่างๆ ยังเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมองส่วนหน้าที่ช่วยในเรื่องของสมาธิให้พัฒนามากขึ้น
“การฝึกการจัดตารางเวลาและการจัดการกับเวลาเป็นการฝึกทักษะที่สำคัญ เพราะเด็กกลุ่มนี้มักมีพฤติกรรมที่ขึ้นกับสิ่งเร้ามากกว่าเกิดจากการวางแผนในใจ หากปล่อยให้ทำอะไรโดยอิสระเด็กก็จะไม่คิดใส่ใจเรื่องของเวลา จึงควรฝึกให้เห็นความสำคัญของเวลาและรู้จักวางแผน แบ่งเวลา โดยผู้ปกครองจะต้องคอยกำกับดูแลในช่วงแรก จนเด็กคุ้นเคยและปฏิบัติจนเป็นนิสัย” นพ.รังสรรค์ กล่าว
นอกจากนี้แล้วการแบ่งงานเป็นชิ้นเล็กๆ ให้เด็กสามารถทำเสร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น เด็กจะรู้สึกภูมิใจว่าตนได้ทำอะไรสำเร็จ ก็จะมีกำลังใจในการทำงานต่อ และยังช่วยฝึกให้เด็กมีการวางแผนล่วงหน้า รวมถึงการฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเอง และใช้กิจกรรมที่เด็กชอบและสนใจซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความจดจ่อ เช่น ศิลปะและดนตรีก็จะช่วยส่งเสริมในเรื่องของสมาธิ และการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กสามารถปลดปล่อยพลังงานของตนเองที่มีอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นและสามารถใช้สมาธิได้ดีขึ้น
“สิ่งสำคัญที่สุดก็คือพ่อแม่จะต้องมีความอดทน ให้เวลา ให้ความรัก ความอบอุ่น และความเข้าใจ โดยจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัว มีทัศคติและให้แรงเสริมในเชิงบวกอยู่เสมอ มองเห็นคุณค่าในสิ่งเล็กๆ ที่เด็กทำ ก็จะช่วยทำให้เด็กสามารถปรับพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม” นพ.รังสรรค์ ระบุ
นางสาวธนาภรณ์ รติธรรมกุล ครูสอนเปียโนท่านหนึ่งที่เข้าฟังการบรรยายเล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กหลายๆ คนมีพฤติกรรมซุกซน อารมณ์แปรปรวน ลืมง่าย จึงเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น
“การที่ครูมีความเข้าใจเด็กสมาธิสั้นจะช่วยลดความกดดันและความเครียดในการรับมือกับเด็ก เพราะเข้าใจปัญหาได้ดีมากขึ้น และการจัดวิธีการจัดการสอนที่ถูกต้อง จะช่วยให้เด็กที่มีปัญหาเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ได้ ก็จะเป็นการพัฒนาที่มีผลระยะยาวถึงชีวิตของเด็กในอนาคต” คุณครูกล่าว
คุณพ่อวัย 45 ปี ผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายเล่าให้ฟังว่า บุตรชายมีปัญหาในการเรียนจึงพามาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องการเรียน เนื่องจากทางโรงเรียนเน้นวิชาการที่ไม่สอดคล้องกับเด็กและไม่มีบุคลากรที่พร้อมจะดูแลเด็กที่มีปัญหาด้านนี้
“แต่พอย้ายไปโรงเรียนใหม่ที่มีบุคลากรที่สามารถดูแลเด็กกลุ่มนี้ได้ ก็พบว่าลูกสามารถไปโรงเรียนได้ด้วยดี โรงเรียนและครูจึงมีส่วนสำคัญมากในการช่วยดูแล และอยากจะให้มีการออกกฎหมายให้มีครูเฉพาะที่มีความรู้ในการดูแลและจัดการเรียนการสอนทางด้านนี้ในโรงเรียน” คุณพ่อกล่าว
“การเรียนรู้และเข้าใจเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นจะทำให้เกิดความรักที่มีคุณภาพ เพราะความรักที่เกิดขึ้นจากการยอมรับและเข้าใจในข้อจำกัดซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความสัมพันธ์และบรรยากาศในครอบครัวดีขึ้น การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาและพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กทำได้ดีขึ้น เพื่อที่เขาจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต” นพ.รังสรรค์ สรุป.