ก.ล.ต. หนุนบริษัทจดทะเบียนกำหนด “นิยามกรรมการอิสระ” ตามแนวสากล

ข่าวทั่วไป Tuesday December 7, 2004 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. แนะบริษัทจดทะเบียนให้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ในเรื่องนิยามกรรมการอิสระ และค่าตอบแทนกรรมการรายคน เพื่อ
ให้การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนเป็นไปตามมาตรฐานสากล และเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการ
ที่ดีตามหลักบรรษัทภิบาล
ตามที่ ก.ล.ต. มีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเร่งพัฒนาการบริหารจัดการที่ดี โดยให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลในรายงานประจำปี การเพิ่มจำนวนและความเป็นอิสระของกรรมการอิสระ รวมทั้งขอให้บริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งกำหนดลักษณะเฉพาะของการเป็น “กรรมการอิสระ” สำหรับบริษัทของตน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนว่า การบริหารงานของคณะกรรมการบริษัทจะเป็นไปด้วยความโปร่งใสเพื่อประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นโดยรวม นั้น
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ก.ล.ต. ได้ออกหนังสือเวียนแจ้งบริษัทจดทะเบียนทุกราย โดย ก.ล.ต. แนะนำและสนับสนุนว่า บริษัทจดทะเบียนรายใดเมื่อได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการที่ดี ก็ควรกำหนดลักษณะของการเป็น “กรรมการอิสระ” ของบริษัทที่เข้มงวดรัดกุมมากกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ ในการนี้ ก.ล.ต.ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ในตลาดทุนสากลเกี่ยวกับ “นิยามกรรมการอิสระ” เพื่อเป็นตัวอย่างให้บริษัทจดทะเบียนสามารถนำไปพิจารณาความเหมาะสมและปรับใช้ ดังนี้
สัดส่วนการถือหุ้น : แม้ว่าเกณฑ์ขั้นต่ำจะกำหนดไว้ว่า สัดส่วนการถือหุ้นของกรรมการอิสระจะต้อง ไม่เกิน 5% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง แต่หากเป็นบริษัทที่มีการกระจายหุ้นในวงกว้าง ก็อาจกำหนดสัดส่วนดังกล่าวให้น้อยกว่า 5% ได้
ความสัมพันธ์กับบริษัท : นอกเหนือจากการที่กรรมการอิสระต้องไม่มีความสัมพันธ์กับบริษัทในลักษณะมีส่วนร่วมในการบริหารงานแล้ว บริษัทอาจกำหนดเพิ่มเติมว่า ต้องไม่มีความสัมพันธ์กับบริษัทในลักษณะซึ่งครอบคลุมถึงการให้บริการวิชาชีพด้วย เช่น กรณีของผู้สอบบัญชี หรือ
ทนายความ เป็นต้น
ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ : บริษัทอาจกำหนดลักษณะของการเป็นกรรมการอิสระให้ชัดเจนถึงการไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท เช่น การเป็นลูกค้า ผู้จัดหาวัตถุดิบ เจ้าหนี้/ลูกหนี้เงินให้กู้ยืม โดยมีการกำหนดสัดส่วนมูลค่ารายการไว้ด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากตามหลักการบริหารจัดการที่ดี ผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้คัดเลือกและประเมินผลการดำเนินงานของกรรมการบริษัทเป็นรายคน ดังนั้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ ก.ล.ต. จึงส่งเสริมให้บริษัทเปิดเผยค่าตอบแทนกรรมการเป็นรายคน ในรายงานประจำปีด้วย
หมายเหตุ ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.
1. ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 82/2547 วันพุธที่ 27 ตุลาคม 2547
http://capital.sec.or.th/webapp/webnews/news.php?id=2&cboType=S&news_no=82&news_yy=2547&sdate=2004-10-27&edate หรือ
http://www.sec.or.th หัวข้อ “ข่าว”
2. หนังสือเวียน กลต.จ. (ว) ที่ 38/2547 เรื่อง บรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนไทย ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2547
http://capital.sec.or.th/webapp/nrs/data/3380s.pdf หรือ
http://www.sec.or.th หัวข้อ “การออกหลักทรัพย์” / “กฎหมายและประกาศ”
3. หนังสือเวียน กลต.จ. (ว) ที่ 59/2547 เรื่อง การกำหนดนิยามสำหรับกรรมการอิสระ ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2547
http://capital.sec.or.th/webapp/nrs/data/3400s.pdf หรือ
http://www.sec.or.th หัวข้อ “การออกหลักทรัพย์” / “กฎหมายและประกาศ”--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ