กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ “BBB+” จาก “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของมูลค่าโครงการในมือและผลประกอบการของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าภาระหนี้ของบริษัทจะปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 18 เดือนข้างหน้าจากการขายเงินลงทุนและความก้าวหน้าในเชิงบวกของโครงการเขื่อน
ไซยะบุรี ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรในระยะปานกลางให้อยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบัน นอกจากนี้ อัตราส่วนภาระหนี้ของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากกำไรจากการขายหุ้น TTW รวมทั้งการชำระคืนหนี้จากเงินสดที่ได้รับจากการขายเงินลงทุนและลูกหนี้โครงการไซยะบุรี
อันดับเครดิตของบริษัท ช. การช่างยังคงสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในโครงการก่อสร้างพื้นฐานและโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งประโยชน์ทางธุรกิจและความยืดหยุ่นทางการเงินจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากความผันผวนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดจนความเสี่ยงของสัญญาที่มีลักษณะต่อหน่วยแบบคงที่ (Fixed-price Contract) และภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูงของบริษัท
บริษัท ช. การช่างก่อตั้งในปี 2515 โดยตระกูลตรีวิศวเวทย์ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ 3 รายในตลาดหลักทรัพย์ของไทย และมีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างตั้งแต่งานโยธาโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงโครงการที่มีความซับซ้อนสูง บริษัทมีเงินลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) และ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) (TTW) นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อีก 2 ราย ได้แก่ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (CKP) และ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL)
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบมูลค่า 1.24 แสนล้านบาท เปรียบเทียบกับ 2.8 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2553-2554 มูลค่างานที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีซึ่งมีมูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท และโครงการทางพิเศษศรีรัช วงแหวนรอบนอกมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท โดยโครงการที่ยังไม่ส่งมอบมีความหลากหลายในระดับที่น่าพอใจ ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 53% ของมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด
สถานะทางการเงินโดยรวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในปี 2555 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยจะเป็นรายได้จากโครงการเขื่อนไซยะบุรีประมาณ 7-8 พันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ งานรับเหมาก่อสร้างในมือจำนวนมากที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของประมาณการรายได้พื้นฐาน นอกจากนี้ แนวโน้มที่ดีของงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากทางภาครัฐน่าจะเป็นปัจจัยช่วยเสริมอัตราการเติบโตของรายได้ให้แก่บริษัทในระยะปานกลางเช่นกัน
บริษัทมีอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) อยู่ที่ 5.9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 โครงการระหว่างก่อสร้างของบริษัทในปัจจุบันเป็นโครงการที่มีการลงนามในสัญญามาตั้งแต่ปี 2553 และบริษัทยังสามารถควบคุมต้นทุนได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรโดยเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 5% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ภาระหนี้ของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 18 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทคาดว่าจะได้รับเงินจำนวน 2.6 พันล้านบาทในปี 2556 จากการขายหุ้น TTW ให้แก่ BECL และคาดว่าจะได้รับเงินส่วนที่เหลืออีก 700 ล้านบาทในปี 2557-2558 นอกจากนี้ การขายหุ้น TTW ยังทำให้บริษัทสามารถเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีมูลค่าเงินลงทุนใน TTW เป็นวิธีสะท้อนมูลค่าตลาดจากวิธีส่วนได้เสีย โดยหากคำนวณด้วยราคาหุ้น TTW ที่ 8.8 บาทต่อหุ้นแล้ว บริษัทจะมีกำไรจากรายการขายหุ้นดังกล่าวประมาณ 7 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าลูกหนี้ที่ยังไม่ได้เรียกชำระของบริษัทจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการที่ XPCL จะเร่งเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนและเบิกเงินกู้เพื่อชำระคืนต้นทุนก่อสร้างที่บริษัทลงทุนไปล่วงหน้า ต้นทุนก่อสร้างล่วงหน้าดังกล่าวทำให้ลูกหนี้ที่ยังไม่ได้เรียกชำระของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.8 พันล้านบาทในปี 2552 เป็น 1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 78.4% และอัตราส่วนเงินกู้รวมหักด้วยเงินสดต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.6 เท่า ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของ
ทริสเรทติ้ง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่า 60% ในระยะปานกลาง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันแม้ว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้รับเหมาที่ได้รับอันดับเครดิตเท่ากัน เนื่องจากโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทที่เป็นทั้งผู้รับเหมาและประกอบธุรกิจลงทุน
บริษัทมีสภาพคล่องในระดับที่ยอมรับได้ ในช่วงปี 2556-2558 เงินทุนจากกการดำเนินงาน (ไม่รวมกำไรจากการขายเงินลงทุน) ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1.2 พันล้านบาทต่อปี บริษัทมีแผนเพิ่มทุนใน XPCL ประมาณ 800-1,000 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 500-1,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 เงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทมีมูลค่ายุติธรรมที่ 1.46 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 51% ของภาระหนี้รวมของบริษัทที่ 2.86 หมื่นล้านบาท และ ณ สิ้นปี 2555 มูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนก็ปรับสูงขึ้นเป็น 1.75 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้นอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท และมีหนี้ระยะยาวที่จะถึงกำหนดชำระใน 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 5.4 พันล้านบาท
บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CK13OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 BBB+
CK142A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 883.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 BBB+
CK143A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 BBB+
CK154A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+
CK167A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB+
CK174A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB+
CK187A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable