บีโอไอปรับร่างยุทธศาสตร์ใหม่ หลังฟังเสียงนักลงทุน 5 สัมมนา เล็งปรับสิทธิประโยชน์แทนเลิกส่งเสริม — เตรียมคลอดนโยบายพิเศษช่วยเอสเอ็มอีไทย

ข่าวทั่วไป Friday March 1, 2013 10:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--บีโอไอ บีโอไอเตรียมเสนอร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้บอร์ดบีโอไอพิจารณากลางเดือนมีนาคมนี้ หลังรับฟังความเห็นจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติจากการจัดสัมมนาทุกภูมิภาค 5 ครั้ง ย้ำกระตุ้นให้ลงทุนเพิ่มด้านวิจัยพัฒนา หรือสนับสนุนกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมทบทวนร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นภายหลังจากที่บีโอไอ ได้รับทราบความเห็นของนักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้าร่วมงานสัมมนา 5 ครั้ง ว่า บีโอไอได้นำความเห็นของนักลงทุนจากงานสัมมนามาพิจารณาเพิ่มเติม รวมถึงนำความเห็นสำคัญหลายประเด็นมาปรับใช้สำหรับการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอพิจารณาเบื้องต้นช่วงกลางเดือนมีนาคม 2556 ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอ จะยังคงเน้นให้ความสำคัญกับการลงทุนสำหรับกิจการที่มีการลงทุนเพิ่มด้านการวิจัยและพัฒนา การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยกิจการที่ดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานตามยุทธศาสตร์ใหม่แล้ว ยังสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มตามคุณค่าของโครงการ (Merit) เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนด้านนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย เช่น โครงการ ก.ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี แต่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มอีก 1-3 ปี ตามสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น “ข้อเสนอของภาคเอกชนที่ได้จากการสัมมนานับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไออย่างมาก ซึ่งบีโอไอได้นำข้อเสนอต่างๆ มาพิจารณาเพื่อให้เกิดความรอบคอบอีกครั้ง ก่อนที่จะสรุปและประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ต่อไป โดยในที่สุดแล้วอาจต้องมีการปรับเงื่อนไขต่างๆ หรือปรับประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น กรณีกิจการบางประเภทที่ยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่การผลิต หรือกิจการที่ลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ เป็นต้น” นายอุดม กล่าว นายอุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการส่งเสริมกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นข้อกังวลของหลายฝ่ายนั้น บีโอไอยืนยันถึงการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างพิจารณาออกนโยบายพิเศษเพื่อส่งเสริมกิจการเอสเอ็มอีไทย รวมทั้งนโยบายพิเศษที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ห่างไกล ทดแทนการยกเลิกเขตส่งเสริม รวมถึงการพิจารณาขอบเขตเรื่องระยะเวลาที่มีความเหมาะสม เพื่อให้นักลงทุนสามารถปรับตัวและมีความพร้อมก่อนยุทธศาสตร์ใหม่มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้แนวทางการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอ มิได้ปรับเปลี่ยนเฉพาะเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมเท่านั้น แต่จะปรับปรุงบทบาทขององค์กร เพื่อให้สามารถดูแลและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของประเทศให้เอื้อต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาระบบการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน การสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจ การสร้างความพร้อมของปัจจัยสนับสนุนการลงทุน การป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักลงทุน รวมทั้งการเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ