กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
ภายหลังที่สหกรณ์ได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับราษฎร ซึ่งประสบปัญหาเรื่องการประกอบอาชีพและเงินทุน ทำให้มีการจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ณ จังหวัดพิษณุโลก โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 มีพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรก จากวันนั้นเป็นต้นมา การสหกรณ์ในประเทศไทยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีวิวัฒนาการเติบโตขึ้นตามลำดับ
เวลาล่วงเลยไป 97 ปี สู่ยุคปัจจุบัน สหกรณ์ในประเทศไทยมีมากกว่า 8,000 แห่ง แบ่งประเภทเป็น 7 ประเภท ทั้งเกษตร นิคม ประมง ออมทรัพย์ ร้านค้า บริการและเครดิตยูเนี่ยน มีสมาชิก 10.8 ล้านครอบครัว ปริมาณธุรกิจรวมกัน 2.04 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.95 ของ GDP ประเทศไทย จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสหกรณ์ในประเทศไทยมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิต สร้างการจ้างงานและการเข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบอาชีพให้กับประชาชน นอกจากนั้น สหกรณ์ยังมีสำคัญต่อสังคม โดยการนำหลักและวิธีการสหกรณ์สอนสมาชิกสหกรณ์ให้รู้จักการพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยึดหลักประชาธิปไตยในกาบริหารองค์กรร่วมกันและจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและชุมชนด้วย
ขณะที่สหประชาชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของสหกรณ์ที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนได้ จึงประกาศให้ปี 2012 เป็นปีสหกรณ์สากล รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักในคุณค่าของสหกรณ์ และขอให้รัฐบาลทุกประเทศด้เผยแพร่ขยายหลักสหกรณ์ไปสู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้หลักสหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของตนเอง
คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา จึงเห็นควรให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ ในโอกาสทศวรรษ ครบ 100 ปีของการสหกรณ์ไทยในอีก 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากได้เล็งเห็นว่าสหกรณ์จะเป็นกลไกในการสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในชนบทและเมืองหลวง และยังสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันของประชาชน ที่สำคัญคือ สหกรณ์เป็นองค์กรที่เป็นสากลและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้วย
ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และแนวทางในการดำเนินงานตามข้อเสนอวาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำเอาระบบสหกรณ์มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลักได้แก่ 1.สร้างและพัฒนาการเรียนรู้และทักษะการสหกรณ์สู่วิถีประชาชนในชาติ 2. สนับสนุนและพัฒนาการรวมกลุ่มของประชาชนด้วยวิธีการสหกรณ์ให้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 3.เพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบการผลิตการตลาดและการเงินของสหกรณ์ 4.สนับสนุนแผนพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์ 5.ปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานภาครัฐ ขบวนการสหกรณ์และปรับปรุงกฎหมายสหกรณ์ ให้เอื้อต่อการพัฒนา
วัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์วาระแห่งชาติด้านสหกรณ์ มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนในชาติรับรู้และเข้าใจการสหกรณ์ พร้อมทั้งนำไปใช้ในวิถีชีวิตและการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการขับเคลื่อนวาระสหกรณ์แห่งชาติ ระหว่างวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา โดยเชิญตัวแทนสหกรณ์ในเขตกรุงเทพมหานครกว่า 500 คน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 เข้าร่วมรับฟังแนวทาง เพื่อให้บุคลากรในขบวนการสหกรณ์เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกโฉมวงการสหกรณ์ไทยให้เกิดการพัฒนาที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปเป็นประธานในการประชุม
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเ ผยว่า ในแต่ละยุทธศาสตร์จะมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ นอกเหนือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ยังมีกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ สถาบันการศึกษา สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยและชุมนุมสหกรณ์ระดับประเทศ ตลอดจนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์วาระแห่งชาติด้านสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้ การจะส่งเสริมให้สหกรณ์ต่างๆ มีความเข้มแข็งได้นั้น ต้องมีการประสานงานกัน มีการขับเคลื่อนร่วมกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้น ในการจะขับเคลื่อนสหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ จะต้องมีการประชุมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน
ภายหลังจากที่มติครม.ว่าประกาศวาระแห่งชาติด้านสหกรณ์แล้ว ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นและมองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับระบบสหกรณ์ ว่าได้รับประโยชน์อะไรจากการประกาศวาระแห่งชาติ จึงต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนและเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งการจัดประชุมโครงการส่งเสริมการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านการสหกรณ์ในแต่ละครั้ง ต้องการที่จะมารับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมของแต่ละพื้นที่ และในวันที่ 15-17 มีนาคม 2556 จะมีการจัดสัมมนาครั้งใหญ่เรื่องวาระแห่งชาติ ด้านสหกรณ์ขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีสหกรณ์จังหวัดจากทั่วประเทศ ผู้ตรวจบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จากทุกจังหวัด คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติและคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสหกรณ์ มาร่วมประชุมกันเพื่อหารือถึงแนวทางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาขบวนการสหกรณ์ไทยร่วมกัน
“ระบบสหกรณ์นั้นนับว่ามีจุดแข็งกว่าบริษัทเอกชนหรือสถาบันการเงิน เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่บางแห่งมีเงินฝากถึง 10,000 ล้านบาท และสามารถอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นสหกรณ์ที่เข้มแข็งมารวมตัวกัน จะยิ่งส่งเสริมให้ระบบสหกรณ์มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ส่วนสหกรณ์ไหนที่ยังมีปัญหาหรือยังมีผลกำไรไม่มากนัก ก็ให้สหกรณ์ที่เข้มแข็งแล้วเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ หาทางแก้ไขในข้อบกพร่อง โดยการประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออก ส่วนสหกรณ์ภาคการเกษตรซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ละสหกรณ์นั้นมีสมาชิกมากมาย เราต้องเอาข้อนี้มาเป็นข้อได้เปรียบ แล้วพัฒนาสินค้าในแบรนด์ของสหกรณ์ขายให้กับสมาชิกสหกรณ์ เช่น ข้าวสาร นม น้ำมันพืช ผลไม้ ถ้าพวกเราช่วยกันซื้อช่วยกันใช้ สินค้าของสหกรณ์ก็จะขายได้ มีตลาดรองรับ ขอเพียงสมาชิกสหกรณ์มีความรักความภาคภูมิใจ ในองค์กรของตัวเอง ช่วยกันมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ในเรื่องต่าง ๆ ก็จะทำให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง องค์กรของเราก็จะประสบความสำเร็จได้ในที่สุด” นายยุทธพงศ์ กล่าว