เภสัช ม.อ. ค้นพบ ‘ใบชะมวง’ ออกฤทธิ์ต้าน ‘มะเร็ง’ครั้งแรกของโลก หวังต่อยอดพัฒนารักษาผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต

ข่าวทั่วไป Thursday February 28, 2013 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. เผยผลวิจัย พบสารชนิดใหม่ใน “ใบชะมวง” ออกฤทธิ์ต้านมะเร็ง ระบุนับเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก พร้อมตั้งชื่อว่า ‘ชะมวงโอน’ ระบุสามารถใช้เป็นสารต้นแบบที่นำไปพัฒนาโครงสร้างสู่ยาต้านมะเร็งในอนาคต รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ ผู้อำนวยการสถานวิจัยยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) (Assoc. Prof. Dr. Pharkphoom Panichayupakaranant, Director of Research in Pharmaceutical Biotechnology, Faculty of Pharmacy, Prince of Songkla University) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ นายอภิรักษ์ สกุลปักษ์ (Mr.Apilak Sakulpak) นักศึกษาทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยคุณสมบัติมีฤทธิ์ต้านมะเร็งและต้านแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหารจาก ‘ใบชะมวง’ ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก หลังจากใช้เวลาศึกษาค้นคว้านานกว่า 2 ปี ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Food Chemistry ซึ่งเป็นวารสารที่ได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการอย่างกว้างขวาง สำหรับการศึกษาวิจัยดังกล่าว ได้เก็บรวบรวมผักพื้นบ้านจำนวน 22 ชนิดมาทำการสกัดและทดสอบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในทางเดินอาหารหรือไม่ โดยพบว่า ชะมวงเป็นพืชที่ออกฤทธิ์ดีที่สุด จึงนำมาแยกสารที่ต้องการ จนสามารถได้สารซึ่งมีฤทธิ์ในระดับดีมาก เป็นสารที่มีค่าความเข้มข้นต่ำที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ หรือ MIC ประมาณ 7.8 ไมโครกรัมต่อมิลลิเมตร ซึ่งถือเป็นสารตัวใหม่ที่ยังไม่มีใครค้นพบมาก่อน โดยตั้งชื่อว่า ‘ชะมวงโอน’ (Chamuangone) เพื่อแสดงให้เห็นว่า เป็นการค้นพบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ ยังได้ทำการศึกษาต่อถึงความเป็นไปได้ในการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโปรโตรซัวร์ ซึ่งเป็นโรคระบาดที่เคยพบในภาคใต้โดยสารชะมวงโอนสามารถยับยั้งโปรโตซัวร์ Leishmania major ได้ดี จึงนำ ชะมวงโอนไปทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอดและเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว จนพบว่า สารชะมวงโอนมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งได้ดี “ความสำเร็จจากงานวิจัยที่ได้โครงสร้างใหม่ของสาร ที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งจากชะมวงโอนครั้งนี้ สามารถนำไปใช้ดัดแปลงพัฒนายาต้านมะเร็งที่ออกฤทธิ์ดีขึ้น และลดอาการข้างเคียงต่อเซลล์ปกติ แม้ว่าขั้นตอนการนำสารดังกล่าวไปใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ยังต้องมีกระบวนการศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายขั้นตอน เพื่อการรักษาที่ได้ผลมากขึ้นหรือลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา” รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.ภาคภูมิ กล่าว
แท็ก มะเร็ง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ